“ภควัทคีตา” คัมภีร์แห่งการนำพามวลมนุษย์ข้ามพ้นสรวงสวรรค์ ที่มา “รบเถิดอรชุน”

“มนุษย์ย่อมทำกรรมดีเพราะหวังสวรรค์ในภพหน้า” นี่คือความเชื่อพื้นฐานของหลาย ๆ ศาสนาที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด นรก สวรรค์ หรือดินแดนในโลกหลังความตาย แต่ “ภควัทคีตา” คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อันเก่าแก่ของ “ฮินดู” เป็นหลักปรัชญาแนวคิดแรก ๆ ของมนุษยชาติร่วมกับศาสนาพุทธและเชนที่มองข้ามพ้นจุดนั้น คือมองถึงภาวะ “หลุดพ้น” จากวัฏสงสาร หรือการเวียนว่ายตายเกิด

ภควัทคีตาอธิบายว่า ผู้เสวยสวรรค์ทั้งหลายไม่ช้าบุญเก่าย่อมมลายหายไปและต้องกลับมาเกิดใหม่ ต้องเวียนว่ายตายเกิดเสวยทุกข์ในโลกมนุษย์เช่นเดิม ดังนั้น ต้องมุ่งข้ามพ้นสรวงสวรรค์ มองถึงการหลุดพ้น โดยเข้าถึงพระเป็นเจ้า หรือ “พระเจ้าสูงสุด” คือมหาเทพและมหาเทวีทั้งหลาย

ภควัทคีตาเป็นส่วนหนึ่งของ ศาสนาฮินดู หรือลัทธิฮินดู (Hinduism) มาจากคำว่า “ฮินด์” (Hind) ภาษาเปอร์เซียที่ใช้เรียกชาวอารยันหรือผู้คนที่อาศัยอยู่ในอินเดียบริเวณลุ่มแม่น้ำอินดัส หรือสินธุ ลัทธิฮินดูนั้นพัฒนาโดยชาวอารยันและเป็นความเชื่อดั้งเดิมอันเก่าแก่ไม่เพียงแต่ในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำอินดัสเท่านั้น แต่รวมถึงมนุษยชาติด้วย

ชาวอารยันเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ แม้ภายหลังเทพเจ้าเหล่านั้นจะวิวัฒน์จนเกิดเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุดองค์เดียวอย่าง พระตรีมูรติ แต่พิธีกรรมทั้งหลายซึ่งมีนักบวชหรือพราหมณ์เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า รวมถึงการเชื่อในความจริงสูงสุดที่เรียกว่า “พรหม” (ฺBrahman) ทำให้ลัทธินี้ถูกเรียกว่า “ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู”

คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของชาวอารยันคือ คัมภีร์พระเวท แบ่งเป็น 4 เวทด้วยกัน ได้แก่ ฤคเวท สามเวท ยชุรเวท และอถรรพเวท แต่ละเวทยังแบ่งเป็นอีก 4 ส่วน ได้แก่ สังหิตา พระเวทดั้งเดิม และบทเสริมที่เชื่อว่าแต่งขึ้นภายหลังคือ พราหมณะ อรัณยกะ และ อุปนิษัท

คัมภีร์อุปนิษัท หรือเวทานตะ แปลว่า “ที่สุดแห่งพระเวท” เป็นส่วนที่แต่งขึ้นหลังสุด ปรัชญาจะแตกต่างไปจากส่วนอื่น ๆ โดยในทางศาสนา อุปนิษัทนับเป็นส่วนหนึ่งของพระเวท แต่ในทางปรัชญาต้องกล่าวว่าส่วนนี้แตกต่างจากส่วนอื่นที่แต่งก่อนอย่างชัดเจน เพราะพระเวทส่วนอื่น ๆ มักมุ่งเน้นความสำคัญของยัญพิธี หรือพิธีบูชายัญ การบวงสรวงด้วยการฆ่าสัตว์ถวายเทพเจ้าพร้อมเครื่องเซ่นสังเวย ขณะที่อุปนิษัทมุ่งอธิบายหลักความจริงสูงสุดหรือ พรหม ในลักษณะที่ว่าเป็น “ปฐมเหตุ” แห่งจักรวาล

