ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2556 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ.สมใจ นิ่มเล็ก |
เผยแพร่ |
คำว่า ย่อมุม เป็นวิธีการหนึ่งของการปฏิบัติงานของ สถาปัตยกรรมไทย ที่เกี่ยวข้องกับผังพื้นที่ของฐาน แท่น ตัวอาคาร หรือรูปทรงของเสา และส่วนยอดหรือส่วนหลังคา การย่อมุม คือ วิธีการแตกมุมใหญ่ของสิ่งต่างๆ ดังกล่าวให้เป็นมุมย่อย มุมที่มากขึ้นจากเดิม และจะเรียกสิ่งต่างๆ ใหม่ตามจำนวนมุมที่เพิ่มขึ้น
ในทางสถาปัตยกรรม การย่อมุมหรือการแตกมุม แต่เดิมมักทำกับเสาไม้ ฐาน หรือแท่นไม้ ช่างจึงเรียกวิธีการนี้ว่า ย่อมุมไม้ บางทีก็เรียก ย่อมุมไม้ ต่อมาก็เรียกการย่อมุมของอาคารสถาปัตยกรรมไทยที่เป็นอาคาร เครื่องก่อ เสาที่ก่อด้วยอิฐ โดยมีคําว่า ไม้อยู่ด้วย เช่น การย่อมุมของเจดีย์ที่มีสิบสองมุม หรือยี่สิบมุม ว่า เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง หรือเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ส่วนเสามีทั้งย่อไม้แปด และย่อไม้สิบสอง
การย่อมุมของสิ่งต่างๆ หรือ ของอาคาร หลังคาหรือเครื่องยอดนั้น มีวิธีการย่ออยู่ 2 วิธี คือ มุมแต่ละมุม ของสิ่งที่ย่อต่างๆ จะอยู่ในลักษณะมุม 45 องศา เรียกวิธีการย่อนี้ว่า ย่อมุมแบบ 45 องศา เช่น การย่อของฐาน หรือแท่นที่ซ้อนกัน
ส่วนอีกวิธีหนึ่งก็คือ มุมทุกมุมที่ย่อจะเป็นเส้นรัศมี มีจุดศูนย์กลางของมุมหรือเส้นอยู่ที่ ยอดสูงสุด เรียกการย่อวิธีนี้ว่า ย่อมุมแบบรัศมี ได้แก่ การย่อมุมของเจดีย์ย่อมุม หรือการย่อมุมของเครื่องยอด ทรงยอดบุษบกหรือทรงยอดมณฑป (ภาพที่ 1)
เหตุผลในการ ย่อมุม
1. ผังพื้น ฐานหรือแท่นที่มีผัง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุมทั้งสี่มองดูแข็งกระด้าง และแหลมคม รวมทั้งมุมที่แหลมคมนั้นจะเป็นอันตรายเมื่อเดินผ่าน มีวิธีแก้ด้วยการตัดมุมอย่างหนึ่ง และเมื่อย่อมุมทั้งสี่ให้เป็นมุมย่อย ด้วยการย่อมุมไม้แปด หรือย่อมุมไม้สิบสอง มุมแหลมของมุมย่อยจะอยู่ในแนวเดียวกับเส้นแนวของการตัดมุม
ฐานชุกชีที่รองรับรัตนบัลลังก์ยังมีการยื่นฐานด้านหน้าออกมา เพื่อตั้งของเครื่องบูชาต่างๆ เรียกว่าการ ย่อเก็จ ฐานย่อเก็จที่ยื่นออกมาก็ต้องมีการย่อมุม จํานวนการย่อจะต้องเท่ากับการย่อของฐานเดิม เช่น การย่อมุมไม้สิบสอง ก็ต้องย่อฐานย่อเก็จ เป็นการย่อมุมเท่ากับการย่อของฐานเดิม หรือ ฐานย่อเก็จมีขนาดเล็กก็อาจย่อเพียง ย่อไม้แปดก็ได้ (ภาพที่ 2-3)
2. เสา เสาต่างๆ มีเสาลอย เสาอิง เสาหลอก หรือเสาเก็จ สําหรับการย่อมุมของเสาต่างๆ ก็เพื่อลดความแหลมของมุมทั้งสี่ของเสาลอย สําหรับเสาอิงมักไม่มีการย่อ เหตุผลการย่ออีกประการหนึ่งก็คือ การย่อมุมของเสาจะเป็นการย่อมุมไม้แปด หรือย่อมุมไม้สิบสอง ก็เพราะเสานั้นมีบัวหัวเสา อยู่ในทรงกลม ดังเช่น เสาและบัวหัวเสาของเสาหานหน้าอุโบสถสมัยอยุธยาตอนปลาย การย่อมุมของเสาด้วยการย่อมุมไม้แปด หรือย่อมุมไม้สิบสอง ก็เพื่อให้รูปตัดของเสาใกล้กับเสากลม เพื่อให้ใกล้เคียงกับบัวหัวเสากลม นอกจากนี้ยังได้ความนุ่มนวลที่เกิดจากแสงและเงาด้วย (ภาพที่ 4)
สําหรับเสาสี่เหลี่ยมและบัวหัวเสาก็สี่เหลี่ยมด้วยนั้น จะมีทั้งไม่ย่อมุมและย่อมุมไม้แปด เมื่อย่อมุมที่เสาแล้ว ก็ต้องย่อมุมที่บัวหัวเสาด้วย ส่วนเสาอิงมักจะเป็นเสาเหลี่ยมตามเสาลอยที่เป็นเสาหานด้วย เนื่องจากเสาอิงยื่นจากผนังเพียงเล็กน้อย ทําให้มุมของเสาอิงไม่สามารถย่อมุมได้ (ภาพที่ 5-6)
