ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อพูดถึง “งานศพ” หลายคนคงนึกถึงบรรยากาศอันอึมขรึม โศกเศร้า เต็มไปด้วยผู้คนในชุดดำ ทว่าหากย้อนไปในแถบอีสานสมัยก่อน “งานศพ” หรือที่เรียกว่า “งันเฮือนดี” กลับเป็นอีเวนท์ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน จัดเต็มแสงสีเสียงให้หญิงชายน้อยใหญ่มาสุขสำราญ ทั้งยังอนุญาตให้แต่งตัวสีฉูดฉาดแบบไม่ต้องแคร์ใคร
งันเฮือนดี
“งันเฮือนดี” เป็นคำที่กล่าวแทนงานศพของคนอีสานสมัยก่อน งัน ในที่นี้ หมายถึง งานฉลองที่สนุกสนาน ไม่ใช่งานอาชีพในชีวิตประจำวัน เช่น หุงข้าว, ทำไร่นา ส่วน เฮือนดี แปลว่า เรือนผี ผสมกันแล้วก็จะได้ความหมายโดยรวมว่า งานเฉลิมฉลองอันเต็มไปด้วยความสนุกสนานผ่านการละเล่นอันอึกทึกครึกโครม (ในบ้านที่มีคนตาย)
ความสนุกสนานที่ว่ามีตั้งแต่ การเล่านิทาน โดยอ่านจากหนังสือผูกใบลานเป็นทำนอง, ดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลง, ขับกาพย์กลอน รวมถึง โต้ตอบเพลงกันไปมา ดังปรากฏในเรื่องสังข์ทอง ว่า
“ฝูงเคยเหล้นตีตะโพน พิณพาทย์
ขับแข่งฮ้องโคลงฟ้า กาพย์สาร”
แม้กระทั่งในเอกสาร “ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ 18 ตอนที่ 3 ว่าด้วยประเพณีของชนชาวมณฑลอีสาน” โดย พระโพธิวงศาจารย์ (ติสโส อ้วน) ยังปรากฏบรรยากาศอันครึกครื้นภายในชุมชน และการร่วมมือร่วมใจเพื่อจัดงานอีกด้วย
“ที่บ้านของผู้ตายนั้นตั้งแต่วันที่ตายไป ตอนกลางคืนมีผู้คนที่รู้จักรักใคร่แลวงศาคณาญาติ พร้อมทั้งเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงมางันกันเรียกว่างันเรือนดี (คือคนมาประชุมช่วยพร้อมกัน)
หญิงสาวชายหนุ่มก็มาพูดหยอกเย้ากันในงานนี้ ผู้ที่เป่าแคนเปนก็เอาแคนมาเป่าเล่นหมอลำ พวกที่อ่านหนังสือเปนก็หาหนังสือเรื่องคำกลอนโบราณมาอ่าน เช่นเรื่องสังข์ศิลป์ไชย เรื่องการะเกษ เหล่านี้เปนต้น
แลมีการเล่นอีกหลายอย่าง เช่นหมากหาบ (หมากแยก) เสือกินหมู (เสือกินวัว) หมากเกิ้งตะเวน (เสือตกถัง) หมากแก้งขี้ช้าง (ทอดไม้) พวกของเล่นเหล่านี้มีชอบเล่นอยู่ในพวกหญิงสาวชายหนุ่ม ถ้าใครแพ้ชนะกันมักมีทุบตีหยอกเย้ากันในหมู่คณะหญิงสาวชายหนุ่ม ถ้าคนที่มีอายุแล้วหันไปฟังหนังสือที่เขาอ่าน
การงันเรือนดีชนิดนี้นับตั้งแต่วันที่ตายไป บางทีมีจนถึงวันนำศพไปเผาหรือฝัง ถ้าเปนผู้ที่ตระกูลเชื้อพระวงศ์มีบันดาศักดิ์ อย่างมากงันกันตั้งแต่เดือนอย่างน้อยก็ 3 วัน 5 วัน 7 วัน ตามฐานนานุรูปของคนพื้นเมือง เมื่อนำศพไปเผาหรือฝังเสร็จแล้ว กลับมาต้องทำบุญเรือน สวดมนต์เย็น 3 วัน รุ่งขึ้นฉันเช้า
ในระหว่าง 3 วัน ที่สวดมนต์นั้น มีงันเรือนดีเหมือนกัน”
นอกจากความคึกคักที่เต็มไปด้วยการละเล่นมากมายแล้ว เครื่องแต่งกายของผู้คนในงานยังเต็มไปด้วยสีฉูดฉาด ไร้สีดำทมิฬอย่างที่เราพบเจอในปัจจุบัน
กิจกรรมและวัฒนธรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะคนอีสานมีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” ซึ่งการสร้างความครื้นเครงอาจทำให้ขวัญของคนที่ลาลับกลับเข้าร่าง อีกนัยหนึ่งอาจเป็นกุศโลบายให้ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด ไม่ทุกข์เศร้า เมื่อเห็นคนที่รักตายไป
งันเฮือนดี หรืองานศพที่เต็มไปด้วยความบันเทิงใจ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของคนอีสานอย่างเต็มรูปแบบ ก่อนที่ในปี 2463 รัฐบาลสยามจะประกาศให้ข้าราชการงดหาความเพลิดเพลินในงานศพ ทำให้การละเล่นหรือความบันเทิงในงานศพค่อย ๆ หายไป รวมถึง หลังปี 2500 การแต่งตัวด้วยสีสดใสก็กลายมาเป็นชุดสีดำ เนื่องจากอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก
คนในยุคนี้จึงคุ้นชินกับความโศกเศร้าและสีดำ เมื่อเอ่ยถึงงานจากลาของใครสักคน
อ่านเพิ่มเติม :
- หนุ่มสาวชาวกะเหรี่ยง กับโอกาสพบปะกันในงานศพ เพื่อสานเป็นความรัก
- ธรรมเนียม “เซ็กส์ในงานศพ” มีอยู่จริง ทำไมปรากฏกิจกรรมนี้ในบางวัฒนธรรม?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2566