อุโบสถ “วัดสามแก้ว” จินตภาพของศิลปกรรมไทยประยุกต์ : ยุคสยามใหม่

อุโบสถ วัดสามแก้ว จังหวัดชุมพร
อุโบสถวัดสามแก้ว จังหวัดชุมพร (ภาพจากนิตยสารเมืองโบราณ ปี่ที่ 22 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2539)

อุโบสถ “วัดสามแก้ว” งาน สถาปัตยกรรม และ ศิลปกรรม ที่สะท้อนภาพทางสังคมของบ้านเมือง

อุโบสถ วัดสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร สร้างขึ้นในช่วงสมัยต้นรัชกาลที่ 7 รูปแบบของ ศิลปกรรม และ สถาปัตยกรรม ดังกล่าวแม้จะไม่ได้เป็นผลงานชิ้นเอกในระดับแนวหน้าของศิลปะไทย แต่ก็สะท้อนภาพทางสังคม และสำนึกทางวัฒนธรรม ตลอดจนโลกทัศน์ในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

ประวัติ วัดสามแก้ว

พระธรรมโกษาจารย์ (เซุ่ง อุตตโม)
พระธรรมโกษาจารย์ (เซุ่ง อุตตโม)

พระธรรมโกษาจารย์ (เซ่ง อุตตโม) ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะมณฑลภูเก็ตและนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกับนายอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพรคือหลวงศรีสุพรรณดิฐ (เผียน ชุมวรฐายี) และชาวบ้านผู้ศรัทธาในพื้นที่บริเวณนั้น ช่วยกันถางป่าสร้างที่พัก และศาลาธรรมธรรมสภาถาวรขึ้นใน พ.ศ. 2468 เพื่อใช้เป็นที่พักระหว่างทางในการเดินทางมาตรวจตราคณะสงฆ์ในภาคใต้ (ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว)

ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2467 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้ทำพิธีฝังรากอุโบสถต่อมาจนสำเร็จในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2467 มีพระภัทรธรรมธาดา (จรูญ สุทโธ เปรียญ 5 ประโยค) สังกัดธรรมยุตินิกาย เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2472 เป็นต้นมา

การสร้าง อุโบสถ ครั้งนั้นเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองฝ่ายรัฐและศาสนจักร โดยได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการต่าง ๆ เช่น แพนกมหาดไทย แพนกคลัง แพนกอัยการข้าราชการอำเภอท่าตะเภา หม่อมใหญ่เทวกุล ตลอดจนพ่อค้าประชาชนต่าง ๆ ในพื้นที่ ดังพบรายชื่อของผู้บริจาคทุนทรัพย์ในการสร้างใต้ภาพจิตรกรรมในอุโบสถจำนวนมาก ภายหลังการสร้างอุโบสถวัดสามแก้วเสร็จแล้ว ใน พ.ศ. 2473 พระธรรมโกษาจารย์ (เซ่ง อุตตโม) ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม

ศิลปะ และ สถาปัตยกรรม อุโบสถ “วัดสามแก้ว”

นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาประเทศไทยได้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญเท่าเทียมกับต่างประเทศ ซึ่งในด้านเทคโนโลยีและการก่อสร้างอาคาร ได้มีการจ้างสถาปนิกชาวตะวันตกเข้ามารับใช้ในราชการเพื่อออกแบบอาคารประเภทต่าง ๆ โดยสถาปนิกเหล่านี้ได้นำรูปแบบ สถาปัตยกรรม แบบ Classicism และ Romanticism มาเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งในช่วงปลายรัชกาลมีการนำรูปแบบ สถาปัตยกรรม แบบ Modern style ที่ใช้วัสดุสมัยใหม่ เช่น คอนกรีตเสริมเหล็ก เหล็ก กระจก มาใช้ในการออกแบบ งาน Modern style นี้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Art nouveau และ Jugendstil

