ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระแม่อุมาเทวี” เทวีแห่งอำนาจวาสนา วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ “วัดแขก” ตั้งอยู่บนถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ เป็นวัดพราหมณ์-ฮินดูที่เก่าแก่ ตั้งขึ้นมานานกว่า 100 ปี บนถนนสายการค้าที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
ชื่อของวัดตั้งตามพระนามของ “พระแม่อุมา” พระมหเสีของ “พระอิศวร” หรือพระศิวะ มหาเทพในคติฮินดู ผู้สถิตอยู่ ณ เขาไกรลาส
สำหรับชาวฮินดูแล้ว พระแม่อุมาเทวี เป็นเทวีแห่งอำนาจวาสนา และบารมี เพราะพระองค์มักประทานยศถาบรรดาศักดิ์ และความเป็นใหญ่แก่ผู้ที่หมั่นบูชาพระองค์อย่างสม่ำเสมอ
พระแม่อุมาเทวียังเป็นพระมารดาแห่งพระพิฆเนศวร หรือพระพิฆเนศ และเป็น 1 ใน 3 พระตรีศักติ หรือ “พระแม่ทั้งสาม” อันได้แก่ พระแม่อุมาเทวี พระแม่ลักษมี (ชายาพระวิษณุ) และพระแม่สุรัสวดี (ชายาพระพรหม)
พระองค์มีวิมานสถิตอยู่เขาไกรลาศเช่นเดียวกับพระสวามี สัญลักษณ์ประจำพระองค์ คือ โยนี (คู่กับลึงค์ของพระอิศวร) ทิพยลักษณะของพระองค์เป็นสตรีรูปงาม เปี่ยมด้วยความเมตตา เป็นเทพมารดาแห่งสรรพชีวิตทั้งหลาย มักฉลองพระองค์ด้วยอาภรณ์หลากสีสัน ประดับด้วยทองคำอันวิจิตรงดงาม เทพพาหนะ คือ เสือ ส่วนศาสตราวุธ คือ ตรีศูล และดาบ
พระแม่อุมามีปางอวตารอยู่หลายปาง ที่สำคัญและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ พระแม่ทุรคา (ทุรกา) และ พระแม่กาลี (เจ้าแม่กาลี)
ความเป็นมาของ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขก เป็นศาสนสถานที่สร้างจากความศรัทธาของชาวอินเดียจากรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ย่านสีลม แล้วร่วมใจกันสร้างเทวาลัยนี้ขึ้นใน พ.ศ. 2438 ภายใต้พระบรมราชานุญาตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สำหรับเป็นสถานที่สักการะบูชาองค์พระศรีมหาอุมาเทวี
ก่อนแรกสร้าง รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ พระองค์เคยเสด็จฯ ประเทศอินเดีย เมื่อเสด็จฯ กลับเมืองไทย ได้รับสั่งกับชาวอินเดียจากรัฐทมิฬนาฑูว่า ทางประเทศอินเดียได้ฝากฝังเอาไว้ หากมีสิ่งใดที่พระองค์ช่วยเหลือขอให้บอก ปรากฏว่า ชาวอินเดียเหล่านั้นขอพระบรมราชานุญาตสร้างเทวาลัยสำหรับบูชาองค์เทพตามความเชื่อของพวกเขา ซึ่งรัชกาลที่ 5 ก็ทรงมีพระบรมราชานุญาตตามที่ขอ
คณะกรรมการขณะนั้น คือ นายไวตรีประเดียอะจิ นายนารายเจติ และนายโกบาระตี จึงขอแลกที่ดินของพวกตนกับที่ดินสวนผักของ นางปั้น อุปการโกษากร บริเวณถนนสีลม ที่ตั้งในปัจจุบัน แล้วลงมือสร้างเทวาลัย วัดแขกสีลม ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้
