ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“สัปเหร่อ” เป็น ภาพยนตร์ ไทยที่มาแรงแซงโค้งมากที่สุดในขณะนี้เลยก็ว่าได้ เพราะเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ หนังเรื่องนี้กวาดรายได้ไปกว่า 200 ล้านบาท โดย “สัปเหร่อ” เป็นผลงานเรื่องล่าสุดในจักรวาล ไทบ้านเดอะซีรีส์ รังสรรค์ผลงานโดย “ต้องเต ธิติ ศรีนวล” ผู้กำกับมากความสามารถ ที่ดูแลมิวสิกวิดีโอเพลงชื่อดังและภาพยนตร์มามากมายนับไม่ถ้วน อย่าง กอดเสาเถียง-ปรีชา ปัดภัย (พ.ศ. 2562), ขวัญเอยขวัญมา-ปาล์มมี่ (พ.ศ. 2563) และไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ (พ.ศ. 2563) ฯลฯ
โดย ภาพยนตร์ เรื่องนี้จะพาทุกคนย้อนไปสัมผัสเรื่องราวของ “เซียง” ชายหนุ่มชาวอีสานผู้เผชิญกับรักที่ผิดหวัง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต อย่างการเริ่มต้นทำงานเป็นสัปเหร่อ ซึ่งเป็นอาชีพที่แม้แต่ตัวเซียงเองก็ยังหวาดกลัว
จากบทหนัง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่อาจยังไม่เข้าใจถึงความเป็นสัปเหร่อ ที่เกี่ยวพันกับปลายทางของชีวิตอย่าง “ความตาย” ทว่าอาชีพนี้กลับเป็นอาชีพสำคัญที่ขาดไม่ได้ในสังคมไทย เพราะมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คน
“สัปเหร่อ” คำนี้มีที่มาจากหลากหลายข้อสันนิษฐาน ในหนังสือ “ประเพณีเนื่องในการตาย” ของ เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) กล่าวถึงคำว่าสัปเหร่อไว้ว่า “เขมรออกเสียงคำว่าสัปบุรุษว่าสัปเรอ คำเดียวกันกระมัง ถ้าใช้ก็เป็นเกียรติแก่สัปเหร่ออยู่เพราะปลงตก” หรือแปลความหมายได้คร่าว ๆ ว่า สัปเหร่อนี้น่าจะมีรากศัพท์มาจากภาษาเขมร คือ สัปเรอ ซึ่งคำนี้ก็รับมาจากภาษาบาลีอีกทีหนึ่ง
ด้าน “บันทึกด้านความรู้ต่าง ๆ เล่ม ๓” ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัดติวงศ์ พูดถึงคำว่าสัปเหร่อไว้ว่า คำนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ คาดเดาว่ามาจากคำว่า “สัปรุส” เมื่อวันเวลาผ่านไปจาก สัปรุส ก็กลายเป็น สัปรุะ และเป็น เรอะ ในที่สุด ดังที่ปรากฏว่า “คำ สัปเหร่อ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ เดาว่า คือ สัปรุส ทางเขมรอ่านออกเสียงคำที่มีตัว ส ข้างท้ายเปนวิสัญชนี เช่น สัปรุส ก็เปน สัปรุะ แล้ว รุะ อาจเปน เรอะ ไปได้โดยง่าย”
อาชีพนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีจุดเริ่มต้นแท้จริงเมื่อใด ทว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏตำแหน่ง “ขุนกะเฬวราก” หรือบางคนเรียกว่า “นายป่าช้า” บ้างก็เรียกว่า “สัปเหร่อ” มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อปลงศพ และจัดการความสยดสยองของบุคคลสิ้นลมหายใจให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น
หลังจากสยามเริ่มปฏิรูปให้บ้านเมืองเข้าสู่ความทันสมัยเยี่ยงต่างชาติ เหล่าเจ้านายต่างปรับตัวและรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามายิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว อาหาร รวมไปถึงจัดการความเรียบร้อยในเรื่องศพ ซึ่งพ่วงมาด้วยความเชื่อที่ว่าศพคือ “ความอุจาด” ทำให้จากเดิมที่มักจะทิ้งซากศพไว้ไม่เป็นที่ทาง โยนให้เหล่านก กา หมา กัดกินได้ตามใจชอบ ก็สั่งการให้รัฐสยามเข้ามาจัดการ
ทว่าประชาชนทั่วไปต่างยังมองว่า การวางศพไร้ญาติหรือบุคคลที่เสียชีวิตไว้ตามถนนหนทางถือเป็นเรื่องปกติและไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด จึงทำให้ทางการได้รับจดหมายเกี่ยวกับศพไร้ญาติเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง เช่นที่ขุนนครภักดีอำเภอได้ยื่นรายงานการพบซากศพในท้องที่ตำบลบางลำภู ว่า
