ตำนานกำเนิด “การ์กอยล์” อสุรกายแห่งรูออง จากผู้คุกคาม สู่ผู้คุ้มครอง

ปีศาจ การ์กอยล์ มหาวิหาร นอเทรอดาม กรุงปารีส
การ์กอยล์ มหาวิหารนอเทรอดาม (ภาพโดย Máxima Ortega Solano ใน Pixabay)

การ์กอยล์ (Gargoyle) หรือ ปนาลี มาจากคำว่า “Gargouille” (กากุยล์) ในภาษาฝรั่งเศสโบราณ แปลว่า “ปาก” การที่เสียงของคำว่า Gargoyle คล้ายเสียงกลั้วน้ำในปาก และคล้ายคำว่า “Gargle” (บ้วนปาก) ในภาษาอังกฤษ คือสิ่งบอกใบ้ถึงความเป็นมาแห่งนามของ การ์กอยล์ ได้เป็นอย่างดี

โดยทั่วไปเราจะเห็น การ์กอยล์ หรือ ปนาลี ประดับอยู่ตามมุมหลังคาหรือผนังด้านนอกอาคาร โดยเฉพาะโบสถ์คริสต์สไตล์โกธิค ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดการประดับรูปปั้นเหล่านี้ รูปร่างของการ์กอยล์นั้นมีทั้งมังกร อสุรกาย ปีศาจ อมนุษย์ ว่าง่าย ๆ คือ สัตว์ประหลาดหน้าตาดุร้ายทั้งหลาย แต่ที่โด่งดังอย่างมากคือการ์กอยล์แห่ง มหาวิหารนอเทรอดาม กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีการประดับตกแต่งด้วยปีศาจเหล่านี้เต็มไปหมด และมีส่วนหนึ่งที่ดูคล้ายมนุษย์ค้างคาวด้วย

อสุรกายแห่งรูออง

ตำนานกำเนิด การ์กอยล์ ของชาวยุโรปเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 7 ณ หมู่บ้านรูออง (Rouen) ตอนเหนือของฝรั่งเศส มหันตภัยที่กำลังคุกคามหมู่บ้านแห่งนี้อยู่คือ “มังกร” นามว่า ลา กากุยล์ (La Gargouille) เป็นมังกรไฟคอยาว มีปีก ตามแบบฉบับมังกรตะวันตก ลา กากุยล์ สามารถบินเหนือหมู่บ้านแล้วพ่นไฟแผดเผาเรือกสวนไร่นากับบ้านเรือน รวมทั้งอาละวาดทำร้ายหรือกินชาวบ้านกับฝูงปศุสัตว์ได้ด้วย มันยื่นคำขาดให้ชาวบ้านรูอองส่งหญิงสาวของหมู่บ้านเป็นเหยื่อให้มันประจำทุกปี ชาวบ้านก็ยอมทำตามอย่างจำใจ

ในที่สุด หมู่บ้านรูอองก็มี “ฮีโร่” มาช่วย เป็นนักบวชคริสต์ นาม เซนต์โรมานุส (St. Romanus) หรือนักบุญโรมานุส ผู้มีเพียงไม้กางเขนและน้ำมันศักดิ์สิทธิ์สำหรับปราบ ลา การ์กุยล์ ท้ายที่สุดมังกรร้ายก็สยบต่อนักบวชผู้นี้ ท่านส่งมันให้ชาวบ้านจัดการเอง ชาวรูอองผู้เคียดแค้นลงมือสังหารเจ้ามังกรก่อนนำไปเผาไฟ แต่เพลิงไม่อาจทำลายมังกรไฟให้สิ้นซากได้ เพราะส่วนหัวและคอของมังกรร้ายไม่ยอมไหม้ไฟ 

เซนต์โรมานุสจึงให้ชาวบ้านนำหัวมังกรไปประดับกำแพงวิหาร ซึ่งเป็นโบสถ์ที่ชาวบ้านสร้างเพื่ออุทิศถวายแด่วีรกรรมของท่านเอง กลายเป็นธรรมเนียมการประดับรูปปั้นปีศาจ “การ์กอยล์” ตามอาคารโบสถ์หรือศาสนสถานในคริสต์ศาสนานับแต่นั้น ความเชื่อที่คู่มากับตำนานนี้คือ หัวมังกรมีอานุภาพขับไล่ความชั่วร้ายทั้งหลายได้ แต่บางตำนานเล่าว่า ปีศาจตัวดังกล่าวไม่ใช่มังกร แต่เป็นอมนุษย์รูปร่างคล้าย “ค้างคาว”

