คุ-แอ่ว เครื่องจักสานขนาดใหญ่ ของเกษตรกรล้านนา

คุ เครื่องจักสานที่ใช้ในฤดูเก็บเกี่ยวของเกษตรกรภาคเหนือ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม เดือนกันยายน 2541)

เครื่องจักสานเป็นหัตถกรรมเก่าแก่อย่างหนึ่ง เชื่อกันว่า มนุษย์รู้จักทำเครื่องจักสานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะได้พบร่องรอยของเครื่องจักสานบนภาชนะดินเผาก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นภาชนะเล็กๆ ปากกลม ก้นสี่เหลี่ยม (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานพระนคร กรุงเทพมหานคร) และภาชนะดินเผาทรงกระบอกจากแหล่งโบราณคดีในจังหวัดลพบุรี (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี)

รอยของเครื่องจักสานที่ปรากฏบนภาชนะดินเผาทั้งสองชิ้น เป็นหลักฐานแสดงว่ามนุษย์รู้จักทำเครื่องจักสานประเภทภาชนะขึ้นใช้แล้ว จึงใช้ภาชนะจักสานนั้นเป็นแม่แบบในการทำเครื่องปั้นดินเผา โดยใช้ดินเหนียวยาไล้ลงในภาชนะจักสาน เมื่อดินแห้งแล้วนำไปเผาไฟ ไฟจะไหม้ภาชนะจักสานที่เป็นแม่แบบเหลือภาชนะดินเผาที่มีรูปทรงตามแม่แบบจักสาน แสดงว่ามนุษย์รู้จักทำเครื่องจักสานก่อนการทำภาชนะดินเผา

การทำภาชนะจักสานยุคแรก มนุษย์อาจจะใช้เถาวัลย์ หวาย หรือต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นเถาสานเป็นภาชนะทรงกระบอกหรือรูปมะนาวตัดอย่างง่ายๆ ต่อเมื่อมนุษย์นำไม้ไผ่มาจักเป็นตอก (ตอก น. ไม้ไผ่ที่จักบางๆ สำหรับผูกมัดหรือสานสิ่งต่างๆ) จึงช่วยให้ภาชนะจักสานมีรูปทรง ขนาด และใช้ประโยชน์ได้ตามต้องการและสนองการใช้สอยของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น

เครื่องจักสานไม้ไผ่เป็นเครื่องจักสานที่ทำกันแพร่หลายที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ เฉพาะในประเทศไทยนั้นมีการทำเครื่องจักสานกันทุกภาค เพราะไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย และนำมาสานเป็นเครื่องใช้ต่างๆ หลายชนิด ตั้งแต่เครื่องจับและดักสัตว์น้ำ เครื่องใช้ในครัวเรือน และภาชนะต่างๆ เช่น กระบุง กระจาด เข่ง ตะกร้า และคุ ซึ่งเป็นเครื่องจักสานที่มีขนาดใหญ่มาก อาจจะเป็นเครื่องจักสานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

“คุ” ภาชนะสำหรับตีข้าวหรือนวดข้าวของชาวล้านนามีขั้นตอนการสานรูปทรงต่างไปจากเครื่องจักสานอื่นๆ และที่สำคัญเป็นเครื่องจักสานขนาดใหญ่ที่ต้องใช้คนสานมากกว่าหนึ่งคนจึงจะสานได้สำเร็จ

คุ รูปร่างคล้ายกระจาดขนาดใหญ่ ปากกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เมตร สูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร ภาชนะจักสานที่ใช้ตีข้าวของล้านนามีสองแบบคือ “คุ” และ “แอ่ว” คุ นิยมใช้ในบริเวณจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ แอ่ว นิยมใช้ในจังหวัดลำปาง คุ ปากกลม ก้นสอบ แอ่ว ปากกลม ก้นสอบเป็นสี่เหลี่ยม แม้ทั้งคุและแอ่วจะสานด้วยตอกไม้ไผ่เช่นเดียวกันก็ตาม แต่วิธีการสานแตกต่างกัน การสานคุจะต้องสานในหลุมดินที่ขุดเป็นแม่แบบไว้ ในขณะที่แอ่วสานบนดิน แต่ใช้ตั้งเสาไม้เป็นกรอบบังคับให้แอ่วมีรูปทรงตามต้องการ

