ความสับสน ในงานสถาปัตยกรรมไทย

การเรียกชื่อองค์ประกอบต่างๆ ของสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี และสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทำความลำบากใจให้กับอาจารย์ผู้สอน นักศึกษาผู้เรียน บรรดาช่างและบุคคลทั่วไปเป็นอย่างมาก การเรียกชื่อจะเรียกผิดแผกแตกต่างกันไปแม้จะเรียกในสิ่งเดียวก็ตาม ช่างโบราณต่างสำนัก ต่างถิ่น ต่างคนต่างเรียก แม้แต่สถานศึกษาที่สอนวิชาสถาปัตยกรรมไทย ผู้สอนแต่ละท่านต่างก็ศึกษามาคนละสำนักก็ยังเรียกต่างกัน ทำความลำบากใจกับผู้สอน เมื่อสอนไปแล้วจะขัดแย้งกับอาจารย์ท่านอื่นหรือไม่

บทความและการเรียกชื่อองค์ประกอบต่างๆ ดังต่อไปนี้ ได้สอบทานกับผู้สอนจากสำนักเดียวกัน โดยมีฐานการศึกษาเริ่มแรกคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสมเด็จครูแห่งวงการสถาปัตยกรรมไทย ผู้สืบสายต่อมาคือท่านอาจารย์พระพรหม หรือศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตร ผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งคณบดีท่านแรกของคณะสถาปัตยกรรมไทย ปัจจุบันคือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดวิชาสถาปัตยกรรมไทยจากท่านอาจารย์พระพรหมอยู่หลายปี ขณะท่านสอนท่านจะกล่าวถึงสมเด็จครูอยู่ตลอด ด้วยความยกย่อง เทิดทูน ทั้งเรื่องส่วนพระองค์และเรื่องผลงานทางสถาปัตยกรรมไทย ทำให้ผู้เขียนและเพื่อนๆ เหมือนกับได้ศึกษากับสมเด็จครูโดยตรง หลังจบการศึกษา ทำงานการสอนก็ยังยึดถือแนวทางการสอนการทำงานมาจนถึงปัจจุบัน

ศัพท์ต่างๆ หรือชื่อองค์ประกอบมิได้ตั้งขึ้นเอง ยึดถือแนวทางของท่านอาจารย์พระพรหมอย่างเคร่งครัด ยึดถือได้ ในทำนองกลับกันก็ไม่สามารถระบุได้ว่าชื่อองค์ประกอบต่างๆ ของช่างอาจารย์ต่างสถาบันนั้นผิด การเรียกจะผิดแผกแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในสายของสถาปัตยกรรมไทย ที่น่าห่วงและวิตกก็คือ นักวิชาการในสมัยปัจจุบันที่มิได้มีพื้นฐานโดยตรงทางสถาปัตยกรรมไทย การที่หันมาเขียนหนังสือ
เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมไทย เมื่อเขียนถึงสิ่งใด เมื่อไม่ทราบว่าชื่ออะไร ก็จะตั้งชื่อขึ้นเอง นับว่าเป็นอันตรายต่อวงการสถาปัตยกรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง

๑ ทรงจอมแห, ๒ ปลี - ปลียอด, ๓ ปล้องไฉน - มาลัยเถา
๑ ทรงจอมแห, ๒ ปลี - ปลียอด, ๓ ปล้องไฉน - มาลัยเถา

