ก่อนเป็น “นางมณโฑ” แสนสวย ชาติที่แล้วเป็น “กบ”

นางมณโฑ เป็น กบ ฤาษี พิษนาค
นางมณโฑแต่เดิมมีชาติกำเนิดมาจากสัตว์ นางเป็นกบ ภาพนี้จะเห็นนางกบสละชีวิตของนาง โดยกระโดดลงบ่อน้ำนมที่นางนาคอนงค์มาคายพิษไว้ เพื่อไม่ให้เหล่าฤาษีได้รับพิษนาค (จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ภายในระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

นางมณโฑ แต่เดิมมีชาติกำเนิดมาจากสัตว์ นางเป็น “กบ” ที่ถูกฤๅษีอตันตา วชิรา วิสูต และมหาโรมสิงค์ชุบชีวิตให้กลายร่างเป็นสาวงาม ชีวิตของนางมณโฑในสถานภาพที่เป็นสัตว์มีความเคารพรักฤๅษีทั้งสี่อย่างมาก นางกบได้ดื่มนมเป็นอาหารทุกเช้าจากฤๅษี ทำให้นางกบมีความใกล้ชิดกับฤๅษี ถึงขนาดยอมเสี่ยงภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับฤๅษี และมูลเหตุที่เปลี่ยนชีวิตของนางกบก็คือการแสดงความกตัญญูตอบแทนฤๅษี เมื่อมีผู้ประสงค์ร้ายจะทำลายชีวิตของฤๅษีทั้งสี่

เรื่องมีอยู่ว่า ในครั้งนั้นนางอนงค์ซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นนาค บุตรีของพญากาลนาคเกิดความรัญจวนใจด้วยความกำหนัดในรสรัก จึงชำแรกพื้นดินขึ้นมาเพื่อที่จะหาคู่ นางนาคอนงค์ได้กลายร่างเป็นสาวน้อยงดงาม “บัดเดี๋ยวเป็นนางสาวน้อย แช่มช้อยดั่งเทพเลขา” สอดส่ายสายตาแสวงหาคู่ครอง “นัยน์เนตรแลลอดสอดไป ด้วยใจจะแสวงหาชาย”

เนื้อเรื่องดำเนินต่อมาว่านางนาคอนงค์ไม่พบชายคนใดเลย ทำให้อารมณ์ความรู้สึกของนางทวีความรู้สึกที่ว่า “เพลิงราคร้อนรุ่มกลุ้มกาย” แต่สิ่งที่ทดแทนความเร่าร้อนในเพลิงรักได้ก็คือ ภาพที่นางเห็นงูดินตัวผู้ ความดีใจทำให้นางกลายร่างเป็นนาคตามชาติเดิม “จึงเห็นงูดินตัวผู้ เลื้อยอยู่ที่ริมทางใหญ่ สุดที่จะกลั้นกำหนัดไว้ ดีใจก็คืนเป็นนาคา” การสมสู่กับงูดินเพศผู้จึงเป็นการดับความกระหายในความกำหนัดของนางนาคอนงค์ลงได้บ้าง

กระนั้นก็ตามการสมสู่ระหว่างนางนาคอนงค์กับงูดินก็ไม่อาจรอดพ้นสายตาของฤๅษีทั้งสี่ไปได้ ความเคลือบแคลงและคำถามที่เกิดขึ้นในใจของฤๅษีนั่นก็คือ “เหตุไรวิสัยนาคินทร์ มายินดีด้วยชาติอันต่ำพงศ์” ทั้งนี้เพราะสถานะของนาคกับงูดินนั้นต่างกันมาก เปรียบเหมือนชาติกากับหงส์ การสมสู่ที่ดูผิดฝาผิดตัวของนาคและงูดินจึงดูไม่เหมาะสมกับชาติกำเนิด “ไม่คิดสงวนศักดิ์รักตัว กลั้วกาให้เสียเผ่าพงศ์ เสียดายตระกูลประยูรวงศ์ มาหลงคบชู้ที่กลางทาง”

ภาพอันน่าบัดสีจากการสมสู่ที่ดูต่ำช้าดังกล่าว ทำให้ฤๅษีทั้งสี่ทนดูไม่ได้ จึงคิดที่จะแยกนาคและงูที่เกี่ยวกระหวัดรัดกันให้แยกออกจากกัน “คิดแล้วเอาไม้เท้าเคาะ เบาะลงที่ตรงขนดหาง เห็นกระสันพันกันไม่ละวาง จึงเคาะซ้ำลงกลางกายา” เมื่อนางนาครู้สึกตัวจึงเกิดความละอายใจ รีบหนีกลับไปยังพิภพบาดาลของนาง

