ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
การเข้าพรรษาสำหรับพุทธศาสนาเป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุจะจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน พำนักอยู่วัดหรือที่แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยไม่ไปค้างแรมสถานที่อื่นตลอดพรรษานั้น ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีการ “เข้าพรรษา” เช่นกัน เรียกว่า “จตุรมาสยะ” หรือ “จตุรมาสะวรัต” แปลว่า “สี่เดือน” หรือ “พรตสี่เดือน” เพราะการเข้าพรรษาของพรามหณ์กินเวลาถึง 4 เดือนตลอดฤดูฝนเลยทีเดียว
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “จตุรมาสยะของพวกไวษณพนิกาย (นิกายที่นับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด – ผู้เขียน) มักเริ่มในวัน 11 ค่ำ (เรียกว่า เอกาทศี) ในเดือน ‘อาษาฒะ’ (บาลีว่า อาษาฬห) ตามจันทรคติไปจนถึง 11 ค่ำในเดือน ‘การติกะ’ ตกราวเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม ไปจนถึงเดือนตุลาคมหรือเดือนพฤศจิกายน แต่บางนิกายจะเริ่มในวันเพ็ญเดือนอาษาฒะ ซึ่งจะตรงกับวันอาสาฬหบูชาของเราพอดี วันเข้าพรรษาของฮินดูกับพุทธจึงเกือบจะตรงกันเป๊ะ ๆ”
“วันเอกาทศรีในจตุรมาศยะ เรียกว่า ‘เทวศยนีเอกาทศี’ แปลว่าวัน 11 ค่ำ ‘(เทพ) หลับ’ และวันสุดท้ายเรียกว่า ‘อุฐนีเอกาทศี’ หรือวัน 11 ค่ำ ‘ตื่น’ เพราะเชื่อกันว่า ในช่วงจตุรมาสยะ พระวิษณุจะบรรทม และตื่นบรรทมเมื่อสิ้นสุดจตุรมาสยะ”
อาจารย์คมกฤช เปรียบเทียบว่า พระเป็นเจ้าทรงหลับใหลเปรียบดังเมล็ดพืชที่ถูกฟูมฟักอยู่กับพระแม่ธรณี รอวันตื่นจากบรรทมเช่นเดียวกับพืชที่งอกเงยหลังฤดูฝนผ่านพ้นไป
สำหรับชาวฮินดู พืชพันธุ์คือจิตวิญญาณของโลกเหมือนเทพเจ้าทั้งหลาย ในวัน “เทวศยนีเอกาทศี” ชาวฮินดูมักจะถือพรต โดยเว้นการกินธัญพืชต่าง ๆ และช่วงนี้จะไม่นิยมจัดงานมงคลต่าง ๆ เช่น พิธีสมรส หรือการสวมด้ายศักดิ์สิทธิ์ตลอดช่วง “จตุรมาสยะ” เพราะไม่ต้องการรบกวนพระผู้เป็นเจ้าขณะบรรทม
อาจารย์คมกฤช วิเคราะห์ว่า เข้าพรรษาฮินดูน่าเกิดขึ้นราว สมัยปุราณะ (500 ปีก่อนคริสตกาล) หรือใกล้เคียงกับยุคพุทธกาลนั่นแหละ เพราะมีบันทึกในคัมภีร์สกันทะปุราณะว่า มีการถือคติ เข้าพรรษา กันทั้งนักบวช และฆราวาส
นักบวชฮินดูยึดหลักไม่จาริกหรือพำนักต่างถิ่นที่ตนจำพรรษาเช่นเดียวกับพระสงฆ์ในพุทธศาสนา แต่มีระยะเวลามากกว่าหนึ่งเดือน ติรุวัลลุวาร์ กวีทมิฬในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 1 บรรยายว่า จตุรมาสยะมีขึ้นเพื่อให้เหล่าสันยาสี (ผู้สละทางโลก, วัยแห่งการแสวงหาความสงบหรือการหลุดพ้น) จะได้หยุดจาริกแล้วประพฤติอหิงสาธรรม คือ “ไม่เบียดเบียนมดแมลง สัตว์เล็กน้อยทั้งหลาย”
การรับจตุรมาสยะ จะมีศิษย์กล่าวคำอาราธนาให้สันยาสีหรือนักบวชผู้เป็นครูบาอาจารย์ของตน เพื่อให้จำพรรษา ณ ที่นั้นเป็นเวลา 4 เดือน อันจะเป็นคุณต่อศิษย์ในแง่ที่จะได้ศึกษาธรรมต่าง ๆ จากครูอย่างใกล้ชิด
อาจารย์คมกฤช อธิบายว่า “สันยาสีมีธรรมเนียมนับอายุพรรษาโดยผ่านการเข้าพรรษา ‘จตุรมาสยะ’ เช่นเดียวกันกับพระภิกษุ แม้จะมีอายุมากกว่า แต่ถ้าอีกฝ่ายมีพรรษา ‘จตุรมาสยะ’ มากกว่า ฝ่ายที่อายุมากกว่าก็ต้องแสดงความเคารพ”
สำหรับฆราวาสผู้ถือพรต จะงดอาหารบางชนิดตลอดช่วงจตุรมาสยะ เช่น น้ำผึ้ง มะเขือยาว ฯลฯ คัมภีร์ปุราณะยังระบุอาหารที่ต้องงดในแต่ละเดือน ได้แก่ เดือนแรก งดผักใบเขียว เช่น ผักโขม เดือนที่สอง งดโยเกิร์ต เดือนที่สาม งดนม และเดือนที่สี่ งดถั่วบางชนิด เช่น ดาล ส่วนผู้ที่ไม่ได้กินมังสวิรัติเป็นปกติจะงดเนื้อและปลาด้วย