เมื่อค่านิยมการประดับหัวมังกรแพร่หลายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ความหลากหลายของไอเดียการสร้างรูปปั้นเริ่มกระจัดกระจายเป็นปีศาจนานาเผ่าพันธุ์ตามท้องถิ่น แต่ไม่ว่าการ์กอยล์จะถูกสร้างให้เป็นตัวอะไร หน้าตาของมันจะต้องดุร้ายและน่าเกลียดน่ากลัวไว้ก่อน เพื่อข่มขวัญสิ่งชั่วร้ายที่เข้าใกล้เขตอาคารให้มากที่สุด

เซนต์โรมานุส มังกร ลา การ์กอยล์
เซนต์โรมานุสกำราบมังกร ลา การ์กอยล์ (ภาพจาก Normandy Then and Now)

ปีศาจผู้พิทักษ์

ด้านความเชื่อ การ์กอยล์ถือเป็น “ผู้พิทักษ์วิหาร” เพราะคอยขับไล่สิ่งชั่วร้ายไม่ให้ย่างกรายมาใกล้ตัวอาคารหรือศาสนสถาน และปกป้องผู้ศรัทธาจากการรังควาญของเหล่าปีศาจนอกศาสนิก ตำนานเล่าว่า แม้การ์กอยล์ในรูปลักษณ์สารพัดสัตว์ประหลาดจะเป็นหินหรือรูปปั้นแข็งทื่อในตอนกลางวัน แต่พวกมันจะมีชีวิตในตอนกลางคืน ยิ่งไปกว่านั้น การ์กอยล์สามารถเฝ้ามองผู้คนผ่านไปมาได้แม้อยู่ในสภาพที่ภายนอกเป็นหิน

อย่างไรก็ตาม ในด้านงานสถาปัตยกรรม หน้าที่ของการ์กอยล์ไม่ใช่เพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายภายนอก แต่คือการปกป้องอาคารศาสนสถานจาก “น้ำฝน” ที่มาจากด้านบนหรือหลังคาอาคาร จะเห็นว่ารูปปั้นการ์กอยล์คือปลายทางของ “ท่อระบายน้ำ” ที่ลำเลียงน้ำจากทั่วตัวอาคารส่งออกไปข้างนอก ป้องกันไม่ให้น้ำฝนกัดเซาะสร้างความเสียหายแก่ตัวโบสถ์ นับเป็นการประดับตกแต่งอย่างชาญฉลาดที่ได้ทั้งความสวยงาม สื่อความหมายทางศรัทธา และปิดบังรางน้ำไม่ให้ยื่นออกมาลอย ๆ จนดูไม่เจริญตาสำหรับศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์

จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการ์กอยล์ต้องมี “คอ” หรือรูปร่างเหยียดยาวยื่นออกมา เพื่อส่งน้ำออกไปให้ไกล นี่ยังเป็นที่มาของชื่อ “กากุยล์” (ปาก) ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน้าที่ดังกล่าว เพราะท่อน้ำมักสิ้นสุดบริเวณปากของรูปปั้นเสมอ

ด้านศิลปกรรม ศิลปะโกธิคของโบสถ์ที่ประดับตัวการ์กอยล์คือจุดสูงสุดของพัฒนาการศิลปกรรมแห่งยุคกลางของยุโรป ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายยุคกลางต่อเนื่องยุคเรเนซองส์ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12-16 มีตัวการ์กอยล์เป็นตัวแทนงานศิลปกรรมจากความเชื่อเรื่องสัตว์ประหลาด และเป็นส่วนเติมเต็มให้งานสถาปัตยกรรมมีอายุยืนยาวขึ้น

แม้จะปรากฏในตำนานคริสต์ศาสนาของยุโรปยุคกลาง แต่นวัตกรรมหัวสัตว์ระบายน้ำมีอยู่ในอารยธรรมอื่น ๆ ทั่วโลกก่อนหน้านั้นแล้ว เช่น ตุรกี อียิปต์ หรือกรีซ ยกตัวอย่าง วิหารเทพซุส ในประเทศกรีซ มีการพบร่องรอยรูปปั้นในลักษณะและตำแหน่งที่บ่งชี้วัตถุประสงค์เดียวกันกับการ์กอยล์จำนวนหลายสิบตัว และอาจมีถึงร้อยตัวสมัยที่วิหารนี้ยังสมบูรณ์ จึงไม่แน่ว่ายุโรปตะวันตกรับเอาค่านิยมการปั้นการ์กอยล์จากต่างแดน ก่อนทำการ “เลื่อนขั้น” ปีศาจในนิทานปรัมปราให้เป็น “ผู้พิทักษ์” หรือตัวแทนของคริสตจักร คอยปกป้องคริสตศาสนิกชนจากความชั่วร้าย

