นางมณโฑผู้แสนเศร้า ใครเล่าจะเข้าใจ..มีลูกก็เป็นภัยแก่ผัว แถมตัวถูกลิงหลอกจับทำเมีย

นางมณโฑ กับ ทศกัณฐ์ (จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ภายในพระระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

เมื่อพูดวรรณคดีไทย เรามักจะนึกถึงรามเกียรติ์ และเมื่อเรานึกถึงรามเกียรติ์เราก็มักจะนึกถึงตัวละครอย่างพระราม พระลักษณ์ ทศกัณฑ์ นางสีดา หนุมานและเหล่าทหารวานรทั้งหลายผุดพรายขึ้นมา แต่ใครเล่าจะนึกถึงตัวละครหญิงที่สำคัญอย่างนางมณโฑ มีใครบ้างเล่าจะนึกถึงชะตากรรมของนางมณโฑในฐานะหญิงผู้ชอกช้ำและตรอมตรมตลอดชีวิตของนางในเรื่องรามเกียรติ์

บทความ “ตัวข้าชื่อว่ามณโฑ ภิญโญยศยอดสงสาร: วิพากษ์ชีวิตนางมณโฑที่ถูกลิขิตโดยผู้ใด?” ของ นิพัทธ์ แย้มเดช ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 10 เดือนสิงหาคม 2560 ได้เขียนเล่าชีวิตมหากาพย์แห่งความโศกเศร้าในชีวิตของนางมณโฑไว้ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งจะขอตัดตอนและเรียบเรียงใหม่บางส่วนดังนี้

นางมณโฑเป็นตัวละครหญิงในเรื่องรามเกียรติ์อีกตัวหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อเรื่องมาก บทบาทของนางเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ นางเป็นทั้งข้าผู้รับใช้ เป็นเมีย เป็นแม่ และเป็นพระแม่เมือง ชีวิตของนางคลุกเคล้าทั้งอารมณ์สุข ทุกข์ ปวดร้าว แปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา นางมณโฑมีภูมิหลังมาจากชาติกำเนิดเป็นนางกบแล้วเปลี่ยนแปลงพัฒนาสถานภาพเป็นสตรีผู้มีคุณสมบัติที่ดีเลิศ จนกระทั่งเป็นใหญ่เหนือสตรีทั้งหลาย เมื่อนางเป็นอัครมเหสีของทศกัณฑ์เจ้ากรุงลงกา

“อกเอ๋ยเสียชาติเป็นสตรี จะมีคู่ครองถึงสองชาย”

เมื่อทศกัณฑ์ได้ความดีความชอบจากการช่วยทำให้เขาไกรลาสกลับมาตั้งตรงอีกครั้งจึงได้ทูลขอพระแม่อุมาเป็นบำเหน็จในความดีความชอบครั้งนี้ แต่ความ “ทะลึ่ง” ของทศกัณฑ์ก็ได้ทำให้ตัวเขาและเหล่าเทพเจ้าเทวดาทั้งหลายเดือดร้อนไปตามๆ กัน จนกระทั่งพระนารายณ์ต้องออกอุบายให้ทศกัณฑ์นำพระแม่อุมาไปคืนและเปลี่ยนเป็นสาวงามคนอื่นแทน สุดท้ายก็ได้นางมณโฑมาแทนพระแม่อุมา…

พาลีชิงนางมณโฑจากทศกัณฐ์ (ภาพลายรดน้ำจากหนังสือ “รามเกียรติ์จากตู้ลายรดน้ำ” กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๕)

ระหว่างที่ทศกัณฑ์อุ้มนางมณโฑกลับกรุงลงกา พาลีซึ่งเป็นลิงที่ครองเมืองขีดขินเห็นทศกัณฑ์อุ้มนางมณโฑเหาะข้ามเมืองของตนก็เกิดความไม่พอใจและตรงเข้าทำร้ายทศกัณฑ์ พาลีได้พรศักดิ์สิทธิ์ว่าหากสู้รบกับผู้ใดก็ให้พละกำลังของคู่ต่อสู้มาเป็นกำลังของตนเอง หลังจากสู้รบชัยชนะก็ตกเป็นของพาลี เมื่อนั้นเองพาลีก็เกิดพึงพอใจในความงามของนางมณโฑจึงได้ชิงนางมณโฑไว้เป็นเมียของตน ณ เมืองขีดขิน

นางมณโฑจึงกลายเป็นเหมือน “ของกลาง” เป็นวัตถุที่ถูกลากไปมา แม้กระนั้นก็ตาม ชีวิตของนางมณโฑก็อยู่ดีมีสุข ณ เมืองขีดขิน แต่เมื่อทศกัณฑ์ขอให้พาลีคืนนางมณโฑ พาลีก็จำยอมคืนให้แต่โดยดีด้วยการร้องขอของฤาษีอังคตพระอาจารย์พาลี สุดท้ายนางมณโฑก็กลับคืนอ้อมอกของผัวคนแรกอย่างทศกัณฑ์

นางมณโฑ ได้รำพึงรำพันอย่างน่าสงสารเอาไว้ว่า “อกเอ๋ยเสียชาติเป็นสตรี จะมีคู่ครองถึงสองชาย”