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 แนวความคิดแบบสมัยใหม่ (Modernism) ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารสาธารณะและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งแนวความคิดแบบสมัยใหม่นี้จะปฏิเสธรูปแบบ สถาปัตยกรรม แบบประวัติศาสตร์โดยสิ้นเชิง โดยมีแนวคิดคือ เรียบง่าย อวดรูปทรงและปริมาตร ประโยชน์ใช้งานและเหตุผล แสดงความงามโครงสร้างและวัสดุ ตัวอย่างแบบอาคารที่ได้รับอิทธิพลสมัยใหม่แนวสากลเรียบง่าย ในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ได้แก่ อาคารสำนักงานบริษัทปูนซีเมนต์ไทยจำกัด สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2456 มีลักษณะเป็นกล่องเป็นเหลี่ยม รูปแบบเรียบตรงไปตรงมา ไม่มีลูกเล่น ใช้แผ่นกันสาดคอนกรีตที่หน้าต่างเพื่อกันแดดและฝน หน้าต่างใช้วัสดุกระจก ลักษณะหลังคา แม้จะยังไม่ใช่หลังคาตัดเรียบแบน (Flat roof)สร้างด้วยคอนกรีตตามแนวคิดสมัยใหม่ แต่ก็เป็นหลังคามุงกระเบื้องที่มีความลาดเอียงน้อยจนสามารถปิดหลังคาด้วยผนังบังหลังคา (parapet) แนวโน้มในการสร้างอาคารแบบสมัยใหม่นี้คงมีจำนวนไม่มากนัก

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มุ่งสู่ความทันสมัย (Modernization) พร้อมกับการแปรผันเข้าสู่วัฒนธรรมตะวันตก ทำให้มีความจำเป็นต้องมีอาคารใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการหน้าที่ประโยชน์ใช้สอยที่เพิ่มขึ้นของสังคม ซึ่งอาคารเหล่านี้มีรูปแบบ สถาปัตยกรรม ตะวันตกในแนวต่าง ๆ ได้แก่ แนวสากลเรียบง่าย (Modern) แนวนีโอ-พลาสติก (Neo-Plastic) แนวอาร์ตเดกอ (Art-Deco) แนวนีโอคลาสสิค (Neo-Classic) และแนว สถาปัตยกรรม พื้นถิ่นตะวันตก

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น เป็นยุคที่มีแนวคิดในการหวนกลับมานิยมรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจารีต โดยพยายามนิยามรูปแบบงานศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบจารีตใหม่ให้สามารถเป็นที่ยอมรับภายใต้ค่านิยมเรื่องความศิวิไลซ์ เปลี่ยนมาเน้นคุณค่าความหมายของรูปแบบงานประเพณีว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญทางวัฒนธรรมในอดีตของสยามและเป็นสัญลักษณ์ของชาติ โดยเน้นมิติในเชิงคุณค่าของความวิจิตร ประณีต สวยงาม เน้นความเป็นงานฝีมือเชิงช่าง

ความหมายดังกล่าวเข้ามาแทนบทบาทเชิงสัญลักษณ์และหน้าที่ทางสังคมแบบเดิมของงานแบบจารีต ซึ่งแต่เดิมอิงอยู่กับแนวคิดแบบจักรวาลทัศน์ไตรภูมิ แนวความคิดดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบจากอาคารแบบประเพณีผสมผสานแนวคิดแบบตะวันตกซึ่งได้ปรากฏมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และได้พัฒนาเป็น “สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์” และ “สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังพบในผลงานของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และถ้าเรียงลำดับเวลาผลงานการออกแบบอาคารประเภท อุโบสถ และ วิหาร แล้ว ก็จะแสดงให้เห็นถึงแนวความคิดของท่านที่จะพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

อาคารทางพุทธศาสนาที่ถือว่าน่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ได้แก่ พระอุโบสถวัดราชาธิวาส เนื่องจากเป็นอาคารที่ถูกผสมผสานแนวคิดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แม้กระทั่งการใช้วัสดุและเทคนิคสมัยใหม่ แนวความคิดดังกล่าวยังได้ถูกถ่ายทอดต่อมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

