เจาะ “เพลงปฏิพากย์” หนุ่มสาวโต้ตอบกรอบสังคมเคร่งครัดเรื่องเพศ ผ่านเพลงพื้นบ้าน

จิตรกรรม ชาย หญิง จีบ เกี้ยวพาราสี
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา แสดงให้เห็นชายหญิงต่างชาติขณะเข้าบทรักอยู่ในตัวอาคาร โดยมีสาวชาวบ้านเดินผ่านอยู่ด้านนอก

เพลงปฏิพากย์ คือ เพลงพื้นบ้านซึ่งชาย-หญิงใช้ร้องตอบโต้กัน ส่วนใหญ่จะเป็นการร้องโต้ตอบกันในเชิงเกี้ยวพาราสี โดยเพลงปฏิพากย์ถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีการแสดงออก และโต้ตอบกฏเกณฑ์ทางสังคมที่เคร่งครัดโดยเฉพาะเรื่องเพศ รวมถึงข้อปฏิบัติอื่นๆ ในสังคมไทย

ศาสนาพุทธเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีของคนในสังคมไทย ในสังคมมีกรอบความคิดตามหลักพุทธศาสนาที่ยึดถือว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาที่ควรจะดับให้หมดสิ้นไป อีกทั้งยังเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์

ทัศนคติดังกล่าวได้เข้ามามีส่วนกำหนดกรอบจารีตประเพณีและค่านิยมทางเพศ กระทั่งเรื่องทางเพศถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึงอย่างเปิดเผยในสังคมไทย

เรื่องเพศ เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นเรื่องสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และเป็นแรงขับเคลื่อนต่อพฤติกรรมต่างๆ ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ซึ่งให้ความสำคัญกับพลังผลักดันทางเพศมากเป็นพิเศษ โดยสามารถนำมาวิเคราะห์ลักษณะของสังคมไทย ซึ่งถือว่าเป็นสังคมที่มีความเคร่งครัดในเรื่องเพศ เฉพาะยิ่งกับการแสดงออกของสัญชาตญาณทางเพศ ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา ได้กล่าวไว้ในหนังสือ เพลงปฏิพากย์ : บทเพลงแห่งปฏิภาณของชาวบ้านไทย ว่า “ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดการเก็บกด (Repression) ขึ้น อันสิ่งผลต่อบุคลิกภาพของคนไทย คือ ทำให้เป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก เก็บความรู้สึกเก่ง”

ในสังคมที่มีกรอบจารีตประเพณีอันเคร่งครัด เมื่อสัญชาตญาณทางเพศถูกเก็บกดไว้มากเข้า ย่อมก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ เพื่อลดความตึงเครียดและหาทางออก การหาทางออกนี้ คือ การละเมิดกรอบทางสังคม ซี่งในสังคมไทยเอง แม้จะมีประเพณีและข้อห้ามในเรื่องเพศอยู่มาก แต่คนในสังคมกลับสามารถหาทางออกได้ในบางโอกาส

ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา กล่าวว่า “เพลงปฏิพากย์เป็นส่วนหนึ่งของการระบายความก้าวร้าว (Aggressive) ที่เก็บกดจากการถูกจำกัดสัญชาตญาณทางเพศ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบโต้กฎเกณฑ์ของสังคม เพราะได้ล่วงละเมิดค่านิยมของสังคมหลายประการ ความก้าวร้าวนี้ระบายออกมาในรูปของการพูดถึงเรื่องเพศ ทั้งอวัยวะเพศและการร่วมเพศไปในเชิงทำลายอวัยวะของคู่โต้เพลง”

ตัวอย่างความก้าวร้าวโดยการให้ของหยาบฝ่ายตรงข้าม

“บอกว่าสวยจริงตามจริง ออกมาเป็นหญิงนี่แนะดูกะไร

ดูโคนเหี่ยวโคนแก่เหมือนตอสะแกกล้วยปิ้ง หนูนี่สีลิงเห็นไหมเห็นไหม”

(เพลงฉ่อย สำนวนนางเผื่อน รายการฉ่อยประชัน ณ หอศิลป์ พีระศรี เดือนมกราคม พ.ศ. 2521)