วิธีการดังกล่าวดูจะเข้าใจและจับต้องง่ายกว่าชาวบ้านทั่ว ๆ ไปในยุคกลาง เพราะพวกเขาไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ การรับรู้ว่าศรัทธาของตนมีผู้คุ้มกันย่อมอุ่นใจกว่าการเพ่งดูคำภาษาละตินในพระคัมภีร์ที่พวกเขาไม่เข้าใจความหมายด้วยซ้ำ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในความพิเศษของการ์กอยล์คือการเป็นตัวอย่างอันเด่นชัดของ 2 ตัวตนที่แตกต่างกันสุดขั้ว ด้วยรูปลักษณ์น่าสะพรึงกลัว เหมือนตัวแทนของความเลวทราม แต่มันกลับเป็นผู้พิทักษ์ศาสนสถาน ปกป้องผู้ศรัทธา ทำให้ภาพลักษณ์ของการ์กอยล์ดูเหมือนกระเด็นกระดอนไปมาระหว่าง “ความชั่ว” กับ “ความดี”

ในแง่หนึ่ง การ์กอยล์อาจมีส่วนช่วยเผยแผ่คริสต์ศาสนาในยุโรปสมัยกลางด้วย เพราะมีการพบว่า การ์กอยล์ส่วนหนึ่งถูกสร้าง “อย่างจงใจ” ให้เหมือนเทพหรือสัตว์ประหลาดในตำนานท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อจูงใจ “คนนอกรีต” ให้รับคริสต์ศาสนาได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

รูปปั้น การ์กอยล์
การ์กอยล์ของอาคารศาลาว่าการหลังเก่า กรุงโทรอนโต ประเทศแคนาดา, ภาพปี 1920 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความนิยมในการสร้างรูปปั้นการ์กอยล์ก็เปลี่ยนไปด้วย นอกจาก “ปีศาจ” เหล่านี้จะถูกนำไปประดับตกแต่งอาคารอื่น ๆ นอกเหนือจากวิหารแล้ว การ์กอยล์สมัยใหม่ยังถูกแต่งเติมไอเดียให้แหวกไปจากสัตว์ประหลาดในปกรนัมหรือตำนานทางศาสนา กลายเป็นสิ่งสะท้อนความร่วมสมัย  ตั้งแต่การทำเป็นมนุษย์หน้าตาประหลาด ไปถึง “เอเลี่ยน” ก็มี…

สำหรับการ์กอยล์แห่งมหาวิหารนอเทรอดามนั้น แม้ตัววิหารจะสร้างตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่แพลนเดิมไม่ได้วางให้มีรูปปั้นการ์กอยล์ประดับแต่อย่างใด พวกมันเพิ่งถูกเพิ่มเข้าไปเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 นี่เอง อย่างไรก็ตาม การ์กอยล์พวกนี้ทำให้ตัวมหาวิหารดูเป็นโบสถ์ที่เหมือนหลุดออกมาจากยุคกลางจริง ๆ อย่างไรอย่างนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Designing Buildings Wiki. Gargoyle. Sep 06, 2021. From https://www.designingbuildings.co.uk/wiki/Gargoyle

Friends of Notre-Dame de Paris. Notre-Dame Cathedral’s Gargoyles: Guardians Of A Gothic Masterpiece. Retrieved August 15, 2023. From https://www.friendsofnotredamedeparis.org/cathedral/artifacts/gargoyles/#:~:text=Gargoyles%20originated%20in%20medieval%20Europe,by%20erosion%20and%20water%20infiltration.

Jim Reed, Ravenwood Castle. Legends and Lore – The Gargoyle. (April 21, 2015). From https://www.ravenwoodcastle.com/2015/04/21/legends-and-lore-the-gargoyle/

Panon Sooksompong, Design Something. ตัวอะไรอยู่บนนั้น? รูปปั้นสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่(บนหลังคา). สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566. จาก https://dsignsomething.com/2023/05/16/gargoyles/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2566