การเข้าพรรษายังปรากฏอยู่ในศาสนาเชนด้วย เรียกว่า “วรษโยคะ” ซึ่งนักบวชเชนจะหยุดจาริกและจำพรรษาเป็นเวลา 4 เดือนเหมือนของพราหมณ์-ฮินดู เรียกว่าเป็นลักษณะร่วมอย่างหนึ่งของ 3 ศาสนาสำคัญของโลก ทั้ง พราหมณ์-ฮินดู พุทธ และเชน ทั้งนี้ อาจารย์คมกฤชไม่ได้สรุปว่า ศาสนาใดเป็นต้นแบบของประเพณีดังกล่าว
เพราะการเข้าพรรษาสามารถวิเคราะห์ด้วยเหตุผลทางธรรมชาติ ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนาอย่างชัดเจนว่า ช่วงเข้าพรรษาเป็น “ฤดูฝน” การเดินทางย่อมไม่สะดวกสำหรับสมณะเพศ รวมถึงเหตุผลทางสังคมที่ชี้ว่า การจาริกแสวงบุญในฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูเพาะปลูกนั้น พระภิกษุเกิดเดินเหยียบย่ำนาข้าวของชาวบ้านจนเสียหาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบัญญัติการเข้าพรรษาขึ้นเพื่อยุติปัญหาเสียตั้งแต่ต้นเหตุ
ทั้งนี้ ไม่มีหลักฐานบ่งชี้หรือข้อพิสูจน์แต่อย่างใดว่า ที่มาการเข้าพรรษาของฝ่ายฮินดู นอกเหนือจากการบรรทมของเทพเจ้า จะตรงกันหรือไม่…
อย่างไรก็ตาม อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำลายพืชผล เพราะพระสงฆ์เดินเหยียบย่ำว่า “ไม่น่าใช่” เพราะนาข้าวในอินเดียหรือไทย ไม่ว่าสมัยใหม่หรือสมัยพุทธกาลย่อมต้องมีคันนา พระสงฆ์ท่านย่อมจาริกไปตามแนวคันนา จะลงไปเหยียบย่ำข้าวของชาวบ้านทำไม? เรื่องนี้อาจารย์คมกฤช แสดงความเห็นเช่นกันว่า ถ้าเหยียบสัตว์ (เล็ก ๆ) หรือต้นไม้ใบหญ้าทั่ว ๆ ไปพอเป็นไปได้อยู่บ้าง (แต่ไม่น่าก่อความเดือดร้อน)
กระนั้น ช่วง “เข้าพรรษา” ดูจะเป็นโอกาสเหมาะสมที่สุดในการศึกษาพระธรรมของนักบวชทุกศาสนา เป็นห้วงเวลาที่พวกท่านจะได้เข้าใจแก่นของพระศาสนา พระสงฆ์เองก็ได้เรียนพระปริยัติอย่างเต็มที่ ออกพรรษาแล้วค่อยจาริกต่อ
แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งเกี่ยวกับนักบวชในอินเดียสมัยโบราณคือ เริ่มต้นจากการ “อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง” ทั้งสิ้น ต้องจาริกไปตามที่ต่าง ๆ ละทิ้งบ้าน ครอบครัว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลกหรือวิถีคฤหัสถ์ (ผู้ครองเรือน) อีกต่อไป เพราะโลกทั้งโลกคือบ้าน ซึ่งปัจจุบันนักบวชฮินดูยังยึดหลักดังกล่าวอยู่ พระสงฆ์สมัยพุทธกาลเดิมทีใช้ชีวิตเร่ร่อนเช่นกัน เพื่อ “หิตายะ สุขายะ” หรือเพื่อประโยชน์ และความสุข (ของสรรพสัตว์) นั่นเอง
หลังมีการสร้างพระอารามให้พระสงฆ์กลุ่มแรก (รวมถึงพระพุทธองค์) กฎเกณฑ์สำหรับองค์กรสงฆ์ยุคแรกจึงพัฒนาขึ้นอย่างจริงจัง การจาริกไม่ใช่รูปแบบหลักอีกต่อไป และความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับฝ่ายฮินดู และเชน แต่กลุ่มที่เน้นท่องจาริกของทั้ง 3 ศาสนาก็ยังมีอยู่อีกจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
ศาสนาในอินเดียยุคพุทธกาลมีความแตกต่างกันก็จริง แต่ไม่เด่นชัดแบบสมัยปัจจุบัน ทุกวันนี้เราสามารถระบุได้แทบจะทันทีว่า สิ่งนี้คือ คติพุทธ คติพราหมณ์ คติเชน แต่เมื่อก่อนไม่ได้แบบนั้น เพราะกรอบระหว่างศาสนาค่อนข้างเลือนลาง มีการหยิบยืมแนวคิด-ความเชื่อ แลกเปลี่ยนปะปนกันไปหมด บางคติไม่ทราบด้วยซ้ำว่าศาสนาใดเป็นต้นแบบ ทราบเพียงเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของคนอินเดียโบราณ…
อ่านเพิ่มเติม :
- มหาศิวาราตรี พิธีบวงสรวง “พระศิวะ” กับความเชื่อมโยง วันมาฆบูชา?
- “ภควัทคีตา” คัมภีร์แห่งการนำพามวลมนุษย์ข้ามพ้นสรวงสวรรค์ ที่มา “รบเถิดอรชุน”
อ้างอิง :
คมกรช อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม ผี พราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ : มติชน.
ธรรมะไทย. พจนานุกรมพุทธศาสน์ หมวด สันยาสี – สัปปุริสบัญญัติ. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2566. จาก http://www.dhammathai.org/buddhistdic/tig326.php
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2566