ในช่วงก่อนที่พระธรรมโกษาจารย์ (เซ่ง อุตตโม) จะสร้าง อุโบสถ วัดสามแก้วนั้น ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส และมีประสบการณ์รับรู้ผลงาน ศิลปกรรม และ สถาปัตยกรรม ที่ปรากฏอยู่ในวัดราชาธิวาสคือ พระอุโบสถและศาลาการเปรียญที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ประกอบกับสภาพทางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป จึงอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านนำแนวคิดในการสร้างสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่มาใช้ในการสร้างพระอุโบสถวัดสามแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ท่านได้ใช้เป็นที่พักระหว่างทางในการเดินทางมาตรวจคณะสงฆ์ในภาคใต้

โดยเมื่อพิจารณาจากรูปแบบและรายละเอียดแล้ว พบองค์ประกอบบางอย่าง เช่น ลวดลายประดับ บานประตู หน้าต่าง และคันทวยใกล้เคียงกับศาลาการเปรียญวัดราชาธิวาส ที่ออกแบบโดยพระยาจินดารังสรรค์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งขณะนั้นสังกัดอยู่กรมศิลปากร จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่าพระยาจินดารังสรรค์หรือช่างในกรมศิลปากรอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบ อุโบสถ วัดสามแก้ว ก็เป็นได้

การก่อสร้าง อุโบสถ วัดสามแก้ว นี้ใช้วัสดุและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยใช้ปูนซีเมนต์และการหล่อเสา คานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนัก ทำให้การก่อผนังอาคารไม่ต้องมีความหนา อันเป็นเทคโนโลยีแบบตะวันตกที่นำเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะหลังคาแบนราบ (Flat roof) ไม่มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยตามแบบจารีต คือ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ตามสาระในงานพุทธสถาปัตยกรรมไทย มีการยื่นหลังคาออกมาเป็นกันสาด เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นในประเทศไทย รองรับด้วยคันทวยที่หลังคากันสาดทั้ง 2 ชั้น ที่ผนังด้านบนของอาคารทั้ง 4 ด้านมีช่องลมที่ฉลุลวดลายเพื่อใช้ระบายความร้อนจากหลังคา

ตัวอาคารมีการประดับลวดลายไทยที่กรอบประตูและหน้าต่างโดยใช้เทคนิคการปั้น ทำพิมพ์ แล้วหล่อนำมาแปะติดที่ตัวอาคาร ลักษณะของอุโบสถเป็นอาคารยกพื้นสูงจากระดับพื้นดินรองรับด้วยเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นเป็นซีเมนต์ปูด้วยกระเบื้องหินขัด ฐานอาคารภายนอกไม่ใช้รูปแบบตามสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีต แต่มีการฉลุลวดลายให้เป็นช่องระบายอากาศและความชื้นแทนด้านหน้าของอาคารมีการเน้นมุขทางเข้าด้วยหลังคาแบนราบ บริเวณรอบนอกตัวอาคารสร้างเป็นกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ล้อมรอบ เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับตัวอาคารและแสดงขอบเขตพื้นที่การทำสังฆกรรมของ อุโบสถ โดยมีหลักเสมาเป็นหินล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ

จะเห็นได้ว่ารูปแบบของอุโบสถวัดสามแก้วได้นำแนวคิดของอาคารสมัยใหม่ที่มุ่งการลดทอนและละทิ้งรายละเอียดการประดับประดาอาคารมาใช้ แต่เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของอุโบสถวัดสามแก้วแล้ว พบว่าแม้จะมีการตัดเครื่องหลังคาทั้งหมดออกไป โดยทำเป็นหลังคาแบนแทน (Flat roof) (ซึ่งอาจจะด้วยเหตุผลทางการออกแบบหรือการประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายก็ตาม) แต่ก็ยังพบการประดับตกแต่งบริเวณอื่น ๆ ตามแบบองค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีตในศาสนาพุทธ เช่น กรอบประตู-หน้าต่าง และคันทวยรองรับชายคากันสาด

