นางมณโฑนมโตข้างไหน

จิตรกรรม นางมณโฑ นอนกับ ทศกัณฐ์ โดยมี หนุมาน ลักลอบ เข้าไปผูกผม
นางมณโฑนอนกับทศกัณฐ์ในกรุงลงกา หนุมานลอบเข้าไปผูกผมขณะหลับ (จิตรกรรมฝาผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

เรื่อง นางมณโฑ นมโตข้างไหน นี่เป็นปัญหาคาใจผมมานานนักหนาแล้ว.

เมื่อ 40 กว่าปีก่อนเคยมีคนถามมายังคอลัมน์ปัญหาประจำวันของสยามรัฐว่า “นางมณโฑทำไมนมโตข้างเดียว”. คุณชายคึกฤทธิ์ เจ้าของคอลัมน์ท่านตอบว่าก็มือ 20 มือของทศกัณฐ์นั้นตระโบมลงไปข้างเดียว แล้วทำไมจะไม่โต”. แต่ท่านลืมบอกไปว่าข้างไหน, จึงเป็นปัญหาคาใจผมอยู่ตราบทุกวันนี้

มีคติโบราณที่พูดติดปากกันมาอยู่บทหนึ่ง คือ “หญิงซ้าย-ชายขวา”.

ได้ลองถามท่านผู้เฒ่าผู้แก่ดูว่า มันมีความหมายอย่างไร, ท่านก็บอกว่า จะเป็นฝีเป็นแผลอะไร ถ้าผู้หญิงเป็นข้างขวาจะหายง่าย, แต่ถ้าเป็นข้างซ้ายจะหนัก. ผู้ชายก็เช่นกัน ถ้าเป็นข้างซ้ายจะพอทุเลา, แต่ถ้าเป็นข้างขวาจะสาหัส.

มีเอกสารโบราณอยู่เล่มหนึ่งที่พอจะยืนยันในข้อนี้ คือ มหาชาติคำหลวง. ในกัณฑ์กุมารได้กล่าวความไว้ว่า :-

“ส่วนชูชกพราหมณ์ก็เข้าไปวะวามยังทำทุมป่านั้น มักก็กัดเอาเชือกเขาเถาวัลลิ์ ด้วยฟันมัน โสดแล. ก็เอามากระหวัดมือราชชาลีเบื้องขวา พาไปกระหวัดมือราชกัณหาเบื้องซ้ายหมั้น”.

ดูซิ ขนาดชูชกจะมัดสองกุมาร ก็ยังคำนึงคติซ้าย-ขวา.

มหาชาติคำหลวงนี้ เป็นวรรณคดีสมัยอยุธยา, พระบรมไตรโลกนาถโปรดให้แต่งขึ้นในป พ.ศ. 2025, นับถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2547 ก็ตก 522 ปี.

โบราณหรือไม่ก็โบราณก็คิดเอา.

การจัด การเรียง ประดับประดาห้างร้านบ้านเรือน หรืออะไรก็ตาม ถ้าจะให้เป็นมงคลก็ควรจะหญิงซ้าย-ชายขวา ซึ่งท่านทั้งหลายก็รู้ดีกันอยู่แล้ว ดังเห็นได้จากที่ท่านประดับประดากันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่ารูปพ่อ-แม่ หรือพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.

การนอนของคู่ผัวตัวเมียก็เช่นกัน ก็นิยมจัดให้ผู้หญิงนอนข้างซ้าย ผู้ชายนอนข้างขวา ดังปรากฏในขุนช้างขุนแผน. ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างเพื่อลักนางวันทองไปป่านั้น ขุนแผนลำเลิกอดีตกับนางวันทองว่า :-

“นิจจาเจ้าวันทองน้องพี่อา

พี่จำหน้าเนื้อน้องได้ทุกแห่ง

นิจจาใจช่างกะไรมาแปลกแปลง

เอามือคลำแล้วยังแคลงอยู่คลับคล้าย

เจ้าลืมนอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ

เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร่ฝ่าย

พี่เคี้ยวหมากน้องอยากพี่ยังคาย

แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน”

คำ “แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน” นี่ยังไง ที่บอกว่านางวันทองนอนข้างซ้ายขุนแผน คือขุนแผนกางเขนซ้ายออกให้นางวันทองหนุนต่างหมอน.

สุนทรภู่ก็เคยกางเคยซ้ายให้แม่จันทน์หนุนเหมือนกัน, ท่านสารภาพไว้ในนิราศเมืองเพ็ชร :-

“ชมลูกจันทน์กลั่นกลิ่นระรินรื่น

จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน”

ขอย้อนกลับไปที่นางมณโฑ

แน่เสียยิ่งกว่าแน่ที่นางมณโฑก็ต้องนอนข้างซ้ายทศกัณฐ์.

เมื่อนางมณโฑนอนข้างซ้าย ทศกัณฐ์ก็ต้องนอนข้างขวา.

เมื่อนอนข้างขวา ถ้านอนชิดกันแขนซ้ายของทศกัณฐ์ก็เท่ากับตายไปข้างหนึ่ง (ทำอะไรไม่ได้) ไม่ว่าจะนอนหงายหรือนอนตะแคงซ้าย (เว้นแต่จะกางออกให้นางมณโฑหนุนเหมือนขุนแผนกับนางวันทอง).

ถ้าทศกัณฐ์จะกอดนางมณโฑก็ต้องตะแคงซ้าย แล้วโอบด้วยแขนขวา.

เมื่อโอบด้วยแขนขวา จังหวะของมือขวาจะอยู่ตรงไหน.

แขนซ้ายของทศกัณฐ์หมดสิทธิ์ไปแล้วก็จริง แต่แขนขวาแม้ข้างเดียวก็ 10 มือนะครับ.

เช่นนั้น คำตอบของผมก็คือ นางมณโฑ นมโตข้างซ้ายครับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2561