ปรัชญาในคัมภีร์อุปนิษัทนี่เองคือ “รากฐาน” ของปรัชญาในภควัทคีตา โดยเฉพาะการอธิบายเกี่ยวกับวิญญาณกับร่างกาย เรื่องของพรหม กฎแห่งกรรม และการเวียนว่ายตายเกิด อุปนิษัทอธิบายว่า มนุษย์ทุกผู้นามมีส่วนที่เป็นอมตะ คือ “อาตมัน” ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นวิญญาณ (spirit) เพราะอาตมันไม่มีวันสูญสลายแม้ร่างกายสิ้นสภาพ

คำว่า ภควัทคีตา มาจากคำว่า “ภควัท” หมายถึง ผู้เป็นที่เคารพอย่างสูง หรือพระเป็นเจ้า รวมกับ “คีตา” แปลว่า บทเพลง จึงแปลได้ว่า บทลำนำแห่งทวยเทพ เป็นคำสอนที่พระเป็นเจ้าทรงประทานแก่มวลมนุษย์เพื่อนำทางให้พวกเขาได้เข้าถึงพระองค์นั่นเอง

“รบเถิดอรชุน” ปฐมบทแห่ง ภควัทคีตา

บทภควัทคีตาปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของภีษมบรรพในมหากาพย์ มหาภารตะ ตอนที่ พระกฤษณะ เทศนาเชิงปลุกใจให้ อรชุน ออกรบ เป็นบทลำนำที่ปลุกเร้าให้อรชุนฮึกเหิมและกระหายในการทำสงคราม 

สงครามในมหาภารตะ เป็นความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย คือฝ่ายเการพ (อธรรม) และปาณฑพ (ธรรมะ) ในนาทีวิกฤต อรชุนในฐานะตัวเอกฝ่ายธรรมะนำทัพประจันหน้ากับฝ่ายเการพ ซึ่งล้วนเป็นวงศาคณาญาติ และครูบาอาจารย์ของตนทั้งสิ้น ทำให้รู้สึกท้อใจที่ต้องมารบราฆ่าฟันกับญาติพี่น้องและอาจารย์ พระกฤษณะซึ่งทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถศึกให้อรชุน จึงแนะนำให้เขากล้าเผชิญหน้ากับฝ่ายอธรรมและองคาพยพทั้งปวง

คำสอนของพระกฤษณะในครั้งนั้นเองที่เรียกว่า “ภควัทคีตา”

พระกฤษณะในมหาภารตะไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป พระองค์คือร่างอวตารของ พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เป็นพระเป็นเจ้าในร่างมิตรและอาจารย์ของอรชุน รวมถึงเป็นที่พึ่งทางใจ ทำให้อรชุนมั่นใจว่า การประหัตประหารที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผ่านบทภควัทคีตา บทภควัทคีตาจึงถูกนักปรัชญาจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการส่งเสริมการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

พระกฤษณะเริ่มด้วยการชี้ให้อรชุนเห็นว่า มนุษย์ทั้งหลายประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณ (อาตมัน) แม้ร่างกายจะเน่าเปื่อยแต่วิญญาณเป็นอมตะ ไม่แตกสลาย ฆ่าก็ไม่ตาย วิญญาณเปลี่ยนร่างใหม่ดุจคนเปลี่ยนเสื้อผ้าอาภรณ์ ไม่ควรเศร้าโศกเสียใจหากญาติมิตรและอาจารย์ต้องล้มตาย เพราะวิญญาณของพวกเขามิได้สูญสลาย

พระกฤษณะเล่าถึงความสำคัญและหน้าที่ของวรรณะกษัตริย์ หรือนักรบ ตามคติของ ฮินดู อรชุนอยู่ในวรรณะกษัตริย์ ต้องทำหน้าที่ตามวรรณะของตน ไม่เช่นนั้นจะไม่ต่างจากการละทิ้งหน้าที่ เสียเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และกลายเป็นบาปติดตัว คนอื่น ๆ จะตราหน้าว่าเขาไม่รบเพราะความขลาดกลัว มิตรเลิกนับถือ ศัตรูหยามเหยียด อรชุนต้องรบ หากชนะเขาจะได้ครองโลก หากสิ้นชีพก็จะได้ไปสวรรค์