ตัวอย่างความก้าวร้าวโดยการทำลายอวัยวะของฝ่ายตรงข้าม

“ไม่ให้ปูนขาดเต้าไม่ให้ข้าวขาดหม้อ ก็แกเกี่ยวตอท่านจึงตาย”

(เพลงฉ่อย สำนวนนายพะยอม งานวันเกิด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เดือนเมษายน พ.ศ. 2522)

ตัวอย่างการกล่าวถึงเรื่องเพศโดยมุ่งไปที่ความทรมานหรือความตาย

“ถ้าหากว่าได้เสียมาเป็นเมียพี่ จะกอดกันเสียให้ขี้เยี่ยวไหล”

(เพลงฉ่อย สำนวนนายเพชร รายการฉ่อยประชัน ณ หอศิลป์ พีระศรี เดือนมกราคม พ.ศ. 2521)

นอกจากนี้ ในเพลงปฏิพากย์ยังพบปฏิกิริยาตอบโต้จารีตประเพณีของสังคมอีกหลายประการ

ประการแรก การละเมิดข้อห้ามพูดจาไม่สุภาพ การพูดถึงเรื่องทางเพศ ทั้งอวัยวะเพศหรือการร่วมเพศ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ถือว่าหยาบคาย สัปดน และไม่ควรนำมาพูดในสังคมไทย แต่ในเพลงปฏิพากย์กลับนำมาพูดอย่างเปิดเผย

ประการที่สอง ละเมิดข้อห้ามเรื่องระบบอาวุโส ตามจารีตประเพณีของสังคมไทยจะให้ความเคารพนับถือผู้ที่มีอายุมากกว่า โดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ แต่ลักษณะการละเมิดค่านิยมเช่นนี้พบอยู่มากในเพลงปฏิพากย์ นอกจากเป็นการยั่วยุตามประสาเพลงแล้ว ยังเป็นการเสนอความคิดเรื่องการล่วงประเวณีระหว่างลูกเขยกับแม่ยาย หรือลูกชายหรือแม่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการส่วนลึกในจิตไร้สำนึก (unconscious)

ประการที่สาม ละเมิดข้อห้ามเรื่องพรหมจรรย์ ตามจารีตประเพณีไทยสอนให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว แต่ในบทร้องเพลงปฏิพากย์จะปรากฏว่าฝ่ายชายสามารถละเมิดข้อห้ามดังกล่าวได้ผ่านบทเพลง

ประการที่สี่ ละเมิดค่านิยมทางศาสนา โดยทั่วไปสังคมไทยจะให้ความเคารพแก่บุคคลทางศาสนา โดยความรู้สึกเก็บกดนี้จะแสดงออกมาเมื่อสังคมเปิดโอกาสให้ ซึ่งการโยงเรื่องเพศเข้ากับสิ่งที่ตนเคารพนับถือ จะทำให้สถานะของบุคคลนั้นๆ ลดลงมา อันสามารถพบได้ในเพลงปฏิพากย์

ประการที่ห้า ละเมิดบทบาททางสังคมของผู้หญิง ที่ผ่านมาสังคมไทยเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงถูกจำกัด มิให้มีสถานะและบทบาททัดเทียมกับผู้ชาย หากแต่เพลงปฏิพากย์ได้ตอบโต้กับจารีตดังกล่าว ด้วยการที่สตรีสามารถมีสถานะเท่าเทียมกับฝ่ายชาย และสามารถต่อปากต่อคำ ด่าว่าฝ่ายชาย

เพลงปฏิพากย์ของสังคมไทย ได้แสดงถึงรูปแบบหนึ่งของการระบายความเก็บกด และตอบโต้ความคับข้องใจโดยซ่อนไว้ด้วยความขบขัน

ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา กล่าวว่า “เสียงหัวเราะของผู้ชมในขณะนั้นแสดงถึงอารมณ์ร่วมกับศิลปิน และเป็นเสียงของชัยชนะในการละเมิดกฏเกณฑ์ของสังคมได้โดยไม่ถูกลงโทษ”


อ้างอิง :

สุกัญญา สุจฉายา. (2525). เพลงปฏิพากย์ : บทเพลงแห่งปฏิภาณของชาวบ้านไทย. ปทุมธานี: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564