ทั้งนี้ เทวาลัยแห่งแรกสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวฮินดูเชื้อสายทมิฬ สร้างขึ้นที่บริเวณหัวลำโพง แต่เป็นศาลไม้ธรรมดา ต่อมาได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จึงโยกย้ายมาอยู่ที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี
สถาปัตยกรรมในวัดพระศรีมหาอุมาเทวีสร้างขึ้นอย่างสวยงามด้วยศิลปะโบราณแบบอินเดียตอนใต้ในสมัยโจฬะ และปัลวะ พบทั่วไปในเทวาลัยของรัฐทมิฬนาฑู โบสถ์แม่เป็นทรงปรางค์แขกสูง 6 เมตร ประดับประดาด้วยรูปปั้นเทพสำคัญต่าง ๆ ในศาสนาฮินดูบนซุ้ม และมุมเครื่องยอด พร้อมลวดลายประดับสีสันสวยงาม ว่ากันว่า ต้องใช้เวลาทาสีอยู่นานถึง 10 ปี กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ โดยภายในโบสถ์ประดิษฐานเทวรูปสำคัญ 3 องค์ ได้แก่ พระศรีมหาอุมาเทวี พระขันธกุมาร และพระพิฆเนศวร ซึ่งเป็นพระโอรสในพระแม่อุมาเทวี
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระมหาเทพ และมหาเทวีองค์อื่น ๆ ในศาสนาฮินดูอีกมาก อาทิ พระพรหม พระวิษณู พระแม่ลักษณมี พระแม่สุรัสวดี เป็นต้น
ส่วนบริเวณกลางลานเทวสถาน มีเทวาลัยขณาดเล็ก ภายในเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงก์ สำหรับเครื่องสักการะ
สำหรับเครื่องสักการะพระศรีมหาอุมาเทวี ประกอบด้วย พวงมาลัย มะพร้าวอ่อน และกล้วยน้ำว้า อีกทั้งให้แต่งกายสุภาพ ห้ามสวมรองเท้าเข้าในเขตเทวาลัยด้วย
คาถาบูชาพระแม่อุมาเทวี
มีข้อพึงรู้ว่า ก่อนการสวดบูชาพระแม่อุมาเทวี ต้องสวดบูชาพระพิฆเนศวรก่อนเสมอ จากนั้นว่าคาถาต่อไปนี้…
“โอม เจ มาตากี (3 จบ) โอม เจ มาตากาลี (3 จบ) โอม ศรี ทุรคา เจ นะ มะ ฮา (3 จบ) โอม สตี เยมาตา กาลี (3 จบ) โอม หรีม ครีม ทูม ทุรคา ชัยนมัส (3 จบ)
โอมนะมัสศิวารายะ จะ นะมัสศิวายะ ปะระวะตี ยะโฮ กัตตะการี จะ ปูระณะ
ดุลรานะฮี กะโฮ ยะวา กัตตุระณัม อาระคัม ดัมบารา อาลี อาลี อาระยัน ยันนะวะฮี
จะ นะมัสศิวารายะ กอรียะโฮ ตียะ นะวะโฮ สีวิรุธ ตะรัยยะเก กามะจะ มะเหยะเต
โอม ตัสสะ ปาระพะตี กาลีทุรคา ปิยังมะมะ ทุติยัมปิ ปาระพะตี กาลีทุรคา ปิยังมะมะ ตะติยัมปิ ปาระพะตี กาลีทุรคา ปิยังมะมะ
โอม ศรีมหาเทวี สตีมามหาตา อุมาภควัมบดี ทุรคา กาลี มหามาตารี
เทวามนุษย์สะ ยักษ์สะวันทามิ เทวีมหาอิทธิโย มหิทธิกา มาตารีโอม”
อ่านเพิ่มเติม :
- “นวราตรี” งานแห่วัดแขก ร่องรอย “ศาสนาผี” ในฮินดู พื้นที่ของ สตรี และ LGBTQ+
- “พระพิฆเนศ” มหาเทพที่เก่าแก่กว่า พระอิศวร? จากเทพพื้นเมือง ปรุงแต่งเป็น เทพฮินดู
- “ศิวลึงค์” เป็นวัตถุเคารพ ที่ยิ่งใหญ่สุดของมนุษย์ได้อย่างไร เผยรากตำนาน ตั้งแต่โบราณ
อ้างอิง :
กองบรรณาธิการข่าวสด. (2553). เทพ-เทวะ ศักดิ์สิทธิ์-สักการะ. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2566