การสานคุมีวิธีการที่แยบยลน่าสนใจอย่างยิ่ง ตั้งแต่การขุดดินให้เป็นหลุมขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นแม่แบบ หลุมดินนี้จะต้องปรับรูปร่างและผนังของหลุมดินให้เรียบและมีขนาดตามต้องการ การใช้หลุมดินเป็นแม่แบบแสดงให้เห็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ใช้เทคโนโลยีพื้นบ้านที่เรียบง่าย ได้ประโยชน์สมบูรณ์ที่สุด รูปร่างของหลุมคือ ปากกลม ก้นสอบลึกลงไป ส่วนที่เป็นก้นหลุมหรือ “หมง” นูนขึ้นมา

เมื่อตกแต่งหลุมดินแม่แบบเรียบร้อยแล้ว ช่างจะต้องจักตอกขนาดใหญ่ และยาว ตามขนาดของคุที่ต้องการจะสาน ไม้ไผ่ที่ใช้สานคุมักใช้ไม้ไผ่สีสุกที่มีเนื้อหนาและจักเป็นเส้นได้ง่าย ตอกสำหรับสานๆ จะมีขนาดใหญ่และหนาเพื่อให้รับน้ำหนักของส่วนประกอบของคุให้คงรูปอยู่ได้ ตอกสานๆจะต้องเป็นตอกปื้นหัวท้ายเรียวเรียกว่า “เถว” (คุ 1 ลูกใช้ตอกประมาณ 350 เส้น) เพื่อให้ตอกขยับตัวได้เมื่อสานเป็นแผ่นแล้ว โดยใช้ไม้ตอกให้ตอกกระชับ ปลายตอกที่เรียวทั้งสองข้างจะช่วยให้เส้นตอกชิดกันแนบกับหลุม มีรูปร่างตามรูปหลุม

การสานคุจะต้องเริ่มสานจากตรงกลางแล้วขยายออกเป็นแผ่น ลายที่ใช้สานคุเป็นลายขัดที่ใช้ตอกคู่กันสองเส้น ชาวบ้านเรียก “ลายจำ” สานให้ผิวตอกอยู่ด้านใน เมื่อสานเป็นแผ่นแล้วรมควันไฟให้ตอกอ่อนตัวแล้ววางลงไปในหลุม ใช้สากหรือท่อนไม้กระทุ้ง โดยใช้คนประมาณ 4-5 คนช่วยกันกระทั่งวนไปรอบๆ ชาวบ้านเรียกว่า “รำวง”

เมื่อรำวงหรือกระทุ้งจนแผ่นดอกแนบกับหลุมพอเป็นรูปร่างคุแล้ว จะต้องใช้ค้อนไม้และลิ่มไม้ดอกไล่เส้นตอกทีละเส้นๆ ให้ชิดกันจากก้นหลุมขึ้นมาจนถึงปาก เมื่อสานเสร็จแล้วชาวบ้านจะใช้เครื่องมือที่มีรูปร่างคล้ายวงเวียนขนาดใหญ่ขีดรอบปากให้ได้ระดับ แล้วใช้ขวานคมๆ สับตามแนวที่ขีดไว้ให้ตอกเสมอกัน จากนั้นยกขึ้นจากหลุมเพื่อเข้าขอบ การเข้าขอบคุจะต้องใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นซีกเหลาให้เรียบประกบปาก แล้วผูกด้วยหวายให้แน่น จากนั้นใช้ไม้มะทันขอหรือไม้พุทราหนามเสริมขอบให้มั่นคงอีกชั้นหนึ่ง