แต่พระกฤษณะทราบดีว่าโลกและสวรรค์ไม่ใช่ความปรารถนาของอรชุน จึงเสนอ “หนทางสู่ความหลุดพ้น” จากการเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ นั่นคือการเข้าถึงพระเป็นเจ้า เป็นอาตมันระดับ “ปรมาตมัน” หรือความสุขอันเป็นนิรันดร์

อันที่จริงปรัชญาที่พระกฤษณะถ่ายทอดแก่อรชุนคือการทำหน้าที่ต่อสังคมของมนุษย์ทั่วไป ในฐานะที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถูกบีบจากสังคมให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือประกอบกรรมตามบทบาทของตนเอง สำหรับอินเดียในยุคสมัยดังกล่าว สงครามคือเครื่องแสดงเกียรติยศของวรรณะกษัตริย์

ภควัทคีตาเน้นการกระทำที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงภายใต้แรงผลักดันของธรรมชาติหรือสังคม แม้คิดอยู่ในใจแต่ไม่กระทำด้วยกายก็นับว่าเป็นคนลวง หากกระทำโดยสำรวมไม่มุ่งหวังผลตอบแทนจะนับว่าเป็นคุณอย่างอเนกอนันต์ ควรประกอบกรรม (ตามหน้าที่) ประหนึ่งทำเพื่อเซ่นสังเวยแด่เทพเจ้า ไม่พะวงหรือผูกพันกับผล จะเป็นหนทางสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์ หรือการเข้าถึงพระเป็นเจ้า นี่คือสิ่งที่พระกฤษณะถ่ายทอดแก่อรชุน

ถ้าหากกรรม (ตามหน้าที่) นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูก ไม่ควร หรือเป็นกรรมชั่วล่ะ?

ผู้กระทำต้องสละความผูกพันอันจะเกิดจากผลของการกระทำ คิดเสียว่าแม้กระทำอยู่ก็เสมือนมิได้กระทำ… เพียงอุทิศการกระทำนั้นแด่พระเป็นเจ้า ด้วยวิธีคิดดังกล่าว เขาจะไม่แปดเปื้อนด้วยบาป “ดุจใบบัวไม่เปียกน้ำ”

ทางสู่ความ “หลุดพ้น” ในภควัทคีตามีหลายทาง แต่ทางแห่งการกระทำตามหน้าที่ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงความรู้ คือ รู้ว่าวิญญาณไม่สลายไปกับร่าง ความรู้เกี่ยวกับพระเป็นเจ้า ยิ่งหากรู้จักอวตารหรือผลงานของพระเป็นเจ้า ผู้นั้นจะไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก เมื่อตายแล้ววิญญาณจะไปถึงพระเป็นเจ้า แม้มีบาปก็จะข้ามไปถึงได้ด้วยญาณ ขณะเดียวกันผู้ที่ไม่รู้จักหรือสงสัยในพระเป็นเจ้าจะพบแต่ความทุกข์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ทั้งนี้ พระเป็นเจ้ามิได้ปรากฏพระองค์ให้ประจักษ์แก่สายตาใครง่าย ๆ

ระหว่างการเทศนาของพระกฤษณะ อรชุนยังขอดูร่างที่แท้จริงของพระองค์ด้วย พระกฤษณะต้องให้ตาทิพย์แก่เขา เพราะดวงตามนุษย์ไม่อาจแบกรับอานุภาพหรือมองร่างจริงของพระเป็นเจ้าได้ เมื่อร่างขององค์พระวิษณุปรากฏแก่สายตาของอรชุน พลันเขาได้เห็นทั้งจักรวาล เป็นความกว้างใหญ่ไพศาลไม่มีที่สิ้นสุดของพระเป็นเจ้า ทั้งแลเห็นนักรบแห่งสมรภูมิทุ่งกุรุเกษตร ลานประหัตประหารในวันนั้น พวกเขาเหล่านั้นกำลังกรูเข้าไปในปากอันน่าสะพรึงกลัวของพระเป็นเจ้าต่อหน้าต่อตาอรชุน

