“นวราตรี” งานแห่วัดแขก ร่องรอย “ศาสนาผี” ในฮินดู พื้นที่ของสตรีและ LGBTQ+

พระแม่ พระแม่อุมาเทวี วัดแขก สีลม นวราตรี
(ภาพจาก มติชนออนไลน์, 19 ตุลาคม 2561)

งานแห่วัดแขก “นวราตรี” เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ “วัดแขกสีลม” เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ถือเป็นเทศกาลแห่งการฉลองบูชาพระแม่อุมาเทวีที่ยิ่งใหญ่ มี “คนทรง” ซุ้มสักการะ เครื่องเซ่น และขบวนแห่เต็มไปด้วยสีสัน

เทศกาลนวราตรี แปลตรงตัวคือ งานบูชาพระแม่ “เก้าคืน” (‘นว’ แปลว่า เก้า) มีรากฐานมาจากการบูชาพระแม่ ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของชาวฮินดูในอินเดีย ซึ่งกระทำกันปีละครั้ง แต่ในอินเดียเหนือจะมีเทศกาลนี้สองครั้งต่อปี เพราะภาคเหนือของอินเดียปลูกทั้งข้าวสาลี และข้าวเจ้า โดยข้าวสาลีเก็บเกี่ยวกันตอนต้นปี จึงมีนวราตรีในเดือนเมษายน ก่อนจะจัดอีกครั้งในเดือนตุลาคม ช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวเจ้า

หลักปฏิบัติของเทศกาลนี้คือการถือพรต งดทานอาหาร กินเพียงพืชผักผลไม้ แต่ไม่กินข้าวกับถั่ว มีการสวดภาวนา บูชาพระเทวีปางต่าง ๆ การบูชายัญ และงานแห่ โดยอินเดียเหนือ นิยมบูชาพระเทวี “นวทุรคา” หรือทุรคาเก้าปาง ส่วนภาคใต้ บูชาพระเทวีทุรคา และเทวีท้องถิ่นองค์อื่น ๆ เช่น มีนากษี มาริอัมมา

วันสุดท้ายของ “นวราตรี” เรียกว่า วิชัยทศมี (‘ทศมี’ แปลว่า ลำดับสิบ) ตำนานเล่าว่า จะมีการบูชายัญพระแม่ด้วยควาย หรือแพะ ก่อนเริ่มพิธีแห่ ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาอินเดีย-ฮินดู ให้ความเห็นว่า “ตำนานเจ้าแม่ฆ่าอสูรควาย (มหิษาสูร) ในปุราณะ สร้างขึ้นเพื่อเป็นคำอธิบายพิธีบูชายัญควายต่อเจ้าแม่”

ในคติฮินดู ควายเป็นตัวแทนของอสูร การบูชายัญควายจึงเป็นคำอธิบายทางเทวตำนาน แต่ปัจจุบัน พราหมณ์ (ส่วนมาก) เลิกฆ่าสัตว์บูชายัญกันแล้ว แต่จะใช้ฟักเขียวแทนควาย-แพะ และผง “กุมกุม” สีแดงที่ใช้เจิมทาตรงรอยฟันของฟักเขียวเพื่อสมมุติว่าเป็นเลือด

นอกจากนี้ “คนทรง” ภายในงานแห่เจ้าแม่วันวิชัยทศมีสามารถพบได้ในอินเดียใต้ รวมถึงที่วัดแขกสีลม โดยเป็นคนทรง เจ้าแม่กาลี พระขันธกุมาร และพระมาริอัมมัน ที่แสดงสารพัดการทรมานตน ทั้งการแทงปากด้วยของแหลม ทูนหม้อกลัศอันหนักอึ้ง และถือหม้อดินบรรจุไฟ ฯลฯ เพื่อเชื่อมตนเองกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ ยก “จิต” ให้เหนือ “กาย” ไม่รับความเจ็บปวดทรมาน รวมถึงแสดงกิริยาอาการที่เวลาปกติไม่กระทำกัน

ด้วยวิธีเหล่านี้ อำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเผยออกมา หรือเข้า “แทรกกลาง” คนทรงผู้นั้นได้

ที่จริงแล้ว “การทรงเจ้าเข้าผี” ไม่ถูกยอมรับในพิธีกรรมพราหมณ์-ฮินดู แต่เป็นร่องรอยของ “ศาสนาผี” ที่แฝงอยู่ในนิกายบูชาพระแม่ โดยอาจารย์คมกฤช อธิบายว่า

“…‘นิกายเจ้าแม่’ ซึ่งวัดแขกสีลมสังกัด เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของ ‘ศาสนาผี’ ในอินเดียก่อนที่ฮินดูจะเข้ามา (Pre-Hinduism) พิธีกรรมของนิกายเจ้าแม่จึงมีอะไรที่เป็น ‘พื้นเมือง’ มาก ๆ เช่น การเข้าทรง การทรมานตน

