ย้อนดู “การแต่งกาย” สมัยจอมพล ป. รณรงค์ให้นุ่งผ้าถุง ชี้ทั่วโลกกำลังนิยม

การแต่งกาย สมัย จอมพล ป. ชาวบ้าน ผู้หญิง
การแต่งกายสตรีชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ถูกต้องตามรัฐนิยมในสมัยก่อน (ภาพจากหนังสือ "วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์" กรมศิลปากร)

เป็นที่ทราบกันดีว่าในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการเปลี่ยนแปลงและการจัดระเบียบภายในประเทศมากมาย ทั้งนี้รวมไปถึงเรื่องการจัดระเบียบ “การแต่งกาย” ให้เป็นไปในรูปแบบรัฐนิยม

โดยมีการออกรัฐนิยมฉบับที่ 10 ลงวันที่ 15 มกราคม 2484 ว่าด้วยเรื่อง เครื่องแต่งกายของประชาชนชาวไทย มีข้อความดังนี้

1. ชนชาติไทยไม่พึงปรากฏตัวในชุมชนหรือสาธารณสถานในเขตเทศบาล โดยไม่่แต่งกายให้เรียบร้อย เช่นนุ่งแต่กางเกงชั้นใน หรือไม่สวมเสื้อ หรือนุ่งผ้าลอยชาย เป็นต้น

2. การแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อยสำหรับประชาชนชาวไทยมีดังนี้

(2.1) แต่งกายแบบตามสิทธิและโอกาสที่จะแต่งได้

(2.2) แต่งกายแบบสากลนิยมในทำนองที่สุภาพ

(2.3) แต่งตามประเพณีนิยมในทำนองที่สุภาพ

การแต่งกายแบบลำลองในระยะแรกของสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ยังไม่มีการบังคับให้สวมหมวก (ภาพจากหนังสือ “วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” กรมศิลปากร)

เพื่อให้การปฏิบัติตามรัฐนิยมฉบับนี้เป็นไปอย่างสะดวก กระทรวงมหาดไทยได้ออกคำแนะนำประชากรไทยไว้ดังนี้

1. เครื่องแต่งกายของประชากรไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

(1.1) เครื่องแต่งกายธรรมดา

(1.2) เครื่องแต่งกายตามโอกาส

(1.3) เครื่องแต่งกายทำงาน โดยแบ่งออกเป็นแบบทั่วไปและเฉพาะงาน

2. เครื่องแต่งกายธรรมดา ได้แก่ เครื่องแต่งกายซึ่งเป็นไปตามปรกติใช้ในชุมนุมหรือสาธารสถาน

3. เครื่องแต่งกายตามโอกาส ได้แก่ เครื่องแต่งกายใช้ในการกีฬาหรือสังคม ตามสมควรกาลเทศะ

4. เครื่องแต่งกายทำงานทั่วไป ได้แก่ เครื่องแต่งกายซึ่งใช้เพื่อประกอบการงานอาชีพตามปรกติ

5. เครื่องแต่งกายทำงานโดยเฉพาะ ได้แก่ เครื่องแต่งกายซึ่งใช้เพื่อประกอบการงานอาชีพบางชนิด โดยให้มีลักษณะเหมาะสมแก่สถานที่และการงานนั้นๆ ทั้งนี้รวมถึงเครื่องแบบ ซึ่งทางราชการหรือองค์การอาชีพนั้นๆ ได้กำหนดไว้ด้วย

6. เครื่องแต่งกายธรรมดา สำหรับชาย ประกอบด้วย

(6.1) หมวก

(6.2) เสื้อชั้นนอกคอเปิดหรือคอปิด ถ้าใช้เสื้อชั้นนอกคอเปิด ให้ใช้เสื้อในคอปกและควรมีผ้าผูกคอเงื่อนกะลาสีหรือเงื่อนหูกระต่าย

(6.3) กางเกงขาวยาวแบบสากล

(6.4) รองเท้าหุ้มส้น หรือหุ้มข้อและถึงเท้า

โปสเตอร์วัฒนธรรมไทย สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม (ภาพจากหนังสือ อนุสรณ์ ครบรอบ ๑๐๐ ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐)

อนึ่ง เครื่องแต่งกายสำหรับใช้นอกเขตเทศบาลหรือในชนบทจะประกอบด้วยหมวก เสื้อชั้นนอกทรงกระบอกแบบไทยแขนยาว (ชนิดรูปกระบอก แขนยาว คอตั้ง กลัดดุม 5 เม็ด มีกระเป๋า) ประกอบกับกางเกงขายาวหรือสั้นแบบสากล รองเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้นก็ได้

7. เครื่องแต่งกายธรรมดาสำหรับชาย ควรใช้สีเรียบๆ หรือสีคล้ำ ไม่ฉูดฉาด

8. เครื่องแต่งกายธรรมดาสำหรับหญิงประกอบด้วย

(8.1) หมวก

(8.2) เสื้อนอกคลุมไหล่

(8.3) ผ้าถุง

(8.4) รองเท้ารัดส้นหรือหุ้มส้น และถุงเท้า ถุงเท้านั้นจะใช้หรือไมใช้ก็ได้

9. เครื่องแต่งกายทำงานทั่วไปสำหรับชายประกอบด้วย

(9.1) หมวก (เว้นแต่จะขัดกับลักษณะงาน)

(9.2) เสื้อชนิดมีแขน

(9.3) กางเกงขายาวหรือขาสั้น

(9.4) รองเท้าหุ้มส้น หุ้มข้อหรือรัดส้น (เว้นแต่จะขัดกับลักษณะของงาน)

10. เครื่องแต่งกายทำงานทั่วไปสำหรับหญิงประกอบด้วย

(10.1) หมวก

(10.2) เสื้อชั้นนอกคลุมไหล่

(10.3) ผ้าถุง

(10.4) รองเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น (เว้นแต่จะขัดกับลักษณะของงาน)

11. เครื่องแต่งกายทำงานทั้งชายแหละหญิง ถ้าเป็นงานกลางแจ้งควรใส่สีเทา, สีคราม, สีกากี หรือสีเปลือกไม้ ถ้าเป็นงานในร่มหรือเกี่ยวกับเครื่องจักรควรใช้สีน้ำเงิน

ในสมัยนั้น รัฐบาลพยายามให้มีการปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายแบบใหม่อย่างทั่วถึง กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งไปยังคณะกรรมการจังหวัดต่าง ๆ หาวิธีให้ราษฎรปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายแบบใหม่ ทางจังหวัดจึงดำเนินการส่งเสริมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เรียกประชุมชี้แจงบรรดาราษฎรในตำบลอีกต่อหนึ่ง ด้วยคำขวัญที่ว่า “สวมหมวก ไว้ผมยาว นุ่งถุง สวมเสื้อ สวมถุงเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น” 

ชี้แจงเหตุผลอีกว่าการนุ่งผ้าถุงประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่านุ่งกระโจงเบนเพราะราคาถูกกว่า และโฆษณาว่าผ้าถุงนั้นนอกจากจะเป็นประเพณีของไทยมาแต่เดิมแล้วยังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังนิยมอยู่ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

หนังสือ “อนุสรณ์ ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม 14 กรกฎาคม 2540”. ศูนย์การทหารปืนใหญ่.

หนังสือ “วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์”. กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ. 2525.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2562