ภควัทคีตา พระกฤษณะ อรชุน มหาภารตะ
พระกฤษณะเผยร่างพระผู้เป็นเจ้าแก่อรชุน (ภาพโดย David Hague จาก Quora)

พระวิษณุอธิบายว่า พระเป็นเจ้าคือกาลเวลา คือผู้ทำลายล้างโลกและสรรพชีวิต แม้อรชุนจะไม่รบ นักรบฝ่ายอธรรมก็จะถูกทำลายล้างอยู่ดี แล้วบอกเขาว่า จงรบเสียเถิด รบเพื่อเกียรติยศ คว้าชัยชนะเหนือศัตรูเพื่อเสวยราชสมบัติอันมั่งคั่ง เพราะพวกเขาเหล่านั้นล้วนถูกสังหารด้วยพระเป็นเจ้า โดยมีอรชุนเป็นเครื่องมือเท่านั้น

ตอนนั้นเองที่อรชุนประจักษ์แก่ใจถึงบทบาทของตน แม้เขาจะหลีกหนีสงครามครั้งนี้ ผลจะเกิดแก่โลกอยู่ดี แต่หากทำตามหน้าที่ย่อมแสดงถึงศรัทธาที่มนุษย์มีต่อพระเป็นเจ้า อรชุนน้อมกายขอให้พระวิษณุอภัยต่อเขาดังเช่นบิดาอภัยต่อบุตร เพราะร่างแท้จริงของพระเป็นเจ้าทำให้เขาหวาดกลัวอย่างมาก จึงขอให้พระองค์กลับคืนร่างวิษณุ 4 กร

นี่คือคำอธิบายว่า เหตุใดพระเป็นเจ้ามิได้ปรากฏร่างแท้จริงแก่มนุษย์ เพราะร่างนั้นจะทำให้มนุษย์หวาดหวั่นจนทำอะไรไม่ถูก กล่าวได้ว่า อรชุนคือหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้เห็นพระเป็นเจ้าในร่างที่ทรงอานุภาพถึงเพียงนั้น

พระวิษณุชี้ให้เห็นต่อว่า พระเป็นเจ้ายังเป็นที่อยู่ของ “พรหม” ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ต้องการหลุดพ้นตามคัมภีร์อุปนิษัท คือมุ่งหลุดพ้นจากวัฏสงสารไปเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมที่ไร้รูปร่าง แต่พระเป็นเจ้านั้นสูงส่งกว่าพรหม และไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่กว่า เมื่ออรชุนได้สดับฟังลำนำภควัทคีตาจนจบก็สิ้นความสงสัย เกิดจิตใจมั่นคงไม่ลังเล แล้วตัดสินใจทำตามบัญชาของพระเป็นเจ้า คือรบกับศัตรู…

คุณค่าของ “ภควัทคีตา” คือการทำให้มนุษย์คลายความสงสัย ไม่มั่นใจ แล้วทำหน้าที่ของตนอย่างไม่ลังเลนั่นเอง แต่หลักการดังกล่าวมิได้ห้ามเชื่อในสิ่งใดนอกเหนือจากพระเป็นเจ้า เพราะชาวฮินดูยังเชื่อว่ามีหลายหนทางที่นำไปสู่ความหลุดพ้นได้ เพียงแต่ภควัทคีตาถูกยกย่องว่าเป็นหนทางแห่งความภักดีที่ยอดเยี่ยมที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. (2555). ศึกมหาภารตะ. กรุงเทพฯ : สยาม.

กฤษณไทวปายนวยาส รจนา อินทรายุธ แปล. (2522). ภควัทคีตาพร้อมภาคผนวก. กรุงเทพฯ : ศิวาลัย.

สยามคเณศ. ภควัทคีตา” หลักธรรมอันสูงสุดแห่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.siamganesh.com/BhagavadGita-00.html

ศรีสุรางค์ พูนทรัพย์. ภควัทคีตา : ปรัชญาสำหรับผู้ไม่พอใจสวรรค์. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566. จาก http://www.human.cmu.ac.th/courseonline/course/004233/pdf/doc08.pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566