ลัทธิทหารแบบฮินดูในอินเดีย ดูวิถีการรบโบราณ ถึงธรรมเนียมคร่าชีวิตในสงคราม

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาดพระรามออกศึก ภาพจากปลายศตวรรษที่ 18 ภาพจาก Pahari School Chamba Style / Wikemedia

อินเดียในยุคโบราณเป็นอีกหนึ่งอารยธรรมที่ส่งอิทธิพลต่อโลกในเวลาต่อมา หากพูดถึงในเชิงปรัชญาการเมืองแล้ว นักวิชาการยอมรับว่า อินเดียไม่มีปรัชญาทางการเมืองอย่างเป็นทางการ แต่อินเดียยังมีองค์ความรู้โบราณที่เอ่ยถึงเรื่องการปกครองสำคัญอันว่าด้วยเรื่องทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการทำสงคราม

ในอินเดียโบราณมีหนังสือที่ว่าด้วยความคิดทางการเมือง หรือศาสตร์แง่รัฐประศาสนโยบายที่ถูกแต่งขึ้นหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น “ศานติ ปารวัน” ส่วนหนึ่งจาก “มหาภารตะ” ที่รวบรวมข้อความว่าด้วยรัฐประศาสนโยบายมาใส่ในเนื้อหา “นีติสาระ” ตำราทางการเมืองของกามันทกะ ที่เชื่อว่าอาจเขียนขึ้นในสมัยคุปตะ หรือ “ทัณฑนีติ” ว่าด้วยเรื่องการจัดการด้วยกำลัง หรือ “ราชนีติ” ซึ่งเป็นเรื่องเชิงข้อปฏิบัติของกษัตริย์

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาก็ไม่ได้ให้น้ำหนักในเชิงปรัชญาการเมืองมากนัก เอแอล บาชาม (A.L. Basham) ศาสตราจารย์ด้านอารยธรรมเอเชีย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย อธิบายว่า หนังสือเล่มสำคัญและเก่าแก่ที่สุดว่าด้วยเรื่องรัฐประศาสนโยบายคือ “เกาฏิลยะ อรรถศาสตร์”

ตำราที่ว่านี้เป็นหนังสือจารึกข้อมูลหลากหลายด้านสะท้อนทัศนคติในช่วงปลายของยุคคัมภีร์พระเวท และถูกมองว่ามีคุณค่ามากที่สุดในหลากหลายแง่เกี่ยวกับชีวิตในอินเดียโบราณ เนื้อหาว่าด้วยผู้คนอินเดียสมัยศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์กาล และระบุข้อแนะนำครอบคลุมด้านการปกครองควบคุมโดยรัฐ การจัดการเศรษฐกิจ และการทำสงคราม ที่มาของตำราเล่มนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเขียนในสมัยใด บางกลุ่มชี้ว่าเป็นของเกาฏิลยะ เสนาบดีของพระเจ้าจันทรคุปตะแห่งเมารยะ (มีชื่อเรียกหลากหลาย อาทิ จาณักยะ และวิษณุคุปตะ) บาชาม แสดงความคิดเห็นว่า ต้นฉบับของตำราอรรถศาสตร์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันไม่ใช่งานของเกาฏิลยะ

ในยุคอินเดียโบราณ แนวคิดเรื่องสงครามไม่ได้ถูกมองในแง่ลบเท่าไหร่ วรรณกรรมอินเดียก็ไม่ค่อยพบเห็นการประฌามสงครามกันมากนัก ในพระสูตรของพุทธศาสนาก็ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องผลลบของสงครามมากนัก นอกเหนือจากเรื่องราวของพระพุทธเจ้าซึ่งมีในธรรมบท พระดำรัสของพระพุทธเจ้า บรรยายเรื่องในเหตุการณ์เมื่อครั้งพระองค์เสด็จออกห้ามทัพในสงครามระหว่างเครือญาติของเผ่าศากยะกับโกลิยะ และเกลี้ยกล่อมหว่านล้อมให้ปรองดองกัน ความคิดเห็นของนักวิชาการมองว่า อินเดียยุคโบราณอาจมีเพียงพระเจ้าอโศกที่ไม่เห็นงามกับเรื่องการรุกราน

