แรงงานไทย ไปทำงานในตะวันออกกลางกันตั้งแต่เมื่อไร

แรงงานไทย เกษตร อิสราเอล
แรงงานไทยในอิสราเอลส่นใหญ่เป็นแรงานในภาคเกษตร

แรงงานไทย เริ่มไปทำงานต่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2513 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ และเป็นการเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง ส่วนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศที่ผ่านการอนุญาตของหน่วยงานรัฐ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2516

การเดินทางไปทำงานใน “ตะวันออกกลาง” ของแรงงานไทย เกิดขึ้นเมื่อปี 2518 ขณะนั้นตะวันออกกลางมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเป็นประเทศผู้ค้าน้ำมัน (OPEC) เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นจากน้ำมัน รัฐก็เริ่มโครงการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ความต้องการแรงงานจำนวนมากเกิดขึ้น ตามมาด้วยการเข้าไปของแรงงานต่างชาติ

รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเวลานั้นกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารออกจากไทย แรงงานจำนวนมากที่ทำงานเกี่ยวข้องในส่วนนี้ก็ว่างงานลงทันที

ที่ผ่านมา ตลาดสำคัญของแรงงานไทย แบ่งเป็นภูมิภาค ได้ดังนี้

1. เอเชียตะวันออก ได้แก่ ไต้หวัน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง ฯลฯ แรงงานไทยส่วนใหญ่ไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และก่อสร้าง โดยไต้หวันเป็นสถานที่ที่แรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด

2. ตะวันออกกลาง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์, คูเวต, บาห์เรน ฯลฯ ที่ต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง โรงงานนิวเคลียร์, ภาคบริการ ไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานต่างชาติ การแข่งขันด้านแรงงานสูง โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ส่วน “อิสราเอล” มีแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง

3. สหภาพยุโรป/ทวีปยุโรป ส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาการว่างงานภายในประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงไม่มีนโยบายรับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานมากนัก และยังมีการกำหนดนโยบายกีดกันแรงงานต่างชาติอีกด้วย แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ เช่น พ่อครัวแม่ครัวไทย พนักงานนวดแผนไทย ฯลฯ

4. ทวีปอเมริกา เผชิญปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป คืออัตราการว่างงานสูง ไม่มีนโยบายนำเข้าแรงงานไร้ฝีมือ อนุญาตเฉพาะแรงงานฝีมือให้เข้าไปทำงานเท่านั้น ส่วนแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงาน มักเข้าไปในตำแหน่งพ่อครัว/แม่ครัว พนักงานบริการต่าง ๆ ในร้านอาหารไทย ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบทำงาน ที่เรียกกันว่า “โรบินฮู้ด”

สถิติเมื่อปี 2565 มีแรงงานไทยแจ้งความประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวน 136,455 คน โดยภูมิลำเนาของแรงงานไทยในต่างประเทศ มาจาก 5 จังหวัด เรียงลำดับ ดังนี้ อุดรธานี, นครราชสีมา, เชียงราย, ขอนแก่น และนครพนม อาชีพที่ไปทำมากที่สุด คือ การเกษตร และประมง  ส่วนประเทศที่แรงงานไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. เกาหลีใต้ 2. อิสราเอล 3. ไต้หวัน 4. ญี่ปุ่น 5. ออสเตรเลีย

แรงงานไทย ในอิสราเอล ข้อมูลปี 2565 มีแรงงานไทยได้รับอนุญาตไปทำงาน เฉพาะการเดินทางครั้งแรก จำนวน 8,265 คน (คิดเป็น 90.03% ของจำนวนแรงงานไทยใน “ตะวันออกกลาง” ทั้งหมด 9,180 คน) ประกอบอาชีพด้านการเกษตร และประมง 8,101 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อุดรธานี, เชียงราย, นครพนม, นครราชสีมา และสกลนคร

ภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล ว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรอิสราเอล กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำท้องถิ่นรายเดือน 5,300 เชคเกล หรือประมาณ 49,200 บาท (1 เชคเกล ประมาณ 9.3 บาท) ต่อการทำงานเต็มเวลา 186 ชั่วโมง

แม้แรงงานไทยส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานพื้นฐาน แต่จำนวนเงินที่ส่งกลับมาไม่ใช่เรื่องที่จะข้ามได้

ข้อมูลจาก เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไปต่างประเทศ (www.doe.go.th) อ้างอิงตามธนาคารแห่งประเทศไทย (ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2566) ประมาณการรายได้ที่แรงงานไทยในต่างประเทศส่งกลับ โดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย ปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) รวมทั้งสิ้น 243,423 ล้านบาท

ส่วนสาเหตุการไปขายแรงงาน คงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง

เพราะแรงงานไทยในต่างแดน ส่งเงินกลับบ้านเดือนละหลักหมื่น เพื่อให้คนในครอบครัวอยู่สบาย และเพื่อเก็บเงินตั้งตัว คงเป็นไปไม่ได้ถ้าทำงานประเภทเดียวกันที่เมืองไทย

พวกเขาจึงเลือกไปสู้ในต่างแดน ไปตายเอาดาบหน้า 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน. ยุทธศาสตร์การบริหารการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ. 2560-2564.

อาจารย์ชไมพร รุงฤก์ฤทธิ์ และคณะ. ความคุ้มค่าของการส่งเสริมแรงงานไทยไปต่างประเทศ. โครงการวิจัยประจำปีงบประมาณ 2550 สถาบันทรัพยากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

กลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาระบบการไปทำงานในต่างประเทศ กองบริหารแรงงานไปต่างประเทศ กรมจัดหางาน. สรุปสถานการณ์การไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทย ประจำปี 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ตุลาคม 2566