ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ธรรมเนียม “เซ็กส์ในงานศพ” มีอยู่จริง ทำไมปรากฏกิจกรรมนี้ในบางวัฒนธรรม?
โดยทั่วไปแล้วกิจกรรมที่ว่าด้วยการร่วมเพศมักเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่มิดชิด การมีเซ็กส์ไม่ใช่เรื่องที่ได้รับการยอมรับอย่างโจ่งแจ้งในทุกพื้นที่ แน่นอนว่าแต่ละพื้นที่มีขนบธรรมเนียมที่แตกต่างออกไป ความแตกต่างของขนบธรรมเนียมไม่ใช่แค่เรื่องภาษา และวัฒนธรรมสังคมความเป็นอยู่แต่ยังหมายถึงเรื่องการดำรงเผ่าพันธุ์อีกด้วย
กิจกรรมทางเพศเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับพื้นที่เสมอ แต่ในบางวัฒนธรรมกิจกรรมทางเพศเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะอย่างเช่น “งานศพ” ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่ากิจกรรมสองประเภทที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง (กิจกรรมหนึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสุขและการกำเนิด อีกกิจกรรมหนึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความโศกเศร้าและความตาย) มาอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกันได้อย่างไร โดยไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อุจาดหรือผิดแผกไปจากข้อห้ามในวัฒนธรรมของสังคมในหลายๆ ประเทศ
เซ็กส์ในงานศพ เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ถูกจัดขึ้นในกลุ่มชนเผ่าหนึ่งแถบเกาะมาดากัสการ์ ความแปลกไม่ใช่เพียงการมีเซ็กส์ในงานศพเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องเซ็กส์ระหว่างสายเลือดหรือเซ็กส์ระหว่างพี่กับน้องภายในงานด้วย ซึ่งการมีเซ็กส์หรือตามบรรทัดฐานสังคมในหลายวัฒนธรรมนั้น การร่วมเพศในสายเลือดถือเป็นข้อห้ามที่ปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด
เซ็กซ์ในงานศพ อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่ดีนัก ทั้งนี้การมีเซ็กส์ที่หลายคนมองอาจเป็นเรื่องบนเตียงเพื่อสนองอารมณ์ความต้องการของคน หากมองอีกหนึ่งแง่มุม เซ็กส์ในแต่ละพื้นที่มีความต้องการแตกต่างกันออกไป ใช่ว่าการมีเซ็กส์หลักๆ เพียงสนองความต้องการ แต่เซ็กส์ยังเป็นภาพสะท้อนของการสืบเผ่าพันธ์ุด้วย
คำอธิบายถึงเรื่อง “เซ็กซ์ในงานศพ” โดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งรวบรวมจากงานวิจัยของมนุษยวิทยาโลก และเรียบเรียงไว้ว่า
“การมีเซ็กซ์ในงานศพ ถือเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญของบางชนเผ่า ทั้งนี้เพื่อต้องการรักษาสมดุลของจำนวนสมาชิกภายในเผ่า
เมื่อมีคนตาย สมาชิกในครอบครัวของชนเผ่าบารา (Bara) ที่เกาะมาดากัสการ์ จะจัดพิธีศพขึ้น โดยในพิธีเหล้าจะถูกเสิร์ฟให้กับทุกคนเพื่อให้เมามายจนความรู้สึกทางศีลธรรมลดลง จากนั้นบรรดาญาติพี่น้องจะมีเพศสัมพันธ์กัน (incest) ในงานศพ ในทัศนะของชนเผ่าบาราถือว่าการร่วมเพศกันในงานศพเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จำเป็นต้องทำ และถ้าหากมีใครที่เข้ามาขัดขวางจะต้องถูกลงโทษหนักด้วยการเสียวัวให้หนึ่งตัวด้วยความเต็มใจ”
“ในทัศนะคติของชนเผ่าบารา การร่วมเพศกันระหว่างพี่น้องไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมหากกระทำกันในพื้นที่ (Space) ของงานศพ เพราะการตายของสมาชิกคือการสูญเสียประชากรซึ่งเป็นทั้งแรงงานและองค์ประกอบทางสังคม ดังนั้นการร่วมเพศกันระหว่างพี่น้องก็คือความพยายามในการทำให้ภาวะโกลาหล (Chaos) เกิดความสมดุลขึ้นมาด้วยการเพิ่มจำนวนสมาชิก และยังสื่อถึงการทำให้สังคมเกิดความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย”
นอกจากการมีเซ็กส์ในงานศพแล้ว หากมองตามความจริงบรรทัดฐานทางสังคม บางพื้นที่มองว่าการมีเซ็กส์ระหว่างญาติพี่น้อง นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนอาจมองว่าผิดศีลธรรม
แต่การมีเซ็กส์ไม่ใช่เพียงเป็นกิจกรรมระเริงรักสนุกๆ เหมือนที่วัยรุ่นในปัจจุบันเข้าใจกัน เซ็กส์ไม่ใช่แค่การกระตุ้นความรู้สึกไปถึงจุดสุดยอด แต่ยังสะท้อนถึงประเพณีของชนเผ่าบางพื้นที่ที่ถูกจัดขึ้นเพื่อการดำรงเผ่าพันธ์ุอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- หนุ่มสาวมีอะไรกันก่อนแต่ง เป็นอิทธิพลจากฝรั่งจริงหรือ
- “เรื่องเซ็กส์” สมัยกรุงศรีฯ ชาย-หญิงคิดและมีตั้งแต่อายุเท่าไหร่? แต่งหรือหนีตาม? ฯลฯ
อ้างอิง :
“เซ็กส์หน้าศพ เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์” ใน, เซ็กส์ดึกดำบรรพ์ ของบรรพชนไทย. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. สำนักพิมพ์นาตาแฮก, 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2561