เมื่อมาถึงยุคหลังราชวงศ์เมารยะไปแล้ว กษัตริย์มีแนวคิดเกี่ยวกับรัฐอีกแบบ ตำราอรรถศาสตร์บรรยายการพิชิตไว้ 3 รูปแบบ คือ โดยคุณธรรม กษัตริย์ผู้แพ้ถูกบังคับให้ปวารณาตัวในเขตแดนเฉพาะและจ่ายบรรณาการ, โดยความโลภ เมื่อได้ชัยชนะก็สามารถเรียกสินสงครามมากมายได้ และโดยอสูร กล่าวถึงการทำลายล้างรากฐานการเมืองอาณาจักรของฝ่ายตรงข้ามอย่างสิ้นซาก (ภาษาสันสกฤต เขียนว่า ธรรมวิชัย, โลภะวิชัย และอสูรวิชัย) แนวคิดเกี่ยวกับการทำสงครามเพื่อบารมีและขอบเขตดินแดนเริ่มกลับมาสำคัญมากขึ้น และการพิชิตโดยคุณธรรมส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่กษัตริย์ฮินดูควรเอาอย่าง

ในเรื่องการรบนั้น คัมภีร์อรรถศาสตร์เอ่ยถึงการเกณฑ์ทหารในรูปแบบให้หมู่บ้านส่งทหารให้เป็นส่วย แต่ไม่ค่อยพบเห็นในช่วงยุคพระเวทตอนต้น ซึ่งตามธรรมเนียมชนเผ่าแล้ว อิสระชนต้องเป็นทหาร แต่หลังจากราชวงศ์เมารยะเป็นต้นมาก็ไม่พบเห็นหลักฐานการเกณฑ์ทหารในแคว้นใหญ่

สำหรับกองทัพในยุคอินเดียโบราณมีหลากหลายประเภท แต่บาชาม จำแนกโดยรวมออกมาได้เป็น 6 ประเภท คือ กองทหารอาชีพ, กองทหารรับจ้าง, กองทหารจากฝ่ายพันธมิตร, กองทหารจากฝ่ายที่หนีทัพของข้าศึก, กองทหารจากความร่วมมือกันในสมาคม และกองทหารชนเผ่าที่ใช้รบสงครามแบบกองโจรในป่าและหุบเขา

อินเดียโบราณแบ่งหมวดหมู่กองทัพเป็น 4 เหล่า คือช้าง, ม้า, รถรบ และพลราบ (หากแยกย่อยไปอีกก็มีนาวี สายลับ เกียกกาย ได้เช่นกัน)

กองทัพช้างของอินเดียเคยเป็นกองทัพที่ทรงประสิทธิภาพและน่าเกรงขาม ในพระสูตรพุทธศาสนาเอ่ยถึงการนำช้างมาใช้ในการรบโดยครั้งแรกนั้นกล่าวถึงกองทัพช้างของพระเจ้าพิมพิสาร แคว้นมคธที่มีทัพช้างทรงประสิทธิภาพ การทำงานของทัพช้างเทียบเคียงได้กับกองรถถังในการรบสมัยใหม่ สามารถตะลุยและทำลายแถวพลทหารราบ หรือสิ่งกีดขวางต่างๆ อย่างไรก็ตาม ทัพช้างอินเดียก็ถูกกองทัพกรีก และอีกหลายชนชาติทำลายลงได้เช่นกันด้วยวิธีใช้ไฟรบกวน หรือวิธีอื่นๆ

ในเรื่องอาวุธอินเดียยุคโบราณ พวกเขามีเครื่องยิงขีปนาวิถีอย่างเครื่องดีดกระสุน ค้อนเหวี่ยง ไปจนถึงเครื่องมือทำสงครามปิดล้อมและทำลายเมือง ตำราอรรถศาสตร์ยังพูดถึงแง่การบริหารจัดการและปกครองกองทัพ ไปจนถึงเรื่องการใช้ยุทธภัณฑ์ แม้แต่แนะนำให้นำอาวุธไฟมาใช้ บอกสูตรการประกอบเชื้อไฟ และเสนอให้ใช้นกหรือลิงนำเชื้อปะทุไปเผาหลังคาข้าศึก ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้ทำให้เห็นว่าเชื้อไฟที่เอ่ยถึงยังไม่จัดอยู่ในจำพวกดินปืน

