เผยแพร่ |
---|
“ซิ่น” ของสตรีชาวยวนหรือล้านนา อันเป็นอัตลักษณ์ในแทบภาคเหนือของประเทศไทย ซิ่นในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีความแตกต่างกัน บางจังหวัดจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลวดลาย ลักษณะผ้า การย้อมสีฝ้าย ฯลฯ และในจังหวัดเชียงใหม่เองก็มีซิ่นหลากหลายรูปแบบ อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างทอผ้าชาวล้านนาแต่โบราณ
หลักฐานเรื่องการแต่งกายและนุ่งซิ่นของชาวล้านนานั้นมีบันทึกค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ที่จะพอศึกษาได้จะเป็นศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ เช่นประติมากรรมรูปปูนปั้นเทวดารอบเจติยวิหาร วัดเจดีย์เจ็ดยอด ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายชนชั้นสูงในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย หลักฐานที่เห็นปรากฏการแต่งกายของชาวล้านนาชัดเจนมากในยุคหลัง ๆ ไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาคือภาพจิตรกรรมฝาหนัง นอกจากจะเห็นการแต่งกายแล้วยังเห็นสภาพวิถีชีวิตของชาวล้านนาอีกด้วย
สำหรับการแต่งกายท่อนบน สตรีเชียงใหม่ตามจารีตจะไม่สวมเสื้อ แต่มีผ้าสำหรับห่มหนึ่งผืน มักเป็นผ้าฝ้าย ฝ้าไหม หรือผ้าแพรจีน จะนำมาห่มเฉวียงบ่าข้างใดข้างหนึ่งแล้วปล่อยชายผ้าให้ตกไปด้านหลัง เรียก “สะหว้ายแหล้ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” หากนำผ้าห่มมาพันรอบหน้าอกจะเรียกว่า “มัดนม” ส่วนทรงผมจะไว้ผมยาว บำรุงผมด้วยน้ำมันมะพร้าว รวบแล้วเกล้ามวย และมักประดับมวยผมด้วยดอกไม้ บ้างจะเสียบหรือเหน็บดอกไม้ชนิดต่าง ๆ หรือทำเป็นช่อ เป็นพวง พันรอบมวยผม หรือประดับปิ่นก็มี
สำหรับการแต่งกายท่อนล่าง จะนุ่ง “ซิ่น” ที่นิยมนุ่งมากที่สุดคือซิ่นตา (หรือซิ่นก่าน) และซิ่นตีนจก
ซิ่นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น แล้วจึงนำมาประกอบเป็นซิ่น มีชื่อเรียกตามลักาณะการเย็บต่อกันแบบนี้ว่า “ซิ่นต่อตีนต่อแอว”
- หัวซิ่น คือส่วนที่อยู่ด้านบนสุด มักเป็นผ้าสองชิ้นมาเย็บต่อกัน นิยมสีแดงหรือสีน้ำตาล และสีขาว หรืออาจเป็นผ้าสีแดงหรือสีดำเพียงอย่างเดียว หัวซิ่นมักทำจากผ้าฝ้ายเนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องสัมผัสร่างกาย ผ้าฝ้ายจะช่วยลดการระคายเคือง และเมื่อทบผ้าหรือมัดผ้าที่เอวแล้วจะไม่หลุดง่าย
- ตัวซิ่น คือส่วนกลางของซิ่น นิยมทำลวดลายเป็นลายทางขวาง เรียกว่า “ลายตา” สลับสีเข้มสลับอ่อนหรือตามความต้องการหรือความชำนาญของช่างทอผ้า มีหลากสีสัน แต่ที่นิยมมากที่สุดคือสีเหลือง
- ตีนซิ่น คือส่วนปลายของซิ่น เป็นส่วนที่จำแนกความแตกต่างระหว่าง ซิ่นตากับซิ่นตีนจก หากเป็นซิ่นตาจะเป็นผ้าทอสีแดงเข้ม สีดำ หรือสีน้ำตาล หากเป็นซิ่นตีนจก จะทอผ้าด้วยเทคนิคจกสลับสีเส้นไหม ไหมเงิน หรือไหมทองคำเป็นลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม
