“เรื่องเซ็กส์” สมัยกรุงศรีฯ ชาย-หญิงคิดและมีตั้งแต่อายุเท่าไหร่? แต่งหรือหนีตาม?  ฯลฯ

(ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6, หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร)

คนพวกหนึ่งในปัจจุบันกล่าวว่า ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว พร้อมกติกาที่ว่า “ไม่…” มากมาย โดยว่านี่คือวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม เมื่อประเพณีเป็นของสืบเนื่องจากโบร่ำโบราณ ถ้างั้นเราไปดูกันว่า “สมัยอยุธยา” คนเริ่มคิดเรื่อง “เซ็กส์” ตั้งแต่อายุเท่าไหร่? ชาย-หญิง ถูกใจกันแล้วแต่งกันหรือหนีตาม? อยู่กินกันก่อนแต่งตอนนั้นมีใครลุกขึ้นมาด่าหรือเปล่า? ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ หาคำตอบไว้แล้วใน “เซ็กส์ดึกดำบรรพ์ ของบรรพชนไทย” (สนพ.นาตาแฮก, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2560) ซึ่งในที่นี้เก็บความนำเสนอเพียงบางส่วน

วัยรุ่นสมัยอยุธยา อยากมีผัว

วรรณกรรมสมัยอยุธยาสะท้อนภาพ ให้คำตอบว่า สำหรับหนุ่มสาวสมัยกรุงศรีฯ เรื่องเซ็กส์นั้น “คิดและมี” ตั้งแต่อายุราว 14-15 ปี ตัวอย่างเช่น

ขุนช้างขุนแผน-วรรณคดีพื้นบ้านสมัยอยุธยา กล่าวว่า นางพิมพิลาไล (วันทอง) มีความสัมพันธ์กับพลายแก้ว (ขุนแผน) ครั้งแรกเมื่ออายุ 16 ปี ดังกลอนเสภาตอนหนึ่งที่นางพิมบอกอายุตัวเองว่า “ฉันฤๅปีชวดนะหม่อมพี่ สิบหกปีปีนี้พึ่งปริปริ่ม” ส่วนพลายแก้วขณะนั้นอายุ 18 ปี ส่วนขุนแผนอายุ 15 ก็ได้นางแก่นแก้วเมียคนแรก

นอกจากนี้เรื่องนางมโนห์รา ที่บันทึกในสมุดข่อย นางมโนห์ราอายุราว 14-15 ปี ตัดพ้อที่แม่ไม่ให้ออกเที่ยวเหมือนลูกสาวบ้านอื่นๆ ที่มีผัวกันหมดแล้ว จะเก็บเป็นหม้ายให้อดอยากปากแห้งจนแก่ ดังกลอนบทละครตอนหนึ่งว่า

สงสาร   พระมารดามาหวงเอาลูกไว้

แก่แล้วจะค่อยให้   ให้ลูกเป็นหม้ายอยู่อดทน

แต่เพื่อนสาวสาว   คราวคราวเขามีผัวเสียหมด

ให้ลูกเป็นหม้ายอยู่ทนอด   กลางวังพระราชมารดา

สมัยนั้นหญิงชายจำนวนมากมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือต้องประณามกัน แต่เรียกด้วยคำศัพท์ให้ดูดีมีระดับว่า “เทพอุ้มสม” หรือเทวดาจัดแจงให้มีคู่ เหมือนอย่าง “อนิรุทธ์สมอุษา” ใน อนิรุทธ์คำฉันท์ วรรณคดีต้นกรุงศรีฯ ประมาณ พ.ศ. 2000 ที่เทวดาสงสารอนิรุทธ์ไม่มีคู่ เลยอุ้มไปสมสู่กับนางอุษา เมื่อเสร็จกิจแล้ว ก่อนเช้าก็อุ้มกลับมาคืน อย่างที่ปัจจุบันเรียกว่า คู่นอนคืนเดียว (one night stand)

ฉุด-หนีตาม-แต่ง-อยู่ก่อนแต่ง

เมื่อหญิงชายรักใคร่พอชอบกัน ตกลงที่จะอยู่กินด้วยกันแล้ว แต่ถ้าผู้ชาย “จน” ไม่มีสินสอดพอจะมาสู่ขอตามประเพณี หรือครอบครัวฝ่ายหญิงกีดกัน ฯลฯ ก็ยังมีทางให้เลือกคือ

ฉุด ฝ่ายชายเป็นผู้ลงมือฉุดหญิงที่ตนรักไปเป็นเมีย มักเข้าใจกันว่าผู้ชายใช้กำลังเข้าหักหาญ ผู้หญิงจะชอบตนหรือไม่ ไม่สนใจ ซึ่งก็มีอยู่แต่เป็นส่วนน้อย ความจริงส่วนใหญ่คือ ทั้งสองฝ่ายนัดแนะกันโดยผู้หญิงเต็มใจให้ฉุด

หนีตาม ฝ่ายหญิงเป็นผู้ลงมือ “หนี” พ่อแม่ ไปอยู่กับชายที่รักชอบ

แต่งงาน หมายถึงพิธีเสียผีที่ฝ่ายชายขอขมาพ่อแม่ฝ่ายหญิงที่ฉุดลูกสาวเขาไปเป็นเมียโดยมิได้สู่ขอ เมื่อพ่อแม่และญาติฝ่ายหญิงยอมรับ ชายหญิงคู่นั้นก็จะอยู่กันไปตามปกติ