ดังที่กล่าวแล้วว่าคัมภีร์อรรถศาสตร์ครอบคลุมรายละเอียดหลายด้าน ในแง่การรบ ตำราให้คำแนะนำและรายละเอียดเรื่องเตรียมการรบไว้มากมาย เช่นเดียวกับเรื่องวินัยทหารซึ่งตำราเสนอให้ใช้อย่างเข้มงวด ต้องตรวจตรา และป้องกันพื้นที่อย่างเต็มที่ เสนอให้ใช้รหัสผ่านทางด้วยซ้ำ บาชาม บรรยายเรื่องที่พักพลของกองทัพอินเดียโบราณว่า จะพักพลในค่ายขนาดใหญ่ หากจะว่าตามความเป็นจริงแล้วที่พักคล้ายกับ “เมืองชั่วคราว” เสียมากกว่า เป็นทั้งเขตที่อยู่ของกษัตริย์ ฮาเร็มของกษัตริย์ และเขตที่อยู่ของทั้งพ่อค้า โสเภณี โดยกษัตริย์และบุคคลระดับหัวหน้าจะนำครอบครัวติดไปในการรบด้วย จะคัดเลือกทั้งสนม ภรรยา ขณะที่ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ทำเช่นเดียวกัน

คติของชาวอินเดียโบราณถือว่าการสงครามเป็นพิธีกรรมทางศาสนาอันยิ่งใหญ่ ก่อนการรบต้องเตรียมการหลายด้านรวมไปถึงการให้ฤกษ์จากพราหมณ์ มีพิธีชำระล้างความบริสุทธิ์ แต่ยังไม่เว้นสอดแทรกเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างเวทมนตร์คาถาไว้

สิ่งที่น่าสนใจซึ่งไม่พบในคัมภีร์โบราณคือเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรีของเหล่าทหาร เรื่องเหล่านี้มาพบในตำราชั้นหลังๆ ในบรรดาคติเรื่องทหาร กฎเกณฑ์ในการออกทำสงครามบรรยายเรื่องการหนีทหารเป็นสิ่งที่น่าอับอายที่สุด ทหารที่ถูกฆ่าในระหว่างการรบจะขึ้นสวรรค์ทันที ต่างกับทหารที่ถูกฆ่าด้วยข้อหาหนีทหารซึ่งต้องแบกมลทินไปชาติหน้าด้วย บาชาม อธิบายว่า กฎเกณฑ์เหล่านี้ถูกอธิบายรวมอยู่ในคำว่า “ชอฮาร์” หรือการฆ่าตัวตายเพื่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเอง เป็นธรรมเนียมว่าด้วยการฆ่าตัวตายหมู่ ซึ่งมักพบเห็นได้ในกษัตริย์ในยุคกลางที่จะเผาตัวตายพร้อมป้อมปราการในการสู้รบ ขณะทหารกำลังต้านทานศึกเอาไว้

บาชาม แสดงความคิดเห็นว่า บันทึกและตำราต่างๆ ทำให้เห็นทั้งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสงครามซึ่งล้วนเป็นจุดอ่อนในการปกครองอินเดียโบราณ ในช่วงนั้นไม่มีอาณาจักรอินเดียที่สามารถสร้างอาณาจักรขนาดใหญ่ได้ และไม่สามารถรวมตัวจับมือกันอย่างแน่นแฟ้นเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ อินเดียไม่สามารถต้านทานการรุกรานของกลุ่มเติร์ก อันเป็นกลุ่มชนที่ไม่ยึดติดกับแนวคิดทฤษฎีว่าด้วยขนบธรรมเนียมโบราณ


อ้างอิง: 

Basham, A.L.. อินเดียมหัศจรรย์. กาญจนี ละอองศรี บรรณาธิการแปล. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2559


เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2562