สตรีสูงศักดิ์เชียงใหม่จะนุ่งซิ่นที่ใช้วัสดุเป็นเส้นไหมเงินหรือไหมทองมาเป็นส่วนประกอบทอแทรกกับผ้า หรืออาจใช้ผ้าชนิดอื่นที่นำเข้าจากต่างประเทศเช่น ผ้าแพรจากจีน ผ้ายกทองจากอินเดีย
ซิ่นตีนจกมีลวดลายที่โดดเด่นคือ ลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดกันเป็นลายขนาดใหญ่ เรียกว่า “ลายโคม” และมีลายเล็ก ๆ ด้านข้างอีก 2 หรือ 4 แถว และส่วนด้านล่างของตีนซิ่น บริเวณรอยต่อของผ้าสีแดงและสีดำ จะทำลายเล็ก ๆ ตกแต่งลวดลายเป็นเส้นห้อยลงไปเรียกว่า “หางสะเปา” โดยซิ่นตีนจกที่พบในเชียงใหม่ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ
- ตีนจกเจ้านาย นิยมใช้ผ้าไหมหรือผ้าฝ้าย จกด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง หรือดิ้นปั่นควั่นกับเส้นด้ายกลม ลวดลายละเอียด ปราณีต เป็นซิ่นในราชสำนักหรือคุ้มหลวง นิยมสวมเฉพาะสตรีชนชั้นสูง
- ตีนจกสันป่าตอง นิยมจกด้วยดิ้นควั่นฝ้าย ใช้เส้นฝ้ายหลายเส้นทอ ลวดลายจกจะห่างกว่าตีนจกเจ้านาย นิยมสีเข้มค่อนข้างขรึม เน้นสีจากธรรมชาติ
- ตีนจกจอมทอง นิยมใช้ผ้าฝ้ายเส้นเล็กหลากหลายสีทอจก นิยมสีเหลือง จกลายห่างจนเห็นพื้นผ้าสีดำ ลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดจะเพรียวผอม ต่างจากตีนจกสันป่าตองที่จะป้อมกว่า
- ตีนจกแม่แจ่ม ตีนจกแบบแม่แจ่มนิยมใช้ผ้าฝ้ายเส้นใหญ่ สีสันสดใส ลวดลายจะผอมเพียวกว่าตีนจกแบบจอมทอง บางผืจะจกด้วยรูปนกหรือลายขอกูด และมีจุดเด่นตรงหางสะเปาเป็นสีดำสลับขาว ส่วนตีนจกแบบอื่นจะนิยมสีดำ
- ตีนจกฮอดและดอยเต่า นิยมจกด้วยผ้าฝ้ายเส้นใหญ่ สีสันสดใส ลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดทรงป้อม ๆ แต่ขนาดจะใหญ่กว่าแบบอื่น และช่วงจกก็มีขนาดกว้างกว่าแบบอื่นเช่นกัน
ปัจจุบัน สตรีล้านนาไม่ได้นิยมนุ่งซิ่นในวิถีชีวิตประจำวันอีกแล้ว เนื่องด้วยการแต่งกายแบบตะวันตกนั้นสะดวกสะบายมากกว่า แต่ซิ่นก็ไม่ได้เลือนหายไป ยังคงมีการอนุรักษ์การนุ่งซิ่นมาโดยตลอด มีการสวมใส่ซิ่นในวาระสำคัญต่าง ๆ เช่น งานเฉลิมฉลอง งานแห่ หรืองานที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาที่หลายคนนิยมนุ่งซิ่นเข้าวัด รวมถึงในระดับโรงเรียนก็มีการรณรงค์ให้นุ่งซิ่นหรือแต่งกายชุดพื้นเมืองล้านนาประจำอีกด้วย
อ้างอิง :
ทรงศักดิ์ ปรางวัฒนกุล. (2538). ตีนจกเชียงใหม่ จากอดีตที่ผ่านเลย. วารสารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ปีที่ 5 : หน้า 85-88.
วะสิน อุ่นจะนำ. (2555, กรกฎาคม-ธันวาคม). การแต่งกายแบบจารีตของชาวเชียงใหม่. ร่มพยอม, วารสารสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ปีที่ 14 (ฉบับที่ 2) : หน้า 43-49
เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 15 กรกฎาคม 2562