นอกจากนี้บางคู่ยัง อยู่ก่อนแต่ง ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของอุษาคเนย์ ที่มีเหตุมาจาก “หญิงมีอำนาจสูงกว่าชาย” ผู้ชายต้องยอมเป็นบ่าวรับใช้บ้านหญิงสาวจนกว่าญาติฝ่ายหญิงจะยอมรับ ซึ่งใช้เวลาเป็นปีๆ ระหว่างนั้น สังคมก็ยอมให้อยู่ก่อนแต่ง แล้วก็มีลูกได้ แต่ถ้าผู้ชายขี้เกียจ ฝ่ายหญิงก็จะไล่เฉดหัวออกจากบ้าน แล้วเลือกชายคนใหม่ต่อไป

กฎหมายลักษณะผัวเมีย ยุคต้นอยุธยา ก็ยอมรับ “อยู่ก่อนแต่ง” อย่างเป็นทางการ บันทึกของลาลูแบร์ ก็กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การอยู่กินกันอย่างเสรีโดยไม่ได้แต่งงานถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องอับอาย เมื่อได้อยู่กินกันก็เสมือนว่าได้แต่งงานกันแล้ว โดยฝ่ายชายจัดพิธีขอขมาต่อพ่อแม่ของฝ่ายหญิงเท่านั้น

ผู้ชายถูกเกณฑ์ ผู้หญิงเลี้ยงครอบครัว

การที่สมัยอยุธยา “ผู้หญิงมีอำนาจสูงกว่ามีผู้ชาย” น่าจะมีเหตุจากเมื่อผู้ชายถูกเกณฑ์ไปทำงานให้มูลนาย ผู้หญิงต้องเป็นคนเลี้ยงดูครอบครัว ไม่ว่าจะทำไร่ไถนา ข้าวปลาอาหาร ลูกเต้า พ่อแม่ บ้านเรือน ฯลฯ ผู้หญิงเป็นฝ่ายดูแลทั้งหมด ผู้หญิงอยุธยาจึงเป็นอิสระ

“ในระหว่างที่พวกผู้ชายถูกเกณฑ์ไปเข้าเวรยามมีกำหนด 6 เดือนนั้น เป็นงานหลวงที่เขาจะต้องอุทิศถวายเจ้าชีวิตทุกปีก็เป็นภาระภรรยา, มารดาและธิดาเป็นผู้หาอาหารไปส่งให้”

“เมื่อพ้นกำหนดเกณฑ์แล้วและกลับมาถึงบ้าน ผู้ชายส่วนมากก็ไม่รู้ที่จะทำงานอะไรให้เป็นล่ำเป็นสัน เพราะไม่ได้ฝึกงานอาชีพอย่างใดไว้ให้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษสักอย่างเดียว ด้วยพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงใช้ให้พวกนี้ทำงานหลายอย่างต่างๆ กัน แล้วแต่พระราชประสงค์ เช่นนี้จึงพออนุมานได้ว่าชีวิตปกติของชาวสยามนั้นดำเนินไปด้วยความเกียจคร้านเป็นประมาณ เขาแทบจะไม่ทำงานอะไรเลยเมื่อพ้นจากราชการงานหลวงมาแล้ว เที่ยวก็ไม่เที่ยว ล่าสัตว์ก็ไม่ไป ได้แต่นั่ง, เอนหลัง, กิน, เล่น, สูบยา สูบแล้วก็นานไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น

ภรรยาจะปลุกให้เขาตื่นขึ้นราว 7 โมงเช้า เอาข้าวปลาอาหารมาให้บริโภค เสร็จแล้วนอนต่อไปใหม่ พอเที่ยงวันก็ลุกขึ้นมากินอีก แล้วก็มื้อเย็นอีกคำรบหนึ่ง

ระหว่างเวลาอาหารมื้อกลางวันกับมื้อเย็นนี้ เราก็เอนหลังลงพักผ่อนเสียพักหนึ่ง เวลาที่เหลือนอกนั้นก็หมดไปด้วยการพูดคุยและเล่นการพนัน

พวกภรรยานั้นไปไถนา ไปขายของหรือซื้อของที่ในเมือง…” [จากหนังสือ จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 (สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510 หน้า 223-224]

แต่นั่นเป็นชายหญิงชาวบ้านทั่วไป หญิงที่เป็นลูกและเมียขุนนาง ไม่ลำบากเพียงนี้

บริการทางเพศที่มีขาย

สำหรับบ้านไหนที่เรื่องเพศสัมพันธ์ในบ้านไม่โอเค จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ สมัยอยุธยามี ซ่องและโสเภณี บริการ นอกเกาะเมืองด้านทิศใต้ มีโรงโสเภณี 4 แห่ง รับจ้างทำชำเราบุรุษ อยู่ตลาดบ้านจีน ปากคลองขุนละครชัย (คลองตะเคียน) และกิจการก็ใหญ่โตพอสมควรทีเดียว เจ้าของซ่องรายหนึ่งมีโสเภณีในสังกัดมากถึง 600 คน และเป็นกิจการธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย และซ่องทุกแห่งส่งเงินภาษีเข้าท้องพระคลังหลวง

สุดท้ายถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ “หย่าร้าง” กันไป ซึ่งมักเป็นเรื่องของชาวบ้านทั่วไป คนมั่งคั่งหรือขุนนางที่มีภรรยาหลายคนก็ยังเลี้ยงดูภรรยาที่หมดรักแล้ว หรือที่ตนยังรักอยู่ไว้ทั้งโขยง

เรื่องเซ็กส์โดยย่อของคนกรุงศรีก็ประมาณนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566