เบื้องหลังภาพ “ห้างแรมเซย์” ห้างไฮโซเก่าแก่ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5

ห้างแรมเซย์
ห้างแรมเซย์ (Ramsay & Company) ห้างขายของชั้นนำของกรุงเทพฯ เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2432

เบื้องหลังภาพ “ห้างแรมเซย์” ห้างไฮโซเก่าแก่ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5

ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัส ภ.002 พวญ 6-19 ต้นฉบับเป็นสีเหลืองซีดขนาด 20 x 25 ซ.ม. มีคำบรรยายว่า ห้างแรมเซย์ ไม่มีรายละเอียด

ห้างแรมเซย์ เป็นห้างเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2415 อยู่บริเวณสี่แยกถนนบำรุงเมืองตัดกับถนนตะนาว จำหน่ายเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่งและเครื่องแบบต่าง ๆ 

Advertisement

เดิมอยู่ที่กัลกัตตา ประเทศอินเดีย ครั้น รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสกลับจากอินเดียแล้วก็ตามเข้ามาตั้งที่กรุงเทพฯ ด้วย เจ้าของห้างคือ ริชาร์ด แฮรีส แรมเซย์ ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงจำนงนิเวศกิจ

รายละเอียดเรื่องห้างแรมเซย์ เอนก นาวิกมูล อ่านว่าเป็นรูปห้าง Ramsay & Company ถ่ายราว พ.ศ. 2432 ก็โดยศึกษาตามลำดับดังนี้

1. นำเอาตัวหนังสือรางๆ บนตราแผ่นดินขอบจักรข้างห้าง มาเทียบกับโฆษณาในหนังสือพิมพ์ The Bangkok Times ฉบับวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 1889 เท่ากับ พ.ศ. 2432 ในหอสมุดแห่งชาติซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน

บางกอกไทมส์ฉบับนั้นลงชื่อห้างบนบรรทัดบนสุดว่า Ramsay & Company ถัดลงไปเป็นตราจักร ภายในจักรมีรูปพระเกี้ยว ราชสีห์ คชสีห์ หรือตราแผ่นดิน กับมีตัวหนังสืออังกฤษ ไทย บรรจุไว้ด้วยดังนี้

“Ramsay & Co. Bangkok
Army Contractors, by Appointment
แรมเซ แอน กัมปนี กรุงเทพฯ”

ก่อนหน้านี้ห้างแรมเซย์มีชื่อยาวกว่านี้ เพราะมีการเข้าหุ้นกันหลายหุ้น เช่นแรกสุดที่ก่อตั้งห้าง พ.ศ. 2415 ใช้ว่า แรมเซย์ เวกฟิลด์ แอนด์ กำปะนี ต่อมาก็เป็นแรมเซย์ ลอรีย์ แล้วเป็นแรมเซย์ แบดแมน จนถึง พ.ศ. 2427 แรมเซย์กับแบดแมนก็แยกทางกันนับแต่นั้นจึงเหลือแค่ แรมเซย์ เฉย ๆ ในรูปนี้ชื่อห้างเหลือแค่แรมเซย์เฉย ๆ จึงช่วยยืนยันว่าควรถ่ายหลังแยกจากผู้อื่นแล้ว

2. ห้างนี้ได้รับพระราชทานตราแผ่นดินขอบจักรตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน ร.ศ. 108 หรือ พ.ศ. 2432 แต่เป็นข่าวในหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ 26 ตุลาคม ร.ศ. 109 หรือปีรุ่งขึ้น ข้อความตอนหนึ่งมีว่า ร.5 “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กับหลวงจำนงนิเวศน์กิจ ใช้ตราริมจักร…” มีรูปอาร์มแผ่นดิน หลายขนาด

ภาพนี้จึงควรถ่ายหลังได้รับพระราชทานตราริมจักรแล้ว อาจเป็น พ.ศ. 2432 นั้นเลยก็ได้ เพราะบรรยากาศดูเหมือนจะเป็นการรวมกลุ่มถ่ายในวาระพิเศษอะไรสักอย่างหนึ่ง ข้างห้างมีตราขอบจักรติดเห็นเด่นชัด ข้างบนมีตราแผ่นดินติดอย่างสง่าเหนือชื่อห้าง (หากเป็นสมัยนี้ก็ติดตราครุฑ)

ตราริมจักร
ตราแผ่นดินติดอย่างสง่าเหนือชื่อห้าง

รายละเอียดอื่นๆ ในรูป จะเห็นนายห้างฝรั่งยืนเกาะระเบียงชั้นสองอยู่ 3 คน พื้นล่างมีแขกโพกหัว สวมหมวกซึ่งควรเป็นแขกลูกจ้าง นั่งยืนอยู่ราว 80 คน ตัวห้างก่อเป็นตึก 2 ชั้น มีความกว้างและยาวหลายคูหา จึงนับเป็นห้างใหญ่มากของยุคกว่าร้อยกว่าปีก่อน

ห้างแรมเซย์ถูกทุบทิ้งเมื่อปีใด นายห้างมีลูกหลานหรือไม่ ยังค้นไม่ได้ 

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2561