มีลูกก็เป็นภัยแก่ผัว

ก่อนที่จะกลับมาอยู่กับทศกัณฑ์นางมณโฑได้ตั้งท้องกับพาลีแต่เมื่อต้องกลับไปอยู่กับทศกัณฑ์ฤาษีอังคตก็ได้เอาลูกในท้องนางมณโฑไปใส่ไว้ในท้องแพะ ต่อมาลูกของนางมณโฑกับพาลีนั้นก็คือ องคต ผู้เป็นหนึ่งในทหารเอกของพระรามคู่ต่อสู้คนสำคัญของทศกัณฑ์

เมื่ออยู่กินกับทศกัณฑ์นางมณโฑก็ตั้งท้องสามครั้ง ครั้งแรกได้ลูกชายชื่อรณพักตร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “อินทรชิต” ผู้ที่ต่อมาเป็นทหารเอกคนสำคัญของทศกัณฑ์และทำศึกกับฝ่ายพระราม ความเก่งกาจในการรบของอินทรชิตได้สร้างความเสียหายให้กับฝ่ายพระรามอยู่หลายหนแต่สุดท้ายก็ต้องตายด้วยน้ำมือของพระลักษณ์

ลูกคนที่สองของนางมณโฑกับทศกัณฑ์เป็นลูกสาว และถือเป็นตัวละครที่เป็นปมสำคัญของเรื่องรามเกียรติ์คือนางสีดา เพราะเมื่อนางสีดาเกิดมาแล้วก็ร้องว่า “ผลาญราพณ์” สามครั้ง พิเภกได้ทำนายดวงชะตาไว้ว่านางสีดานี้ในภายภาคหน้าจะเป็นกาลกิณี สร้างความอัปยศแก่ทศกัณฑ์ และความก็เป็นดังนั้นเพราะด้วยความหน้ามืดตามัวของทศกัณฑ์ที่จะเอานางสีดาเป็นเมียทศกัณฑ์จึงต้องพบกับจุดจบอย่างน่าเวทนา

ลูกคนที่สามชื่อ “ไพนาสุริยวงศ์” หรือ “ทศพิน” ซึ่งก็สร้างความร้าวฉานให้กับนางกับพิเภกแถมยังก่อเรื่องก่อราวสร้างสงครามไม่จบไม่สิ้นจนสุดท้ายก็ต้องถูกประหารชีวิต

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่านางมณโฑนั้นเมื่อมีลูก ถ้าลูกไม่ตาย ก็เป็นภัยแก่ผัว…ช่างน่าเวทนานัก…

ถูกลิงหลอกจับทำเมีย

ในการรบกับพระรามนั้น ในช่วงท้ายๆ ทศกัณฑ์เป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำทำท่าจะแพ้อยู่หลายหน นางมณโฑเองก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยผัวรบด้วยเช่นกัน ดังในตอนที่นางมณโฑพยายามจะตั้งพิธีหุงน้ำทิพย์ที่ตนได้เรียนมาจากพระแม่อุมาเพื่อช่วยผัวในการรบ แต่ในพิธีหุงน้ำทิพย์นี้มีข้อแม้ที่สำคัญอยู่ประการหนึ่งว่าจะต้องงดเว้นการร่วมรักกัน นางมณโฑจึงขอให้ทศกัณฑ์อดทนรอจนพิธีเสร็จ

ฝ่ายพระรามเมื่อรู้ว่านางมณโฑกำลังตั้งพิธีหุงน้ำทิพย์ หนุมานทหารเอกของพระรามก็ได้คิดอุบายเพื่อทำลายพิธีนี้เสียด้วยการปลอมตัวเป็นทศกัณฑ์หลอกนางมณโฑว่าชนะศึกพระรามแล้วกลับมาร่วมรักกับนางมณโฑ ผลก็คือพิธีหุงน้ำทิพย์ถูกทำลายเพราะละเมิดเงื่อนไขที่ว่าด้วยการร่วมรัก

น้ำทิพย์ก็ไม่ได้ แถมยังต้องเสียตัวให้กับลิงอีก… ช่างน่าเวทนาแท้ๆ

ชีวิตแสนเศร้าที่เลือกไม่ได้วรรณ

ชีวิตของนางมณโฑนั้นอยู่ในสภาวะที่เลือกอะไรไม่ได้สักอย่าง จะมีผัวก็เลือกไม่ได้ มีผัว 4 ตายไป 2 และผัวทั้งหมดนั้นก็ต้องเป็นเมียเขาอย่างจำยอม ราวกับถูกข่มขืนก็ไม่ปาน… มีลูก ลูกก็ต้องตายเพราะความหน้ามืดของพ่อ หรือไม่ลูกก็เป็นภัยกับตัวพ่อจนถึงแก่ชีวิต ตอนจบยังต้องตกเป็นของน้องผัวอย่างพิเภก และเรื่องราวของนางมณโฑก็ไม่ปรากฏอีกเลย ในจุดนี้จึงเป็นความโหดร้ายของตัวเรื่องรามเกียรติ์ที่มีต่อนางมณโฑ คือ ทำให้นางมณโฑไม่เคยมีปากมีเสียงใดๆ และยังทำให้นางมณโฑหายไปอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยอีกด้วย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2560