อย่างไรก็ตามการออกแบบหลังคาแบน ที่ทำด้วยคอนกรีตนี้จะสะสมความร้อนในเวลากลางวันไว้มากกว่าหลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องดินเผาและกระเบื้องคอนกรีต ทำให้เกิดการคายความร้อนออกมาในช่วงที่อากาศเย็นลง และการที่หลังคาแบนมีความลาดเอียงน้อย น้ำฝนจึงมักขังอยู่บนหลังคาได้ง่าย ทำให้เกิดการรั่วซึมอยู่บ่อย ๆ ลักษณะของหลังคาทรงนี้จึงไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)
พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)

ส่วนการตกแต่งภายในอุโบสถวัดสามแก้วนั้น พระธรรมโกษาจารย์ (เซ่ง อุตตโม) ได้ชักชวน พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาวาดภาพภายในอุโบสถ การชักชวนพระยาอนุศาสน์จิตรกรให้มาวาดภาพครั้งนี้แสดงถึงจุดประสงค์ของพระธรรมโกษาจารย์ที่จะให้อุโบสถวัดสามแก้วนี้เป็น ศิลปกรรม และ สถาปัตยกรรม ที่สะท้อนความเป็นไทยสมัยใหม่อย่างแน่นอน

เพราะเทคนิคและวิธีการเขียนภาพของพระยาอนุศาสน์ที่ปรากฏในอุโบสถนั้น เป็นการใช้เทคนิคสีน้ำมันแบบตะวันตก และรูปแบบการเขียนภาพในแนวเหมือนจริงหรือสัจนิยม ที่แตกต่างไปจากการเขียนภาพแบบจารีตซึ่งคงเป็นที่ทราบดีในสมัยนั้น แรงบันดาลใจดังกล่าวน่าจะเกิดจากจิตรกรรมสมัยใหม่ที่วาดภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสซึ่งออกแบบโดยสมเด็จกรมพระยานิรศรานุวัติวงศ์ และวาดโดย คาร์โล ริโกรี (Carlo Rigoli) ศิลปินชาวอิตาเลียน ทำให้พระธรรมโกษาจารย์นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการออกแบบ อุโบสถ วัดสามแก้ว

แต่อย่างไรก็ตามองค์ประกอบของภาพและการจัดลำดับของภาพในอุโบสถนั้นยังแบ่งเป็น 3 ชั้น ตามคติแนวความคิดแบบประเพณีนิยม คือ ด้านบนสุดเป็นเทวดา และนางฟ้า ถัดลงมาเป็นเทพชุมนุม ประกอบด้วยเทพต่าง ๆ ทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ด้านล่างสุดระหว่างช่องหน้าต่างและบานประตูวาดเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ พื้นที่บนเพดาน ถูกวาดด้วยลวดลายดาวเพดานตามคติประเพณี ส่วนพื้นที่บริเวณโครงสร้างเสาและคานถูกตกแต่งด้วยลายไทย

ถ้าเราย้อนกลับไปดูผลงานของพระยาอนุศาสน์จิตรกรก่อนหน้านี้ จะพบว่า ท่านได้วาดภาพรูปเทพชุมนุม ประดับตามที่ต่าง ๆ มาแล้ว เช่นที่ ผนังห้องพระเจ้า (ห้องพระ) พระที่นั่งพิมานปฐม ในพระราชวังสนามจันทร์ วิหารที่วัดพระปฐมเจดีย์ และที่อุโบสถวัดสามแก้วนี้ ก็พบรูปเทพชุมนุมอีกเช่นกัน แนวความคิดการวาดภาพเทพชุมนุมนี้เป็นการสืบต่อแนวคิดแบบจารีตที่พบในจิตรกรรมสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในส่วนภาพจิตรกรรมที่แสดงเนื้อเรื่องบนผนังระหว่างช่องหน้าต่างและประตูนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเนื้อเรื่องที่มาจากบทพาหุง (พุทธชัยมงคล 8) แสดงถึงตอนสำคัญที่พระพุทธเจ้าชนะมารทั้ง 8 ครั้ง

