“ขนมแชงมา” ขนมไทยโบราณ สรุปแล้วคือขนมอะไร ได้ชื่อมาจาก “ท้าวทองกีบม้า” ?

ท้าวทองกีบม้า
ภาพ : Instagram susiroo

“ขนมแชงมา” บางคนเรียกว่า “ขนมแชงม้า” บ้างก็เรียกว่า “ขนมแฉ่งม้า” เป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง จากการสันนิษฐานของนักวิชาการและบุคคลทั่วไปเชื่อว่า ขนมหวานชนิดนี้น่าจะเป็น “ขนมปลากริมไข่เต่า”, “ขนมเหนียวเปียก” หรือ “ขนมหม้อแกง” ส่วนเรื่องชื่อขนมก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่นับไม่ถ้วน แต่ที่เห็นว่าน่าเชื่อถือมากที่สุดคือมาจากชื่อ “ท้าวทองกีบม้า” สตรีผู้ให้กำเนิดขนมหวานไทยสมัยอยุธยา

ขนมแชงมา เป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง ที่มีการถกเถียงกันมานานถึงตัวตนแท้จริงว่า เป็นขนมไทยชนิดใดกันแน่ เนื่องจากไม่มีหลักฐานประจักษ์จนสามารถตัดสินได้เหมือนขนมชนิดอื่น โดยนักวิชาการคาดว่า ขนมแชงมาน่าจะเป็นขนม 3 ชนิดนี้

1. ขนมปลากริมไข่เต่า 

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเข้าใจว่า ขนมแชงมาคือปลากริมไข่เต่า เหตุที่เชื่อดังนี้ อาจเป็นเพราะข้อมูลที่ปรากฏอยู่ใน “พจนานุกรมฉบับของบริษัท แพร่พิทยาวังบูรพา พ.ศ. 2507” ว่า ขนมแชงมาก็คือ ขนมปลากริมไข่เต่า

อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข้อสันนิษฐานของ “ส.พลายน้อย” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553 ที่อ้างอิงบันทึกของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้แต่งหนังสือเรื่อง “แม่ครัวหัวป่าก์” ซึ่งเขียนว่า เคยได้ยินขนมชนิดนี้มาจากกลอนกล่อมเด็ก แต่เมื่อสอบถามผู้ใหญ่หลายท่านก็ไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน จนวันหนึ่งอุบาสิกาเนยแห่งวัดอมรินทร์ ได้ทำขนมปลากริมกับขนมไข่เต่ามาให้ท่านผู้หญิง เมื่อสอบถาม ก็ได้คำตอบว่า หากรวมขนมสองชนิดนี้มาไว้ด้วยกันก็จะกลายมาเป็น “ขนมแชงมา”

ส.พลายน้อย ยังตั้งข้อสังเกตว่า ขนมแชงมาน่าจะทำในหม้อแกง (หม้อมีหู 2 ข้าง ทรงป้อมกลม ส่วนใหญ่ไว้ใช้กวนขนมหรือผิงไฟให้ขนมอบหอม) ตามเนื้อเพลงกล่อมเด็กที่ปรากฏด้านล่าง ไม่น่าจะเอามาใส่ถาดปิ้ง

“โอละเห่โอละหึก   ลุกขึ้นแต่ดึกทำขนมแชงมา

ผัวก็ตีเมียก็ด่า   ขนมแชงมาก็คาหม้อแกง”

2. ขนมเหนียวเปียก

ไม่ค่อยปรากฏว่า ขนมแชงมาคือขนมเหนียวเปียกเท่าไหร่นัก เพราะส่วนใหญ่คนน่าจะคุ้นชินว่า ขนมแชงมาน่าจะเป็น “ขนมปลากริมไข่เต่า” และ “ขนมหม้อแกง” มากกว่า 

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนสันนิษฐานว่า อาจจะมาจากขนมเหนียวเปียกก็เป็นได้

