
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ห้างแบดแมน” (HARRY A. BADMAN & CO.) ก่อตั้งโดยนายแบดแมน ชาวอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2422 นายแบดแมนไม่ใช่พ่อค้าหน้าใหม่ในสยาม แต่เดิมเคยเป็นหุ้นส่วนของนายแรมเซย์เพื่อนร่วมชาติจากห้างแรมเซย์นั่นเอง

ห้างนี้ตั้งอยู่ใกล้กระทรวงกลาโหม เติบโตขึ้นเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีสินค้านำเข้าทุกชนิดทั้งจากยุโรปและอเมริกา แถมยังมีร้านตัดเสื้อผ้าและเครื่องแบบนายทหารอยู่ภายในห้างอีกด้วย มีชื่อเสียงโด่งดังมากในหมู่ขุนนางและแวดวงคนชั้นสูงในสมัยรัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงทำพิธีเปิดอาคารห้างใหม่ของนายแบดแมนด้วยพระองค์เองในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2450 ห้างแบดแมนดำเนินกิจการไปจนตลอดรัชกาลที่ 5 ต่อมานายแบดแมนก็เกษียณอายุแล้วกลับไปเปิดร้านชื่อเดียวกันที่บ้านเกิดในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ภายหลังห้างเลิกกิจการ ได้ใช้เป็นตึกกรมโฆษณาการในสมัยประชาธิปไตยในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎร์ พัฒนาเป็นสำนักงานโฆษณาการ กรมโฆษณาการ และกรมประชาสัมพันธ์
และต่อมาได้ถูกรื้อถอนไปหมด ปัจจุบัน (2560) ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นลานจอดรถกองสลาก
อ่านเพิ่มเติม :
- เบื้องหลังซื้อขาย “วังบูรพา” จากวังสู่ห้าง มรดกทำเลทองย่านการค้ากลางกรุงที่จำต้องขาย
- เบื้องหลังภาพ “ห้างแรมเซย์” ห้างไฮโซเก่าแก่ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5
- แรกมี “บันไดเลื่อน” ที่ห้างสรรพสินค้าในตำนาน “ไทย ไดมารู”
อ้างอิง :
ไกรฤกษ์ นานา. หนังสือ “ประวัติศาสตร์นอกตำราสยามรัฐตามทรรศนะโลกตะวันตก”. มติชน. 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2560