ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อกล่าวถึงนิทานสอนใจ ก็ต้องยกให้ “นิทานอีสป” เพราะตอนจบของนิทานทุกเรื่องจะมีข้อสรุปเรื่องว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” เช่นนิทานเรื่องที่ 15 “ลา หมาจิ้งจอก กับราชสีห์” ตอนจบนิทานเรื่องดังกล่าวสรุปว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เพื่อนที่ไม่ซื่อตรงต่อเพื่อน ย่อมมีความอันตรายมาถึงตน”
ส่วนเนื้อหาทั้งหมดของเรื่อง “ลา หมาจิ้งจอก และราชสีห์” นั้น อ้างอิงจากหนังสืออ่านนิทานอีสป มหาอำมาตย์โท พระยาเมธาธิบดี เรียบเรียง พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท พระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยารามวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2499 บันทึกไว้ดังนี้
“เรื่อง ลา หมาจิ้งจอก กับราชสีห์
ลากับหมาจิ้งจอกสบถเป็นเกลอกันว่า ถึงจะตกทุกข์ได้ยากหรือได้ความคับแค้นอย่างไร ๆ ก็จะไม่ละทิ้งกัน วันหนึ่ง สัตว์ทั้งสองนี้พากันไปหากินในป่า เผอิญไปพบราชสีห์เดินมาแต่ไกล จะหลบหนีอย่างไรก็ไม่ทัน
หมาจิ้งจอกรู้ว่า อันตรายจะมาถึงตัว จึงรีบวิ่งไปหาราชสีห์ แล้วบอกแก่ราชสีห์ว่า จะรับอาสาหาลาให้กินสักตัวหนึ่ง แต่ขออย่าให้ราชสีห์ทำร้ายแก่ตัวเลย
ราชสีห์รู้เท่าหมาจิ้งจอก จึงแกล้งรับว่า ถ้าคิดอ่านลวงลามาให้ได้แล้ว จะปล่อยหมาจิ้งจอกไป หมาจิ้งจอกก็ดีใจ วิ่งไปพูดแก่ลาว่า ราชสีห์จะไม่ทำอันตรายแก่ตนทั้งสอง แล้วก็ลวงลาให้เดินไปจนตกลงในหล่มลึก
เมื่อหมาจิ้งจอกเห็นลาติดหล่มแล้ว ก็วิ่งกลับมาแจ้งความแก่ราชสีห์ว่า ‘ข้าพเจ้าลวงลาไปติดหล่มอยู่แล้ว เชิญท่านไปกินลาเถิด’ ราชสีห์ก็จับหมาจิ้งจอกกินเสียในทันใด แล้วจึงค่อย ๆ เดินไปกัดลากินเมื่อภายหลัง
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เพื่อนที่ไม่ซื่อตรงต่อเพื่อน ย่อมมีความอันตรายมาถึงตน”
ลา หมาจิ้งจอก ราชสีห์ ในเรื่องนี้ เป็นเสน่ห์การนำเสนอของนิทานอีสป และความสามารถของผู้แต่งที่ใช้บุคลิกภาพของสัตว์ แทนบุคคลหลายประเภทในชีวิตจริง ก่อนแปรมาเป็นความสอนใจ นั่นจึงทำให้นิทานอีสปยังคงร่วมสมัย
อ่านเพิ่มเติม :
- พระยาเมธาธิบดี ผู้นำ “นิทานอีสป” มาเผยแพร่ในไทย ยอดพิมพ์กว่าล้านเล่ม
- “งูเห่า” หมายถึงอะไร ทำไมใครๆปฏิเสธไม่มีงูเห่า,ไม่เป็นงูเห่า
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566