ข้อสนับสนุนที่ทำให้เกิดความคิดนี้ขึ้น เริ่มต้นมาจากข้อความที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ. 2547 ซึ่งให้ความหมาย “แชงมา” ว่า เป็นขนมชนิดหนึ่งทำจากข้าวเหนียวต้มน้ำตาล 

ทั้งยังมีหลักฐานจากชาวบ้าน ตำบลโพหัก อำเภอบางแพร จังหวัดราชบุรี และตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยชาวบ้านให้ข้อมูลว่า ขนมแชงมาเป็นขนมที่ชาวบ้านเรียกกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ซึ่งขนมชนิดนี้ทำมาจากข้าวเหนียวต้มกับน้ำตาล 

3. ขนมหม้อแกง

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่มาแรงแซงทางโค้งไม่ต่างจากปลากริมไข่เต่า มีต้นตอมาจากบทกลอนกล่อมเด็กตามที่ได้ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นแล้วเช่นกัน 

ในกลอนปรากฏท่อนที่ว่า “ลุกขึ้นแต่ดึกทำขนมแชงมา” จากตรงนี้จึงทำให้หลายคนคิดว่า ขนมเชียงมาน่าจะเป็นขนมหม้อแกงที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ซึ่งทำมาจากไข่ แป้ง และกะทิ เป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากขนมชนิดนี้น่าจะทำยาก ชาวบ้านจึงต้องลุกขึ้นมาทำตั้งแต่ดึก ๆ เพื่อนำมาใส่บาตร ซึ่งสมัยก่อนขนมที่มักนำไปใส่บาตรมักจะเป็นขนมแห้ง ๆ ห่อใบตอง เหน็บด้วยไม้กลัด ไม่บูดง่าย เช่น ขนมชั้น ขนมตะโก้ รวมไปถึง ขนมหม้อแกง 

นอกจากนี้ยังมีท่อนที่ร้องว่า “ขนมแชงมาก็คาหม้อแกง” จึงทำให้คิดว่า ขนมแชงมาน่าจะเป็นขนมชนิดดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าตัวตนแท้จริงของ “ขนมแชงมา” คือสิ่งใด?

ส่วนชื่อขนมแชงมา ก็มีที่มาหลากหลายไม่ต่างจากตัวตนของมันเลยด้วยซ้ำ เช่น มาจากภาษามอญ ภาษาเขมร แต่ที่น่าสนใจและดูน่าเชื่อถือน่าจะเป็นที่มาจาก ภาษาฝรั่งเศส และเป็นชื่อของ “ท้าวทองกีบม้า” ดังที่ปรากฏอยู่ในบทความ “เพลงกล่อมเด็กกับขนมแชงมา” ของ รองศาสตราจารย์ อุดม พรประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์ปราจีนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ปราจีนบุรี ว่า

“แต่ที่น่าสนใจ ผู้เขียนค่อนข้างจะปักใจเชื่อ คือ ภาษาฝรั่งเศส มีคำว่า เชอวัล (Cheval) ซึ่งแปลว่า ม้า คำคำนี้มีความหมายไปตรงกับชื่อของท้าวทองกีบม้า ซึ่งเป็นลูกครึ่งฝรั่งผู้ทำขนมอยู่ในวัง และเคยทำขนมถวายพระนารายณ์ เพื่อต้อนรับทูตฝรั่งเศส

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การเรียกขนมชนิดหนึ่งในขณะนั้น อาจเรียกชื่อตามชื่อผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้เกียรติ ท้าวทองกีบม้า และคำว่า เชอวัล ก็แปลว่าม้า คำว่า เชอ อาจกลายเป็นแชง แล้วเอาชื่อของท้าวทองกีบม้า ซึ่งชื่อเดิมว่า มารี กีมาร์ มาผสมกันเข้า แล้วเรียกตามสำเนียงไทยว่า แชงมา ตั้งชื่อขนม แล้วเรียกชื่อนี้สืบกันมา

หมายเหตุ : จัดย่อหน้าและเน้นคำในเครื่องหมายคำพูดโดยผู้เขียน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://so01.tci-thaijo.org/index.php/damrong/article/view/21024


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2566