เนื้อเรื่องนางนาคอนงค์สมสู่กับงูดินนี้ เป็นการดำเนินเรื่องที่เชื่อมโยงกับชีวิตของนางกบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นปมความขัดแย้งที่เปลี่ยนชีวิตนางกบในเวลาต่อมา จะเห็นว่าความอับอายที่เกิดขึ้นกับนางนาคอนงค์จนแทรกแผ่นดินหนี ทำให้นางเกิดความอาฆาตฤๅษีทั้งสี่จนถึงขนาดจะฆ่าเสีย “จำจะฆ่าเสียให้บรรลัย คิดแล้วขึ้นไปยังกุฎี” เพื่อไม่ให้ความอายที่นางก่อขึ้นล่วงรู้ไปถึงพญานาคผู้เป็นบิดา

เมื่อนางนาคอนงค์มายังอาศรมของนักพรต “เห็นอ่างน้ำนมพระฤๅษี” จึงไม่รีรอ “คายพิษลงไว้ทันที” ดังนั้นระหว่างความเป็นและความตายที่จะเกิดกับฤๅษีทั้งสี่ในเวลาไม่ช้า ปรากฏว่านางกบได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด “เป็นไฉนนางนาคนี้ใจบาป หยาบคายทุจริตอิจฉา จะฆ่าชีวิตพระสิทธา อันมีเมตตาตบะญาณ” ด้วยความจงรักภักดีของนางกบจึงสู้สละชีวิตของนางเพื่อรับพิษนาคไว้ โดยกระโดดลงสู่บ่อน้ำนม น่าสังเกตด้วยว่าการสละชีวิตของนางกบเป็นการตั้งความหวังไว้ว่า การตายของนางซึ่งเป็นการตอบแทนผู้มีพระคุณนี้ จะผลักดันให้นางกบได้เกิดเป็นมนุษย์ในชาติต่อมา “เดชะความสัตย์อันล้ำเลิศ ให้เกิดเป็นมนุษย์ในชาติใหม่ คิดแล้วโจนลงด้วยว่องไว ก็ขาดใจด้วยพิษนาคา”

ฝ่ายพระฤๅษีตามปกติจะฉันน้ำนมที่แม่โคนำมาหยดลงใส่อ่างอยู่เป็นประจำ แต่ในครั้งนี้อ่างน้ำนมมีนางกบตายลอยอืดอยู่ ก็คิดรังเกียจฉันไม่ลง พาลโมโหความโลภของนางกบขึ้นมาทันที “เห็นมณฑกตกม้วยชีวัน พระนักธรรม์ก็คิดรังเกียจไป กบนี้มันชาติเดียรฉาน โลภอาหารล้นพ้นวิสัย” แต่ด้วยความเมตตาที่มีอยู่ในวิสัยของฤๅษี จึงบันดาลด้วยอำนาจฤทธิ์ช่วยชีวิตนางกบให้ฟื้นคืนมา แล้วได้ทราบความจริงจากนางกบว่านางนาคมาคายพิษใส่อ่างน้ำนม นางสู้สละชีวิตเพื่อไม่ให้เหล่าฤๅษีได้รับพิษนาค การกระทำอันน่ายกย่องของนางกบได้เปลี่ยนทัศนคติของฤๅษีทั้งสี่ จากเดิมที่มองภาพนางกบ “นี้สาธารณ์” แต่เมื่อรู้ความจริงทั้งหมด ฤๅษีทั้งสี่จึงตอบแทนความดีของนางกบ โดยชุบชีวิตให้กลายเป็นหญิงสาว นี่คือรางวัลที่นางกบสมควรจะได้รับ คือการรื้อตัวตนจากสัตว์เดรัจฉานสู่ความเป็นมนุษย์ที่ถูกชุบขึ้นมา

พิธีกรรมเปลี่ยนร่างของนาง “มณโฑ” (จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ภายในพระระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

พิธีกรรมเปลี่ยนร่างของนางกบเป็นหญิงงามนี้ เป็นการนำเอาสิ่งที่งดงามทั้งหลายมาผสมผสานให้รวมเป็นหนึ่งเดียว “จะจัดสิ่งที่งามประสมใส่ ให้สิ้นโฉมนางฟ้าสุราลัย เลิศล้ำกว่าไตรโลกา” ฤๅษีทั้งสี่ดำเนินพิธีตามคัมภีร์พระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ เอาร่างนางกบใส่กองเพลิงที่ลุกโชติช่วง ด้วยฤทธิ์มนตรา “เกิดเป็นกัลยาวิลาวัลย์ งามวิจิตรพิศพรรณขวัญตา”