บทพาหุง นี้เรียกอีกอย่างว่า “คำถวายพรพระ” เป็นบทสวดที่พระสงฆ์ต้องการแต่งบทบาลีคาถาเกี่ยวกับชัยชนะเพื่อถวายพระพรแด่พระเจ้าอยู่หัวให้ทรงชนะศึก การวาดภาพจิตรกรรมบทพาหุงนี้ปรากฏอยู่บนฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และถูกวาดไว้เมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในสมัยรัชกาลที่ 3 บนผนังมุขหลังของพระวิหารทิศใต้ (ปัจจุบันถูกลบออกไปแล้ว) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมก่อนหน้านี้มาตั้งแต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาพจิตรกรรมที่แสดงเนื้อเรื่องบทพาหุงในอุโบสถวัดสามแก้วมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

1.พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง คิริเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ. “พระยามารนิรมิตแขนพันหนึ่ง ถืออาวุธครบทุกมือ ขี่ช้างครีเมขล์ พร้อมด้วยเสนาโห่ร้องกึกก้องเข้ามาผจญพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ให้พ่ายไปด้วยวิธีที่ชอบมีทานเป็นต้น ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด” (รูปที่ 1)

พระแม่ธรณี ขับไล่ พญามาร อุโบสถ วัดสามแก้ว
รูปที่ 1 พระแม่ธรณีขับไล่พญามาร (ภาพจาก www.archae.su.ac.th)

2.มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง โฆรัง ปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตัน เตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ. “อาฬวกยักษ์มีฤทธิ์กล้ายิ่งกว่าพระยามาร มีสันดานอันกระด้างปราศจากความอดทนเข้ามาผจญต่อสู้พระพุทธเจ้าคืนยังรุ่ง พระองค์ก็ได้ชนะด้วยวิธีทรมานเป็นอันดี คือความอดใจด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ ท่านเถิด” (รูปที่ 2)

พระพุทธเจ้า ทรงชนะ ยักษ์อาฬวกะ อุโบสถ วัดสามแก้ว
รูปที่ 2 พระพุทธเจ้าทรงชนะยักษ์อาฬวกะ (ภาพจาก www.archae.su.ac.th)

3. นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณัน ตังเมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเต ชะสา ภะวันตุ เต ชะยะมังคะลานิ. “ช้างนาฬาคีรีตัวประเสริฐ ซับมันจัดดุร้ายนักประหนึ่งว่าไฟไหม้ป่า หรือจักรผัน หรือสายอสุนี มาผจญพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ชนะเสียได้ด้วยวิธีแผ่เมตตาจิต ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด” (รูปที่ 3)

พระพุทธองค์ ปราบช้างนาฬา คีรี อุโบสถ วัดสามแก้ว
พระพุทธองค์ปราบช้างนาฬา คีรี (ภาพจาก www.archae.su.ac.th)

4. อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง ธาวัง ติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ. “องคุลิมาลโจร ผู้มีสันดานอันหยาบช้า ถือดาบเงื้อเงือดแล่นตามพระพุทธเจ้าไปไกล ๓ โยชน์ พระองค์มีพระหฤทัยน้อมไปในอิทธาภิสังขารก็ชนะได้ ด้วยเดชะ ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด” (รปที่ 4)

พระพุทธองค์ ทรงชนะ องคุริมาล อุโบสถ วัดสามแก้ว
รูปที่ 4 พระพุทธองค์ทรงชนะองคุริมาล (ภาพจาก www.archae.su.ac.th)

5. กัตฺวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ. “นางจิญจมาณวิกา ทำมารยาเอาท่อนไม้ผูกไว้ที่ท้องดุจสตรีมีครรภ์ แล้วมากล่าวคำชั่วหยาบ หาว่าพระพุทธเจ้าทำอะไรกับตน พระองค์ก็ทรงชนะได้ด้วยวิธีอันงาม คืออาการสงบ ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด” (รูปที่ 5)

พระพุทธเจ้า ชนะ นางจิญมาณวิภา
พระพุทธเจ้าชนะนางจิญมาณวิภา (ภาพจาก www.archae.su.ac.th)

6. สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ “สัจจกนิครนถ์ เป็นคนมืดเหลือเกิน มีประสงค์มละความจริงเสีย ชอบใจในการยกวาทะของตนขึ้นให้สูงดังธง พระพุทธเจ้าผู้โพลงด้วยประทีปคือพระปัญญาก็ชนะได้ ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่าน เถิด” (รูปที่ 6)

พระพุทธเจ้า ทรงชนะ สัจจกนิครนถ์
รูปที่ 6 พระพุทธเจ้าทรงชนะสัจจกนิครนถ์ (ภาพจาก www.archae.su.ac.th)

7. นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโต ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ “นันโทปนันทนาคราชผู้มีฤทธิ์มาก พระพุทธเจ้าชนะด้วยวิธีให้นาคคือพระโมคคัลลานเถระ ผู้เป็นชิโนรสไปแผลงฤทธิ์ทรมาน ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด” (รูปที่ 7)

พระโมคัลลานะ ปราบ นันโทปนันทนาคราช
รูปที่ 7 พระโมคัลลานะปราบนันโทปนันทนาคราช (ภาพจาก www.archae.su.ac.th)

8. ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง พฺรัหฺมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ “พกาพรหมผู้มีฤทธิ์ สำคัญตนว่ารุ่งเรืองด้วยความบริสุทธิ์ มีมืออันอสรพิษ คือการถือทิฏฐิผิดขบไม่วาง พระพุทธเจ้าก็ชนะได้ด้วยวิธีคือพระญาณปรีชาดังงูพิษ ด้วยเดชะความชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลจงมีแด่ท่านเถิด” (รูปที่ 8)

พระพุทธเจ้า ทรงชนะ ท้าวพกาพรหม
รูปที่ 8 พระพุทธเจ้าทรงชนะท้าวพกาพรหม (ภาพจาก www.archae.su.ac.th)

ส่วนที่เหลือเป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติในตอนต่าง ๆ ได้แก่ การบำเพ็ญทุกข์กิริยา, การรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา, การแสดงโอวาทปาติโมกข์, ตะปุสะและพัลลิกะถวายสะตุผงสะตุก้อน, แสดงธรรมแก่ปัจจวัคคีย์, ทรงชนะธิดาพญามาร ฯลฯ จุดประสงค์ของการวาดภาพประกอบบทคาถาพาหุงในอุโบสถวัดสามแก้วนี้ นอกเหนือจากการระลึกถึงพุทธธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงชนะหมู่มารแล้ว น่าจะแสดงนัยทางสังคมและการเมืองยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯนั้นเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมือง ทั้งจากภายในและภายนอก เช่น เกิดกบฏ ร.ศ.130 (พ.ศ.2455) ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง (แต่ไม่สำเร็จ) การประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2460 และการคุกคามจากตะวันตก จากบันทึกที่เขียนไว้บนผนังหลังพระประธานกล่าวว่าภาพจิตรกรรมที่วาดขึ้นโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร (ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีในช่วงปลายรัชกาล) นี้ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ภายหลังจากพระองค์ได้ทรงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2468 ความว่า

มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) รับช่วยพระวโรดม แต่เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมโกษา จารย์ เขียนภาพนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2471 ลงมือร่างและเขียนด้วยความพยายาม มิได้คิดถึงความยากลำบาก เมื่อมีธุระจำเป็นก็กลับกรุงเทพฯ ครั้นยามว่างจึงออกมาเขียน ถึงเดือนสิงหาคม 2473 การเขียนภาพจึงแล้วบริบูรณ์ และมิได้ คิดมูลค่า เพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา อุทิศถวายแด่สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ดังนั้นการเขียนภาพพาหุงนี้คงมีนัยที่จะเปรียบเทียบและสรรเสริญพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเป็นดังพระพุทธเจ้าที่ เอาชนะหมู่มารทั้งหลายได้