…เทพที่เข้าทรงในเทวสถานของอินเดียนั้น โดยมากหรือเกือบทั้งหมดเป็นเทพพื้นเมือง เช่น เจ้าแม่ต่าง ๆ ที่อยู่ตามหมู่บ้าน ‘ขันทกุมาร’ ซึ่งเป็นเทพพื้นเมืองอินเดียใต้ พระศิวะก็ต้องเป็นโหมดพื้นเมืองอย่าง ‘ไภรวะ’ แต่พระวิษณุ พระสุริยเทพ หรือเทพในพระเวทกลับไม่มีเลย เพราะเทพเหล่านี้ โดยมากเป็นของพวกอารยันนะครับ ซึ่งมีระบบศาสนาอีกแบบหนึ่ง”

เทศกาล วันนวราตรี ผู้คน ร่วมงาน สักการะ บูชา พระแม่ อุมาเทวี วัดแขก สีลม
(ภาพจาก มติชนออนไลน์, 19 ตุลาคม 2561)

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เหตุใดงานแห่วัดแขกจึงเต็มไปด้วยเจ้าของซุ้มสักการะ และผู้ร่วมงาน LGBTQ+ หรือมีสัดส่วนค่อนข้างโดดเด่น ความนิยมดังกล่าวก่อตัวขึ้นอย่างไร? ส่วนหนึ่งบอกว่า เป็นเพราะพิธีกรรมฮินดูเต็มไปด้วยสีสัน และเครื่องบูชามากมาย จึงมีส่วนดึงดูดความสนใจของคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ แต่อาจารย์คมกฤช กล่าวว่า เหตุผลข้างต้นอาจมีส่วน แต่ไม่น่าใช่สาเหตุหลัก เพราะเพศไหนก็ชอบพิธีกรรม และสีสันได้

“ผมว่าสาเหตุใหญ่น่าจะมาจากการที่ศาสนาในไทยไม่ค่อยมี ‘พื้นที่’ ของเพศหญิง มิไยต้องกล่าวถึงเพศที่สาม

ผู้ชายกลายเป็นศูนย์กลางของระบบศาสนา ไม่ว่าจะเป็นองค์แห่งการบูชา นักบวช ผู้นำ แม้แต่พิธีกรรมของพราหมณ์ตามประเพณีไทย มีที่เกี่ยวกับผู้หญิงน้อยมาก แต่งานวัดแขก ซึ่งเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปเข้าไปสร้าง ‘พื้นที่’ ของตัวเองในด้านพิธีกรรม จะทำพิธี จะจัดตกแต่งซุ้มของตนอย่างไรก็ได้ และยังไม่รังเกียจอัตลักษณ์ทางเพศ เพศที่สามจึงแสดงออกและมีบทบาทได้มากกว่า”

กล่าวคือ การเปิดพื้นที่ให้เพศอื่น ๆ นอกจากผู้ชาย ในเทศกาล “นวราตรี” มีส่วนทำให้ผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถเข้าถึงสภาวะความ “ศักดิ์สิทธิ์” ทางศาสนาได้ ที่สำคัญคือ ไม่ต้องซ่อนเร้นอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ซึ่งศาสนาอื่น ๆ ในสังคม (อาจ) ให้พื้นที่ตรงนี้น้อยมาก

อาจารย์คมกฤช ยังกล่าวด้วยว่า อย่าลืมว่า “งานนวราตรี องค์แห่งการบูชานั้นเป็น ‘เพศหญิง’ นะครับ ผู้ชายแท้ ๆ จึงเป็นได้แค่ผู้รับใช้ชั้นสุดท้าย หากลองเข้าไปในวัดแขกสีลม จะเห็นว่า บรรดาบริวารของเจ้าแม่ทั้งหมด ซึ่งปั้นอยู่ตามเสา และหลังคา ล้วนแต่เทวีและยักษิณี ไม่มีเทวะและยักษะปรากฏเลย ในแง่นี้ เพศที่สามจะเข้าใกล้ ‘เจ้าแม่’ มากกว่าผู้ชายแท้ ๆ ส่วนผู้หญิงนั้น ย่อมศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะเป็นภาวะเดียวกับเจ้าแม่เอง”

ภายใน วัดแขกสีลม วัดพระศรีมหาอุมาเทวี นวราตรี วิชัยทศมี เครื่องบูชา สักการะ
การบูชาพิธีอภิเษกสมรสของพระแม่อุมาเทวีและพระศิวะ ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี, 21 ตุลาคม 2566 (ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมพระศาสนา)

อย่างไรก็ตาม แม้ “วัดแขกสีลม” จะเป็นเทวสถานของเจ้าแม่ แต่มีความเป็นทางการแบบฮินดู ที่ยังเต็มไปด้วยระเบียบแบบแผน ไม่ต่างจากเทวสถาน “หลวง” คือ ไม่ใช่ศาสนสถานระดับชาวบ้าน พื้นที่ภายในจึงยังเป็นที่ของผู้ชาย และมีพราหมณ์เป็นผู้นำด้านพิธีกรรมอยู่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

คมกรช อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม 2566