หนุ่มสาวมีอะไรกันก่อนแต่ง เป็นอิทธิพลจากฝรั่งจริงหรือ

จิตรกรรม ชาย หญิง จีบ เกี้ยวพาราสี
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา แสดงให้เห็นชายหญิงต่างชาติขณะเข้าบทรักอยู่ในตัวอาคาร โดยมีสาวชาวบ้านเดินผ่านอยู่ด้านนอก

ความรัก และเพศสัมพันธ์ของคนหนุ่มสาว ยุคหนึ่งสังคมให้ “คุณค่า” กับหนุ่มสาวที่รักนวลสงวนตัว, อดเปรี้ยวไว้กินหวาน, ไม่ “ชิงสุกก่อนห่าม” ฯลฯ ว่าเป็นวิถีที่ถูกต้อง เป็นวัฒนธรรมไทยอันดีงาม หากชายหญิงคู่ไหนเกิดมีอะไรกันก่อนที่จะแต่งงาน คำตอบก็มักจบลงที่ว่า นั่นก็เป็นเพราะพวกเขาไปรับวัฒนธรรมแบบตะวันตกมาเป็นแบบอย่าง

หากบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยแต่ละช่วงเวลา กล่าวถึงเรื่องนี้แตกต่างออกไป

Advertisement

ลาลูแบร์ (พ.ศ. 2185-2272) เป็นราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี บันทึกว่า

ไม่มีธรรมเนียมในเมืองสยามที่จะปล่อยให้ลูกสาวไปพูดจาวิสาสะกับชายหนุ่มตามอำเภอใจ แม่เป็นต้องเฆี่ยน ถ้าแอบย่องไปเจอลูกสาวนอกพ่อนอกแม่ ลอบออกไปพูดอยู่กับผู้ชายพายเรือ 

แต่นางหนูก็ทนไม่ไหวที่จะไม่ลักลอบออกไป สุดแต่จะมีโอกาสหนีแม่ไปได้เมื่อไร และการข้อนี้ก็ไม่ใช่สิ่งสุดวิสัย ด้วยเวลาในกลางค่ำกลางคืนมีถมไป…

หนุ่มสาวสยามรุ่นๆ ราวอายุ 12 รอบปี ก็สามารถจะมีบุตรได้ และบางทีก็เยาว์กว่านั้นเสียอีก..[จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ (พ.ศ. 2348-2405) บาทหลวงจากฝรั่งเศสที่เข้ามาในสยาม สมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกว่า

“ธรรมชาติของประเทศร้อนทำให้มีการชิงสุกก่อนห่ามเป็นอันมาก เขาแต่งงานกันแต่อายุน้อยเหลือเกิน ตามปรกติก็ระหว่าง 15 ถึง 17 ปี กฎเกณฑ์ดังนี้ก็น่าจะนับว่ารอบคอบอยู่

เพราะว่าถ้าปล่อยให้เนิ่นนานไป หญิงสาวมักจะถูกชายหนุ่มล่อลวงทำให้ใจแตก และลอบหลบจากบ้านบิดามารดาหนีตามชายชู้ไป…การที่หญิงสาวหนีตามชายชู้ไปนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่สุด” [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. จดหมายเหตุลาลูแบร์. องค์การค้าคุรุสภา. พฤศจิกายน 2505

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. ประวัติศาสตร์ของเพศวิถี: ประวัติศาสตร์เรื่องเพศ/เรื่องเพศในประวัติศาสตร์ไทย. มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) จัดพิมพ์. ตุลาคม 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2566