ความน่าสนใจโดยรวมของผลงานจิตรกรรมที่พระยาอนุศาสน์จิตรกรวาดนั้น นอกจากจะเป็นการวาดในแบบตะวันตกที่ เน้นความเหมือนจริง (แบบสัจนิยม) มีการใช้ทัศนียภาพ (Perspective)แบบตะวันตกเข้ามาช่วยในการสร้างระยะ การใช้สี และทีพู่กันในการวาดแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) แล้ว ยังปรากฏภาพที่มีความน่าสนใจอีก ได้แก่ ภาพพระโม คัลลานะทรมานนันโทปนันทนาคราช ซึ่งรูปนันโทปนันทนาคราชนี้ถูกวาดให้เป็นรูปมังกรตามอย่างจินตนาการของฝรั่ง

การวาดภาพเช่นนี้จะปรากฏในแนวแฟนตาซี ซึ่งน่าจะมีแรงบันดาลใจมาจากจิตรกรรมของตะวันตก อีกภาพหนึ่งได้แก่ ตอน พระพุทธเจ้าทรงทรมานพวกอาฬวกยักษ์และยอมถวายพระกุมารโอรสของพระเจ้าอาฬวีแก่พระพุทธองค์ ถ้าสังเกตที่ องค์พระกุมารนั้น มีการเล่นสายตามองมาที่ผู้ดูภาพ ซึ่งเป็นการสัมพันธ์กับผู้ดูและเป็นการตั้งใจของศิลปิน แนวความคิดในการวาดแบบนี้พบในผลงานจิตรกรรมของศิลปินชาวตะวันตกหลายชิ้น

พระประธาน ภายใน อุโบสถ วัดสามแก้ว
ภาพพระประธานภายในอุโบสถ (ภาพจาก www.archae.su.ac.th)

ส่วนพระประธานที่ปรากฎในอุโบสถนั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ถูกหล่อขึ้นโดยการจำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช แต่ไม่มีการประดับด้วยซุ้มเรือนแก้ว พร้อมทั้งพระอัครสาวกซ้าย-ขวาตามแบบอย่างพระวิหารหลวงที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ยุคสมัยนั้นถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย แนวคิดในการผลิตซ้ำ (จำลอง) พระพุทธชินราชนี้มุ่งแสดงถึงอุดมคติของความงามตามศิลปะแบบสุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของศิลปะในยุคแรกเริ่มของสยามประเทศ และแสดงให้เห็นถึงการสืบทอดแนวความคิดที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มายังสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย และที่ฐานชุกชีของพระประธานนั้นถูกสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายโดยการก่อขึ้นมาเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ไม่มีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายแต่อย่างใด

บนฝาผนังด้านหลังพระประธาน พบตัวอักษรที่เขียน คาถา “เยธัมมา เหตุปัปภวา เตสัง เหตุ ตถาคโต เตสัญจะโย นิโร โธจะ เอวังวาที มหาสมโณติ” แปลว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้า ตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะ มีวาทะตรัสไว้ดังนี้” คาถานี้ถือว่าเป็นแก่นหรือหัวใจของพุทธศาสนา และอยู่ในตำแหน่งระดับเดียวกันกับพระประธาน ส่วนที่ฝาผนังตรงข้ามพระประธานเหนือภาพมารผจญนั้นปรากฏสัญลักษณ์ “อิ สวา สุ” เขียนเป็นอักษรขอม อยู่ภายในรูปดอกบัว ซึ่งเป็นคาถาบูชา พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ มาจากคำย่อ คือ