ในที่นี้จะยกตัวอย่างขององค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไทยที่ยังเรียกสับสนกันอยู่ โดยจะเริ่มต้นด้วยองค์ประกอบของพุทธเจดีย์ทรงกลม หรือเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมตรงส่วนปลียอด ปลียอดนี้จะมีความยาวมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทรง ซึ่งเชื่อและยึดถือกันว่ามาจากแห เรียกทรงของเจดีย์ว่าทรงจอมแห ช่างไทยคงนำเอาวิธีตากแหหลังจากการทอดหรือเหวี่ยงแหในการหาปลา เมื่อนำมาล้างทำความสะอาด ตากให้แห้ง คาวปลาที่ติดอยู่จะได้หมดไป ในการตากแหนั้นจะต้องเอาก้นแหที่มีเชือกผูกกับปลายไม้ไผ่ หรือคล้องกับกิ่งไม้ที่มีความสูงมากกว่าความยาวของแห แล้วปล่อยปากแหที่มีโซ่ตะกั่วอยู่ลอยเหนือพื้น ใช้ท่อนไม้ค้ำให้ปากแหถ่างออก ไม้ยาวมากปากแหก็ถ่างมาก รูปทรงของแหก็จะสั้น ปากแหหรือฐานของเจดีย์ก็จะกว้าง และถ้าไม้ถ่างปากแหสั้น ปากแหหรือฐานก็จะแคบทรงของแหก็จะชะลูด

ทรงที่ชะลูดนี้เองเมื่อเป็นทรงของเจดีย์ส่วนปลียอดก็จะยาวมาก จึงต้องแบ่งปลียอดเป็น 2 ส่วน มีองค์ประกอบรูปทรงกลมบีบให้แบนคล้ายผลของลูกจันทน์คั่นอยู่ตรงส่วนแบ่ง เรียกองค์ประกอบนี้ว่า ลูกแก้ว ช่างยึดถือชื่อนี้ตลอดมา นักวิชาการต่างสาขาบางท่านกลับเรียกลูกแก้วนี้ว่า วงแหวน ปลีนี้ถ้าไม่ยาวมากจะมีช่วงเดียวตลอด เรียก ปลียอด การที่มีความยาวมากมีลูกแก้วแบ่งจะเรียกส่วนล่างว่า ปลี ส่วนบนเรียก ปลียอด ส่วนโคนของปลีจะทำลวดลาย เรียก บัวกาบปลี (ภาพที่ 1-2)

๔ มาลัยลูกแก้ว เจดีย์ทรงกลม - บัวถลา ฐานเจดีย์สมัยสุโขทัย
๔ มาลัยลูกแก้ว เจดีย์ทรงกลม - บัวถลา ฐานเจดีย์สมัยสุโขทัย

องค์ประกอบส่วนฐานของเจดีย์ตรงใต้บัวปากระฆัง หรือบัวปากฐาน จะมีองค์ประกอบเป็นลูกแก้วขนาดใหญ่ซ้อนกัน 3 ชั้น องค์ประกอบนี้เรียกว่า มาลัยลูกแก้ว ซึ่งอยู่ตรงตำแหน่งเดียวกับบัวถลา ทั้ง 3 ชั้นของเจดีย์ทรงกลมของสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย มาลัยลูกแก้วนี้มักจะเรียกสับสนกับมาลัยเถา หรือปล้องไฉน ที่อยู่เหนือบัลลังก์และอยู่ใต้ปลียอดดังกล่าวมาแล้ว (ภาพที่ 3-4)

การเรียกชื่อส่วนที่เป็นหลังคาอาคารสถาปัตยกรรมไทย ยังมีการเรียกที่แตกต่างกันอยู่มาก เช่น การซ้อนของหลังคา ไม่ว่าจะเป็นหลังคาของพระอุโบสถ พระวิหาร การเปรียญ หลังคาล่างสุดจะเรียก ซ้อนที่ 1 แล้วจึงเรียก ซ้อนที่ 2 ซ้อนที่ 3 และซ้อนที่ 4 ตามลำดับ ในแต่ละซ้อนมีระยะห่างของสันหลังคาใกล้เคียงกัน จากน้อยไปหามากในซ้อนบนสุด บางอาคารมีสันหลังคาของซ้อนที่ 1 ห่างหรือต่ำกว่าซ้อนที่ 2 มากจะต้องเรียกหลังคาซ้อนที่ 1 ว่า หลังคาลด หรือ หลังคาชั้นลด