ตัวบทละครรามเกียรติ์ตอนนี้บรรยายร่างใหม่ของนางกบที่เปลี่ยนเป็นหญิงสาวมีความงดงามล้ำเลิศ “ด้วยทรงลักษณ์วิไลไพจิตร ใครเห็นเป็นที่เพ่งพิศ ทั้งไตรภพจบทิศไม่เทียมกัน” พร้อมกันนั้น ฤๅษีทั้งสี่ก็คิดตั้งนามให้กับสาวงามที่ชุบขึ้นมา โดยตั้งชื่อตามชาติกำเนิดของนาง “จึ่งให้นามตามชาตินงคราญ ชื่อมณโฑเยาวมาลย์มารศรี” นางมณโฑจึงเป็นชื่อใหม่ของหญิงงามที่ไม่มีใครจะเปรียบได้ จากนางกบนับว่าชีวิตของนางพลิกผันเปลี่ยนสถานภาพเป็นสตรีรูปงาม การแสดงความกตัญญูของนางกบที่แลกกับชีวิตก็นับว่าคุ้มค่ากับการถือชาติกำเนิดใหม่

เรื่องราวในภาคชีวิตของ นางมณโฑ ในชาติกำเนิดเป็นนางกบ กวีผู้แต่งบทละครรามเกียรติ์สร้างตัวละครคู่เปรียบที่เป็นสัตว์ไว้อย่างชัดเจน คือ นางนาคอนงค์กับนางกบ ฝ่ายหนึ่งมีชาติกำเนิดที่สูง มีศักดิ์และสถานะเป็นถึงบุตรีของพญานาคใต้บาดาล อีกฝ่ายหนึ่งมีชาติกำเนิดที่ดูต่ำกว่า ไม่มีอำนาจใดๆ พฤติกรรมของสัตว์ทั้งสองจึงต่างกันมาก แม้นางนาคจะสูงศักดิ์กว่า แต่กลับประพฤติตนหยาบช้า ต่างจากนางกบที่อยู่ในครรลองแห่งศีลธรรม

นอกจากนี้ เรื่องราวของนางนาคอนงค์กับงูดินก็สะท้อนอารมณ์ปรารถนาของเพศหญิงได้แจ่มชัด เพราะเนื้อเรื่องไม่มีการกล่าวถึงความรู้สึกของงูดิน การสมสู่ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอารมณ์ความปรารถนาของนางนาคอนงค์เพียงด้านเดียว นั่นหมายความว่าเมื่อนางนาคอนงค์ปรารถนาในรสราคะ งูดินก็มีหน้าที่เพียงบำบัดและปลดปล่อยเชื้อเพลิงราคะของนางนาคให้ดับลงเท่านั้น

แม้เนื้อหาในตอนนี้จะเป็นคำกลอนเพียงสั้นๆ แต่ก็สะท้อนนัยว่าอารมณ์ความปรารถนาของสตรี (เช่นนางนาคอนงค์) ในเรื่องความกำหนัดนั้นรุนแรงยิ่ง และการที่จะลักลอบได้เสียกับสัตว์เพศผู้ซึ่งแก้ความรัญจวนใจลงได้บ้างนี้ สำหรับนางนาคองค์แล้วเป็นสิ่งที่กระทำได้ หากไม่มีผู้ลอบมองพฤติกรรมของนาง

หากเปรียบภาพลักษณ์ของนางนาคอนงค์กับนางกบ นางนาคอนงค์จึงเปรียบเหมือนหญิงร้าย มีพฤติกรรมที่รุนแรงทั้งในด้านอารมณ์และความประพฤติ อันเป็นพฤติกรรมของสตรีที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานหญิงดี ส่วนนาง “กบ” มีภาพเหมือนนางชี ผู้มีจิตใจอยู่ในศีลภาวนาอันเคร่งครัด อันเป็นพฤติกรรมของสตรีที่อยู่ในกรอบของจารีตวาทกรรมกุลสตรี

ดังนั้นการบรรยายพฤติกรรมของสัตว์ที่ต่างกัน ก็เพื่อจะชี้ให้ผู้อ่านบทละครเรื่องรามเกียรติ์เห็นว่า นางมณโฑ มีพื้นฐานมาจากสัตว์ที่แสดงพฤติกรรมที่น่ายกย่อง คือ มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณเป็นที่ตั้ง ไม่เสียดายชีวิต และความกตัญญูที่สะท้อนจากพฤติกรรมของนางมณโฑนี้เองเป็นปัจจัยนำพาชีวิตของนางให้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อส่วนหนึ่งจากบทความ “ตัวข้าชื่อว่ามณโฑ ภิญโญยศยอดสงสาร : วิพากษ์ชีวิตนางมณโฑ ชีวิตที่ถูกลิขิตโดยผู้ใด?” เขียนโดย นิพัทธ์ แย้มเดช ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2560