ตุ้มปลายอน พรานปลาแห่งลุ่มแม่น้ำมูล กับวิถีที่แปรเปลี่ยนหลังสร้างเขื่อนปากมูล

ศิลปะงานช่างที่เป็นภูมิปัญญาสร้างสรรค์ด้านศิลปหัตถกรรมโดยเฉพาะงานจักสานไม้ไผ่ที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัย 4 ของวิถีชีวิต ผู้คนในท้องถิ่นอีสานมีงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการยังชีพดังเช่นเครื่องมือดักจับปลาที่เรียกว่า “ตุ้มปลายอน” (ภาคกลางเรียกลอบตั้งปลาสังกะวาด) ซึ่งชื่อนี้ในวัฒนธรรมอื่น ๆ “ตุ้ม” หมายถึงเครื่องมือดักจับสัตว์ที่ใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลัก รูปคล้ายข้อง มีงาแซงอยู่ข้าง เรียกตุ้ม ซึ่งมีหลายชนิด หากสานตาห่างใช้ดักกบ เรียกตุ้มกบ ชนิดตาถี่ใช้ดักปลาเล็ก เรียกตุ้มลาน ถ้าขนาดใหญ่และยาว โดยเฉพาะที่มีรองรับปลาที่ก้นลี้ เรียก ตุ้มต่งปลา หรือตุ้มก่องปลาก็เรียก

แต่สำหรับตุ้มปลายอนแห่งลุ่มน้ำมูลที่บ้านค้อใต้ บ้านท่าแพ และตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวได้ว่ามีความโดดเด่นมีเอกลักษณ์ด้วยขนาดรูปทรงที่ใหญ่โต เป็นภาพสะท้อนแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของปลาในระบบนิเวศน์ของที่นี่ก่อนจะมีการสร้างเขื่อน โดยทั้งนี้ยังมีเครื่องมือที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแต่มีชื่อเรียกที่ต่างออกไป เช่น ในแถบลุ่มแม่น้ำสงครามเรียกว่า โทง หรือโทงปลายอน ก็เรียก นอกจากนี้ยังมีโทงปลาซิว และโทงปลาตะเพียนทอง ซึ่งมีขนาดสัดส่วนลดหลั่นตามขนาดความจุของปลา

ตุ้มปลายอน วาดโดย ติ๊ก แสนบุญ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2550)

เอกลักษณ์และรูปแบบของตุ้มปลายอน (โดยเฉพาะในแถบลุ่มน้ำมูลตอนปลาย) มีขนาดความยาวไม่ต่ำกว่า 5-12 เมตร มีความกว้างประมาณ 1-2 เมตร โดยขนาดเล็กสุดความกว้างประมาณ 1 เมตร และยาว 2 เมตร ตุ้มชนิดนี้นิยมใช้ดักจับปลาในพื้นที่น้ำลึกตั้งแต่ 6-10 เมตร อีกทั้งบริเวณ วัง เวิน ขุมที่เป็นแอ่งน้ำกว้าง ที่ไม่ใช่บริเวณน้ำเชี่ยว โดยจะวางตุ้มอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมของทุกปี โดยหลังจากนี้จะไม่ค่อยมีปลามาก

ด้านรูปแบบและองค์ประกอบทางโครงสร้างของตุ้มปลายอนแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ “ตัวตุ้ม” สานจากไม้ไผ่บ้านซึ่งอายุตั้งแต่ 3-5 ปี “งากลม” ทำหน้าที่ควบคุมการเข้าออกของปลาอยู่บริเวณก้นตุ้ม “กง” ทำจากไม้ไผ่ซางไพร 6 ต้น โดยผูกติดกับตัวตุ้ม ใช้ป้องกันตัวตุ้ม และ “คันต้อ, สายต้อ, ฝาต้อ” ทำหน้าที่ปิดปากทางเข้าออกของตุ้ม

ลักษณะการใช้งาน การวางตุ้มในลักษณะน้ำลึกที่ต่างกัน อยู่ที่ขนาดความสูงของตุ้ม โดยก้นตุ้มต้องอยู่ห่างผิวดินใต้น้ำประมาณ 50 เซนติเมตร และปากตุ้มจะอยู่เหนือผิวน้ำด้านบน 34 เซนติเมตร โดยต้องมีเสาไม้ไผ่ 5-6 ลำ ทำเป็นเสาหลักปักยึดโครงสร้างตุ้มให้มั่นคงแข็งแรง เมื่อนำตุ้มลงน้ำส่วนของ “งา” จะเปิดออกด้วยเส้นเชือกที่ผูกโยงจากฐานขึ้นไปสู่ปลายเชือกที่ร้อยไว้ เป็นสัญญาณแสดงว่าปลาเข้าตุ้ม