3. ตัวอาคาร ตัวอาคารที่มีการย่อมุม เช่น เจดีย์เหลี่ยม ถ้าไม่ย่อมุมจะไม่รับหรือกลมกลืนกับส่วนยอดซึ่งเป็นทรงกรวยกลม เมื่อมีการย่อมุมตั้งแต่ส่วนฐานถึงบัลลังก์จะเรียกเจดีย์เหลี่ยมนั้นว่า เจดีย์เหลี่ยมย่อมุม โดยเรียกเพิ่มตามจำนวนการย่อมุม เช่น เจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง หรือเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ ซึ่งเป็นการย่อมุมมากที่สุด
ตัวอาคารที่มีการย่อมุมอีกประเภทหนึ่งคือ มณฑป บุษบก เมรุมาศ และพระเมรุมาศ อาคารทุกชนิดสร้างด้วยไม้ เสาตรงมุมทั้งสี่จะตั้งเยื้องกันจำนวน 3 ต้น ทําให้เกิดมุมทํานองเดียวกับการย่อมุม การทําเสาให้เกิดการย่อมุมเพื่อให้สอดคล้องกับการย่อมุมของเครื่องยอดที่เป็นหลังคาทรงยอดมณฑปหรือทรงยอดบุษบกซึ่งเครื่องยอดทรงดังกล่าวย่อมุมไม้สิบสอง (ภาพที่ 7)
4. เครื่องยอด เครื่องยอดเป็นหลังคาของอาคารโดยตรง เช่น มณฑป บุษบก เมรุ หรือเมรุมาศทรงบุษบก และซุ้มประตูพระบรมมหาราชวัง ส่วนเครื่องยอดที่เป็นอยู่เหนือหลังคา เช่น เมรุมาศ พระที่นั่ง ปราสาท และมหาปราสาท เครื่องยอดของอาคารดังกล่าว จะมีชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น และ 7 ชั้น การย่อมุมไม้สิบสองจะเริ่มย่อจากชั้นเชิงกลอนชั้นล่างสุดหรือชั้นเชิงกลอนชั้นที่ 1 ถึงชั้นเชิงกลอนชั้นที่ 5 หรือชั้นที่ 7 อันเป็นชั้นเชิงกลอนบนสุดเหนือขึ้นไปจะเป็นองค์ระฆัง การย่อมุมของเครื่องยอดจะไปสิ้นสุดที่เหมชั้นบนสุด คือเหมชั้นที่ 3 เท่านั้น สูงขึ้นไปจะเป็นปลียอดและเม็ดน้ำค้าง หรือเป็น ปลี ลูกแก้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง เหนือเหม ซึ่งปลีถึงเม็ดน้ำค้างจะเป็นทรงกลม (ภาพที่ 8)
การย่อมุมเป็นการเรียกการใช้ ของศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตร ตามชื่อหนังสือพุทธศิลป สถาปัตยกรรมภาคต้นของอาจารย์พระพรหม เรียกบุษบกว่าย่อไม้แปด หรือย่อไม้สิบสองดังนั้นคําว่า ย่อไม้ ย่อมุมไม้ อาจารย์พระพรหมคงสืบทอดจากการเป็นผู้สนองงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แต่ในปัจจุบันเกิดคําว่า เพิ่มมุม ขึ้นมาใน สถาปัตยกรรมไทย ถูกต้องการย่อมุม ทําให้เกิดมุมเพิ่มขึ้น
ตามความเห็นของผู้เขียนไม่ควรใช้คําว่าเพิ่มมุมแทนคําว่าย่อมุม อาคารสถาปัตยกรรมไทย ประเภทปรางค์ ทั้งทรงงาเนียม หรือทรงฝักข้าวโพด ตัวเรือนธาตุอยู่ในรูปทรงสี่เหลี่ยม ด้านทั้งสี่ของเรือนธาตุ จะมีซุ้มจระนำและซุ้มคูหายืนออกมาจากตัวเรือนธาตุ เมื่อดูผังของเรือนไม่มีการย่อมุม แต่มุมจะเกิดจากการยื่นของซุ้มทั้ง 4 ด้าน ผู้เขียนจึงเห็นว่าการเกิดมุมของเรือนธาตุของปรางค์จึงควรเป็นการเรียกว่าเพิ่มมุมมากกว่า (ภาพที่ 9)
สรุป
การย่อมุม ย่อมุมไม้ หรือย่อ ไม้ ก็เพื่อให้สิ่งที่ย่อมุมมีความนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง ลดอันตราย ทําให้เกิดความสวยงาม การย่อมุมมักทําที่ฐาน แท่น ตัวอาคาร เสา และหลังคาที่เป็นเครื่องยอด ทําให้ดูมีความกลมกลืน ของอาคารทั้งหลัง การย่อมุมทําให้เกิดสิ่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังทําให้เกิดความสวยงามจากแสงและเงาด้วย
จากผลของการย่อมุมทําให้สิ่งของหรือตัวอาคารนั้นสมบูรณ์ มีศักดิ์ ในทางสถาปัตยกรรม และสมบูรณ์ ลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทยด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ความสับสน ในงาน สถาปัตยกรรมไทย
- พระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยแบบอย่างอยุธยายุคต้น
- สมเด็จครูและพระพรหมพิจิตร การปะทะผลงานระหว่างศิษย์กับครู ในวงการสถาปัตยกรรมไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2562