“วันที่ ๒๒ เมษายน ๑๑๕ เวลาเช้าโมงเสศ นายช่วงซรึ่งตั้งบ้านอยู่ริมตภานเหล็กบางลำภูแจ้งความว่า ชายมีชื่อมานอนตายอยู่ที่ศาลาน้ำน่าบ้าน นายช่วง ขุนนครภักดีอำเภอพร้อมด้วย นายพิมสัปเหร่อ นายช่วงเจ้าฃองบ้าน ชัณสูตรศพชายมีชื่อที่ตายมีร่างกายซูบผอมอายุประมาณ ๒๕ ปี ไม่มีบาดแผลฟกช้ำเขียวแห่งหนึ่งแห่งใด แลได้สอบถามชาวบ้านพระสงฆ์ได้ความแต่พระสงฆ์วัตสังเวชแจ้งว่า ชายมีชื่อคนที่ตายนี้เปนคนเที่ยวฃอทานมานอนป่วยอยู่ที่ศาลาน่าวัตสังเวชได้ ๒ ๓ เวลา ครั้นวันที่ ๒๒ เมษายน ๑๑๕ ชายมีชื่อมานานฃาดใจตายอยู่ศาลาน่าบ้านนายช่วง”
ศพไร้ญาติที่ระเกะระกะไปมานี้ เรียกได้ว่าเป็นปัญหาให้แก่รัฐสยามอย่างมาก เพราะชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาค้าขายหรืออยู่อาศัยต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คือความอุจาดและสยดสยองของสยาม ทั้งยังออกข่าวอึกทึกครึกโครมตามหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อให้บ้านเมืองเจริญหูเจริญตามากยิ่งขึ้น จึงทำให้ “ขุนกะเฬวราก” ต้องเข้ามาทำหน้าที่จัดการความสยดสยอง
โดยขุนกะเฬวรากมีหน้าที่หลักคือ เป็นผู้ดูแลและควบคุมการปลงศพไร้ญาติ ซึ่งได้รับข้อมูลมาจากหน่วยตระเวนที่เข้าไปพบและทางราษฎรเรียกร้องมา รวมไปถึงจัดการปลงศพให้กับราษฎรที่ไม่ค่อยมีฐานะมากนัก ซึ่งชาวบ้านจะต้องนำศพญาติตนเองมาไว้ที่วัดสระเกศ และรัฐบาลจะออกเงินช่วยเหลือให้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้บ้านเมืองศิวิไลซ์มากยิ่งขึ้น
แม้ว่าหน้าที่การปลงศพจะเป็นของขุนกะเฬวรากทั้งหมด ทว่ายังมีบางหน้าที่ที่นายป่าช้าไม่สามารถจัดการได้ อย่างในบางกรณี การที่ขุนกะเฬวรากจะปลงศพได้ จะต้องผ่านการพิจารณาและต้องได้รับใบอนุญาตจากมรรคนายกของวัดเสียก่อน
นอกจากนี้ ขุนกะเฬวรากยังไม่สามารถปลงศพได้โดยพลการ เพราะขัดกับ “กฎหมายตราสามดวง” ที่ไม่อนุญาตให้ราษฎรขนย้ายซากศพข้ามเขตแดน
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้การทำงานของขุนกะเฬวรากในขณะนั้นอาจยังมีลักษณะไม่เป็นทางการและไม่มีประสิทธิภาพมากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งนี้เป็นรากฐานสำคัญทำให้รัฐสยามตระหนักกับการปลงศพมากยิ่งขึ้น
กระทั่ง พ.ศ. 2460 รัฐสยามได้ประกาศใช้ “กฎหมายเสนาบดีกระทรวงนครบาลว่าด้วยป่าช้าแลนายป่าช้า” ซึ่งทำให้ “นายป่าช้า” มีหน้าที่ในการจัดการศพอย่างเป็นทางการ และกลายมาเป็นอาชีพที่เรารู้จักกันจนถึงตอนนี้
แม้ปัจจุบันผู้คนที่ประกอบอาชีพ “สัปเหร่อ” จะลดลงไปอย่างมาก เนื่องจากความหวาดกลัว ความเชื่อ หรือเทรนด์ ฯลฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สัปเหร่อยังเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะในทุก ๆ วันจะมีคนเสียชีวิต และคนที่จะเข้ามาเชื่อมโยงระหว่างคนเป็นกับคนตาย ก็คือ “สัปเหร่อ” นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- ขุนกะเฬวราก-นายป่าช้า ที่รัฐบาลแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้ดูแลจัดการศพ
- เปิดบันทึกกองตระเวนสมัย ร. 5 ทำอย่างไรกับ “ศพไร้ญาติ” ก่อนส่งไปวัดสระเกศ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์. รัฐสยดสยอง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.
https://www.matichon.co.th/entertainment/news_4233322
www.dailynews.co.th/news/2814670/
https://www.majorcineplex.com/movie/sup-pa-rer
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2566