เหยื่อ นิยมเอาปลายข้าวต้มสุก ซึ่งต้องทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำมาผสมกับน้ำเหยื่อดองหรือกากเหล้าสาโท ไข่เน่า ปูดอง และน้ำจากไส้ไก่หมัก นำส่วนผสมทั้งหมดมานวดให้เหนียวแล้วปั้นขนาดเท่ากำมือ 4-5 ลูกต่อตุ้ม 1 หลัง ซึ่งตุ้มปลายอน 1 หลัง จะสามารถดักจับปลายอนได้ตั้งแต่ 5-160 กิโลกรัม

ด้านอายุการใช้งานของตุ้มอยู่ระหว่าง 2-3 เดือน ก็ต้องทำขึ้นใหม่ซึ่งต้องใช้คนทำหลายคน ปกติจะใช้เวลาการทำตุ้มปลายอนระหว่าง 3-4 วัน ทั้งนี้หลังการใช้งานในแต่ละครั้งต้องทำความสะอาดอย่างดีห้ามไม่ให้มีปลาตายหรือตะไคร่น้ำติดอยู่หรือตกค้าง เพราะจะทำให้ปลาไม่เข้าตุ้ม

ช่วงเวลาปฏิบัติการในการดักจับปลาจะเป็นช่วงเวลา 06.00-07.00 น. โดยจะลงหลักและถอนขึ้นในเวลา 03.00-05.00 น. ของเช้าวันใหม่ เพื่อให้ทันต่อการนำปลาไปส่งตลาดตอนเช้า พรานปลากล่าวว่า ปลายอนเป็นปลาชนิดเดียวที่เข้าตุ้ม ส่วนปลาผอ ปลาผื่อ หรือปลาชนิดอื่น ๆ จะใช้เบ็ดตกปลาแต่ยังมีลาน หรือเบ็ดราว เครื่องมือเหล่านี้ไว้ใช้ในกรณีน้ำริมมูลลด

ตุ้มปลายอน วาดโดย ติ๊ก แสนบุญ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2550)

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิถีชีวิตชาวบ้านที่นี่ ด้วยเหตุผลที่ว่าชาวบ้านต้องเสียสละเพื่อความสุขมวลรวมของคนกลุ่มใหญ่ นับเป็นการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรระหว่างคนนอก (อำนาจรัฐ) กับชาวบ้านที่เป็นผู้อาศัยเกื้อกูลทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อการยังชีพ “การประท้วงต่อต้าน” ครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ก่อนก่อสร้างจนถึงสร้างเสร็จ สุดท้ายก็เหมือนละครน้ำเน่าหลังข่าวที่เราท่านคุ้นเคย ด้วยระบบทุนนิยม สามานย์ ที่นิยามความเจริญเพียงแค่ระบบซื้อสร้าง มากกว่าการรักษาดุลยภาพของชีวิตในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ

ดังนั้น “ตุ้มปลายอน” คือบทบันทึกหนึ่งของภูมิปัญญาสร้างสรรค์ของชาวบ้านที่นี่และคงจะกลายเป็นอดีตไปในที่สุด อย่างดีก็คงถูกบันทึกเก็บรักษาไว้ตามพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรืองานวิจัยเชิงอนุรักษ์ และมาวันนี้ “ตุ้มปลายอน” ได้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมชิ้นหนึ่ง โดยถูกนำไปแสดงทั้งในและต่างประเทศ แม้จะมีหลายองค์กรเข้ามาให้ความช่วยเหลือทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ตุ้มปลายอนและวิถีพรานปลาแห่งลุ่มแม่น้ำมูล คือบทบันทึกหนึ่งอันรุ่งโรจน์ของอดีต การแก้ไขเยียวยาที่ดีที่สุดก็คือ “เอาเขื่อนออกไป” เมื่อนั้นดุลยภาพของวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำมูลก็จะกลับมา แต่นี้คือเสียงของคนเล็ก ๆ เท่านั้น…

ตุ้มปลายอนที่จับปลาได้เพียง 2-3 กิโลกรัม จะมีความหมายอย่างไร และพวกเขาจะทำตุ้มปลายอนทำไมให้เมื่อยตุ้ม…?!

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ตุ้มปลายอน… วิถีพรานปลา…เขื่อนปากมูล…!” เขียนโดย ติ๊ก แสนบุญ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2550

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