“อิ” มาจากบท อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ฯลฯ

“สวา” มาจากบท สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโม ฯลฯ

“สุ” มาจากบท สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ฯลฯ

ถ้าวิเคราะห์ตามตำนานในพื้นที่ของวัด ชาวบ้านเล่าว่า ได้เห็นดวงแก้วบริเวณภูเขาแห่งนี้กลางคืนปรากฏเป็นดวงแก้วรัศมีสีนวล 3 ดวงลอยขึ้นจากยอดเขาช้า ๆ แล้วกลับหายสู่ท้องฟ้าปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ปรากฏขึ้นเป็นประจำจนชาวบ้านถือเป็นเรื่องปกติ และเชื่อว่าดวงแก้วทั้งสามดวงนั้น คือสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัยหรือแก้ววิเศษ 3 ประการ ที่ยังความอยู่เย็นเป็นสุขของชาวบ้านในหมู่บ้านของตน อันเป็นที่มาของชื่อวัดสามแก้ว ดังนั้นสัญลักษณ์ที่ถูกวาดบนผนังตรงข้ามพระประธานเหนือภาพพระแม่ธรณี ก็คือ การบูชาพระรัตนตรัย ในคาถา “อิ สวา สุ” นั้นเอง

ในขณะเดียวกันถ้าพิจารณาจากเนื้อเรื่อง และสัญลักษณ์ที่พบของภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ธรรมและชัยชนะของพระพุทธเจ้าต่อหมู่มารต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางพุทธ

ศาสนาของธรรมยุตินิกาย ที่เน้นหลักธรรมอันเป็นแก่นของพุทธศาสนา ดังปรากฏในคาถา “เยธัมมา.. ฯลฯ” และการบูชาพระรัตนตรัยในอักษร “อิ สวา สุ” พร้อมด้วยภาพจิตรกรรมรูปเทวดา เทพเจ้าต่าง ๆ ทั้งในศาสนาพราหมณ์และพุทธ ชุมนุมบนแถวที่สองและสาม ซึ่งอยู่ในท่านั่งพนมมือแสดงความเคารพหันหน้าเข้าสู่พระประธานในปางมารวิชัย ตลอดจนเรื่องราวตามพุทธประวัติในตอนต่าง ๆ จิตรกรรมที่ปรากฏทั้งหมดนี้จึงแสดงแนวความคิดในเชิงสัจนิยม และเมื่อประกอบเข้ากับตัวบทและการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เน้นประโยชน์ใช้สอย โดยพยายามที่จะตัดความสำคัญของ ระเบียบแบบแผนตามประเพณีทิ้งไป อุโบสถวัดสามแก้วจึงสะท้อนภาพของอุดมคติตามแนวความคิดสมัยใหม่ ที่เกิดจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

สรุป

แม้ว่าอุโบสถวัดสามแก้ว จะไม่ใช่ศิลปกรรมชิ้นเอกในสมัยต้นรัชกาลที่ 7 ก็ตาม แต่ก็เปรียบเสมือนเป็นรอยต่อของยุคสมัย ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของศิลปกรรมไทย และแนวความคิดในการสร้างสรรค์ อันแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นที่มีแนวความคิดขัดแย้งกัน 2 ประการ คือ แนวคิดในการพัฒนาไปสู่ความศิวิไลซ์ แต่ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์เพื่อแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าของความเป็นไทย ดังปรากฏใน ศิลปกรรม และ สถาปัตยกรรม ของอุโบสถวัดสามแก้ว ผลจากความพยายามในการประสานแนวความคิดทั้งสองเข้าด้วยกัน ถึงแม้ว่ายังไม่ผสมกลมกลืนกันเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยก็สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงและความพยายามในการพัฒนาของศิลปกรรมไทยในอดีตได้เป็นอย่างดี.

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จุมพล เพิ่มแสงสุวรรณ. “อุโบสถวัดสามแก้ว จินตภาพของศิลปกรรมไทยประยุกต์ : ยุคสยามใหม่”, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม พ.ศ. 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2562