การเข้าขอบคุต้องใช้ไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับคีมหนีบให้ไม้ขอบปากแนบกับปากคุก่อนแล้วจึงผูกด้วยหวาย จากนั้นจึงใช้พุทราหนาเสริมใต้อขบอปาก โดยเจาะรูแล้วร้อยหวายผูกให้แน่น ขอบจะช่วยเสริมให้คุแข็งแรงมั่นคงใช้ได้คงทน เมื่อสานคุเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนำไปคว่ำรมควันเพื่เป้องกันมอดและแมลง คุเป็นภาชนะจักสานที่ใช้เฉพาะฤดูเก็บเกี่ยวเท่านั้น หากเก็บรักษาให้ดีแล้วจะใช้ได้หลายปี

เครื่องจักสานขนาดใหญ่สำหรับตีข้าวอีกอย่างหนึ่งคือ “แอ่ว” ซึ่งนิยมใช้กันในบริเวณจังหวัดลำปาง การสานแอ่วต่างจากการสานคุคือไม่ต้องมีแบบหรือหลุมดิน แต่จะสานบนดิน ตอกสำหรับสานแอ่วมีสองขนาด ขนาดใหญ่ใช้สานก้น และเป็นเส้นตั้งของแอ่ว ตอกเส้นเล็กใช้สานเป็นเส้นนอนหรือใช้เป็นตอกเวียน ช่างจักสานจะสานส่วนก้นของแอ่วเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้วยลายอำ จากนั้นยกมุมทั้งสี่ขึ้น ช่างมักใช้แผ่นไม้ตอกยึดตามแนวก้นทั้งสี่ด้านให้แนบกับพื้น เพื่อให้สานด้านข้างแอ่วและยกมุมได้สะดวก

การสานด้านข้างแอ่ว จะต้องยกตอกพาดกับไม้ที่พาดเป็นราวไว้ทั้งสี่ด้าน แล้วสานด้วยลายไพสามเวียนไปทีละด้านๆ สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ราวไม้ที่มัดกับหลักไม้ซึ่งปักไว้สี่มุมนี้จะต้องเลื่อนสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามแนวการสาน ราวไม้เป็นเครื่องบังคับให้ช่างสามารถสานแอ่วให้เป็นรูปเป็นร่างทีละน้อยๆ โดยมีราวไม้เป็นแบบบังคับแอ่วให้มีรูปร่างตามต้องการคือ ปากกลมแล้วสอบลงเป็นสี่เหลี่ยม ก้นเรียบไม่นูนอย่างคุ แอ่วจะต้องเข้าขอบด้วยไม้ไผ่ให้แข็งแรงเช่นเดียวกัน

คุและแอ่วเป็นเครื่องจักสานขนาดใหญ่ที่สานได้ไม่ง่ายนัก ดังเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ชาวบ้านจึงมักเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี อาจจะแขวนคว่ำปากลงไว้ใต้ถุนบ้านหรือเก็บบนยุ้งข้าวหรือหลองข้าว เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะนำออกมาใช้ คุและแอ่วใบหนึ่งอาจใช้งานได้หลายปี

การนวดข้าวของชาวล้านนาแต่เดิมมีอยู่ 3 วิธีคือ ตีตะรางหรือตีต๋าราง คือการตีหรือนวดข้าวบนลานดิน ตีแคร่ คือการนวดข้าวโดยการตีข้าวลงบนแคร่ และตีคุซึ่งเป็นการตีหรือฟาดรวงข้าวลงในคุหรือแอ่ว ซึ่งเป็นการนำภาชนะไปตีข้าวที่นาแทนการนำข้าวเข้ามานวดที่ลานนวดข้าวอย่างภาคกลาง คุและแอ่วจึงเป็นภาชนะจักสานที่จำเป็นอย่างหนึ่งของชาวนาในภาคเหนือ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2565