ตัวอย่างเช่น หลังคามุขเด็จของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หลังคามุขเด็จของพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการาม พระอุโบสถวัดกษัตราธิราชจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนอาคารที่มีผังพื้นเป็นมุข และมีหลังคาลด ต้องเรียกหลังคาชนิดนี้ว่า มุขลด ได้แก่ มุขลดของพุทธปรางค์ปราสาท หรือปราสาทพระเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร (ภาพที่ 5-6)

๕ หลังคา ซ้อน - ตับ, ๖ หลังคาลด ชั้นลด มุขลด
๕ หลังคา ซ้อน - ตับ, ๖ หลังคาลด ชั้นลด มุขลด

องค์ประกอบของหลังคาที่เรียกกันหลากหลายและสับสนมากที่สุด คือ หลังคาปีกนก หลังคากันสาด และหลังคาพาไล คำว่าหลังคาปีกนกนั้นสมควรให้สับสน คงต้องศึกษาจากหลังคาของเรือนไทยภาคกลาง ตามแบบแผนเรือนไทยภาคกลางจะมีผืนหลังคาด้านหน้าจั่ว เป็นส่วนยื่นของไขรา หน้าจั่ว ผืนหลังคานี้จะเริ่มจากใต้แผงจั่วเหนือขื่อเผล้ ลาดลงมาถึงเชิงกลอน เชิงกลอนด้านนี้จะเชื่อมต่อกับเชิงกลอนด้านรีซ้ายและขวา หลังคาดังกล่าวนี้คือ หลังคาปีกนก การที่ต้องทำหลังคาปีกนกก็เพื่อให้มีชายคาโดยรอบตัวเรือนนั่นเอง

นอกจากหลังคาปีกนกของเรือนไทยภาคกลางแล้ว ยังมีหลังคาปีกนกด้านหน้าบันพระอุโบสถ หน้าบันพระวิหาร และหน้าบันของการเปรียญหลวงวัดราชนัดดาราม กรุงเทพมหานคร รวมทั้งหลังคาปีกนกของหมู่มหามณเฑียรพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ หอพระราชกรมานุสร

๗ หลังคาปีกนก
๗ หลังคาปีกนก

คำว่าหลังคาปีกนกที่ทำให้สับสนที่สุดคือ หลังคาพระอุโบสถที่เป็นจั่วเปิด ชนิดหลังคา 3 ตับ หลังคาตับ
ที่ 2 ของผืนหลังคาทั้งสองข้าง ก็เรียกว่า หลังคาปีกนก ดังที่หนังสือพุทธศิลปสถาปัตยกรรม ภาคต้น ของอาจารย์พระพรหม หรือ พ. พรหมพิจิตร อาจารย์เรียกแผงปิดจั่วใต้หลังคาตับที่ 2 ที่มีลวดลายตกแต่งว่าลายหน้าอุดปีกนก ฉะนั้น หลังคาเหนืออุดปีกนกก็ต้องเป็นหลังคาปีกนกด้วย โดยสรุปหลังคาปีกนกมีอยู่ 3 ตำแหน่ง คือ หลังคาปีกนกของเรือนไทยภาคกลาง หลังคาปีกนกใต้หน้าบันของพระอุโบสถ พระวิหาร และหลังคาปีกนกของหลังคาตับที่ 2 ของพระอุโบสถแบบจั่วเปิด (ภาพที่ 7-8)

๘ หลังคาปีกนก (ภาพจากหนังสือ “พุทธศิลปสถาปัตยกรรม ภาคต้น” โดย พ. พรหมพิจิตร), ๙ หลังคากันสาด หลังคาปีกนก เรือนไทยภาคกลาง, ๑๐ หลังคากันสาด ศาลาราย และพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร
๘ หลังคาปีกนก (ภาพจากหนังสือ “พุทธศิลปสถาปัตยกรรม ภาคต้น” โดย พ. พรหมพิจิตร), ๙ หลังคากันสาด หลังคาปีกนก เรือนไทยภาคกลาง, ๑๐ หลังคากันสาด ศาลาราย และพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร

กันสาด หรือ หลังคากันสาดหมายถึงหลังคาที่มีชายคาป้องกันฝนสาดถูกตัวอาคารเป็นอันดับแรก และ
ป้องกันแดดส่องเป็นผลพลอยได้ เป็นหลังคาที่ต้องมีชายคาให้น้ำฝนไหลลง ชายคาคลุมโดยรอบ หรือคลุมเป็นส่วนมาก อาจมีหลังคามาบรรจบกันตอนหักมุมเป็นสันตะเข้และตะเข้รางหลังคากันสาดนี้ได้แก่ หลังคากันสาดของเรือนไทยภาคกลางทั้ง 3 ด้าน และบรรจบกับหลังคากันสาดที่ยื่นยาวคลุมพื้นที่ที่เป็นระเบียง เรียกหลังคาผืนนี้ว่า หลังคาระเบียง

หลังคากันสาดบางอาคารมีมากกว่า 1 ตับ ได้แก่ หลังคาที่คลุมพื้นที่ระเบียงโดยรอบ หลังคาตับที่ 2 และตับที่ 3 คลุมพื้นที่เฉลียงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคากันสาดดังกล่าวได้แก่หลังคาของพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร (ภาพที่ 9-11)

ส่วน หลังคาพาไล หรือ หลังคาพะไลนั้นเป็นหลังคาที่คลุมพื้นที่ส่วนที่เรียกว่าพาไล หรือพะไล พื้นพาไลจะเป็นพื้นด้านข้างของอาคาร มีทั้งที่อยู่ระดับพื้นดินและระดับพื้นของฐานอาคาร ลักษณะคล้ายกับระเบียง แต่ไม่มีทางเข้า-ออกกับพื้นภายในอาคาร

๑๑ หลังคากันสาด หลังคาปีกนก, ๑๒ หลังคาพาไล - พะไล, ๑๓ หลังคาพาไล หลังคาพะไล พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๑๑ หลังคากันสาด หลังคาปีกนก, ๑๒ หลังคาพาไล - พะไล, ๑๓ หลังคาพาไล หลังคาพะไล พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำหรับพื้นพาไลระดับพื้นดินได้แก่เรือนไทยภาคกลาง กุฏิสงฆ์ที่มีรูปแบบเป็นเรือนไทยภาคกลาง ที่ยื่นหลังคากันสาดตรงข้ามกับระเบียงให้ยาวกว่าปกติของหลังคากันสาดโดยทั่วไป ต้องใช้เสาตั้งรองรับ เพราะไม่สามารถใช้ไม้เท้าแขน หรือเหล็กแขนนางรองรับได้ หลังคาที่ยื่นยาวนี้เรียก หลังคาพาไล หรือหลังคาพะไล แต่เสาที่รองรับหลังคาเรียก เสานางเรียง ตัวอย่างเช่น กุฏิสงฆ์ของวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี

คำว่า หลังคาพาไล หรือ หลังคาพะไล ยังเรียกหลังคาพระอุโบสถที่ต่อออกไปทางด้านข้างทั้ง 2 ด้าน เพื่อป้องกันฝนสาดและแดดส่องเข้าไปภายใน เนื่องจากตัวพระอุโบสถไม่มีหน้าต่าง มีเพียงช่องแสงโล่งๆ เสาที่รองรับหลังคาเรียก เสาพาไล หรือเสาพะไล ดังเช่น พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพที่ 12-13)

การเรียกชื่อองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไทย และสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี โดยเหล่าช่าง
ครูอาจารย์ นักวิชาการในสาขาและต่างสาขาที่ต่างคนต่างเรียก ทำความสับสนและเข้าใจผิด ยังมีอีกมาก บทความนี้คงทำให้วงการช่าง วงการศึกษา นักวิชาการ มีความเข้าใจตรงกัน รวมทั้งเพื่อเป็นอุทาหรณ์ต่อนักวิชาการต่าง
สาขาได้ระมัดระวังในการเขียนบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยและสาขาวิชาที่เกี่ยวเนื่องต่อไป


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2560