เจาะลึก “ปรางค์ฤๅษี” โบราณสถานแห่งศรีเทพ แท้จริงแล้วมีอายุเท่าไหร่ ผ่านหลักฐานศิลปะและความเชื่อ

ปรางค์ฤๅษี ที่ ศรีเทพ
ปรางค์ฤๅษี (ภาพ : Facebook Matichon Academy - มติชนอคาเดมี)

เมื่อพูดถึงโบราณสถานสำคัญและได้ยินกันบ่อย ๆ ใน “เมืองโบราณศรีเทพ” หรือ “ศรีเทพ” มรดกโลกแห่งสำคัญของไทยที่ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” คงไม่พ้น “เขาคลังนอก”, “เขาคลังใน”, “ปรางค์ศรีเทพ” หรือ “ปรางค์สองพี่น้อง” ทว่ายังมีอีกหนึ่งปรางค์ ที่ปรากฏอยู่ในศรีเทพ แต่หลายคนไม่รู้จัก นั่นคือ “ปรางค์ฤๅษี” ปรางค์ที่ได้ชื่อว่ายังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าอายุเท่าใดกันแน่

แล้ว “ปรางค์ฤๅษี” แห่งนี้อายุเท่าไหร่?

ในหนังสือ “ศรีเทพ สถาปัตย์-ปฏิมาเมืองมรดกโลก” (สำนักพิมพ์มติชน) โดย ศิวพงศ์ สีเสียดงาม ได้วิเคราะห์การกำหนดอายุของ “ปรางค์ฤๅษี” ได้ชัดเจนและน่าสนใจไว้ดังนี้

ศิวพงศ์ได้อธิบายว่า ปรางค์ฤๅษี มีจุดที่น่าสนใจและอาจเป็นข้อสังเกตที่ทำให้สามารถกำหนดอายุ อยู่ 2 ประการหลัก ๆ ได้แก่ 

1. บัวหัวเสาใช้เชิงแบบบัวคว่ำ-บัวหงาย จุดนี้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในปรางค์ฤๅษี แม้ว่าบัวจะคว่ำไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่ก็ปรากฏการเพิ่มองค์ประกอบทั้งส่วนบนและล่างของบัวหัวเสา 

2. บริเวณหน้าบันส่วนที่อยู่เหนือประตูหลอกจะสร้างไว้แบบวงโค้ง ซึ่งคล้ายกับศิลปะจามอยู่บ้าง อีกทั้งยังมี แผนผังเพิ่มมุมไม้สิบสองธรรมดา ที่ทำให้หลายคนคิดว่าปรางค์องค์นี้น่าจะสร้างในช่วงศิลปะเขมรแบบแปรรูปจนถึงแบบเกลียง หรือระหว่างช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16

แล้วข้อสันนิษฐานพวกนี้จริงหรือไม่?

ศิวพงศ์ได้อธิบายแต่ละหัวข้อ ซึ่งสรุปออกมาได้ ดังนี้

ประเด็นแรก บัวหัวเสาใช้เชิงแบบบัวคว่ำ-บัวหงาย ตรงนี้ไม่สามารถช่วยยืนยันการกำหนดอายุได้ เพราะแม้ว่าปรางค์นี้จะมีการทำบัวหัวเสาคงรูปแบบบัวคว่ำ-บัวหงายอยู่บ้าง แต่ก็ผ่านการบูรณะมาบ้างแล้ว จึงทำให้ทราบยากว่ารูปแบบเดิมเป็นเช่นไร 

นอกจากนี้ บัวหัวเสาหงายขนาดใหญ่และคว่ำขนาดเล็กพบเจอได้ในศิลปะเขมร และในภาพรวมยังคล้ายคลึงกับบัวหัวเสาที่ปรางค์สองพี่น้อง ในเมืองศรีเทพ

ดังนั้น การใช้ระเบียบการประดับบัวหัวเสาเป็นตัวช่วยในการบอกอายุ จึงไม่สามารถทำได้

ต่อมา ประเด็นที่ 2 บริเวณหน้าบัน ตรงนี้หลายคนสันนิษฐานว่ามีความคล้ายคลึงกับศิลปะจาม แต่หากวิเคราะห์ดูดี ๆ แล้ว หน้าบันในศิลปะจามช่วงต้น จะมีรูปแบบวงโค้งค่อนข้างแคบและเล็ก มีพื้นที่ด้านบนน้อยมาก เพียงพอสำหรับสลักกรอบหน้าบันเป็นรูปมกรคายโค้งเท่านั้น 

แต่ซุ้มหน้าบันของปรางค์ฤๅษีนั้นกลับแตกต่างออกไป เพราะแม้ว่าจะมีวงโค้งเล็กแคบ แต่ก็มีการก่ออิฐต่อยาวขึ้นไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ให้มีพื้นที่สำหรับสลักลวดลายมากยิ่งขึ้น 

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ทั้งคู่จะมีหน้าบันที่เล็กเหมือนกัน แต่เหตุผลต่างกัน โดยปรางค์ฤๅษีมีขนาดเล็กกว่าปราสาทอิฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้ก่อแผงหน้าบันเล็กลงตามไปด้วยนั่นเอง 

ขณะเดียวกันหากจะเทียบกับศิลปะเขมรแบบบาแค็ง (ช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 15) ก็ยังคงแตกต่างจากการก่อซุ้มหน้าบันของปรางค์ฤๅษี เนื่องจากปรางค์ส่วนที่หุบเข้าไปเป็นวงโค้งของปราสาทในวัฒนธรรมเขมรมีพื้นที่ให้สลักลวดลาย ต่างจากปรางฤๅษีที่ไม่มี

ทำให้สันนิษฐานชั้นต้นได้ว่า ซุ้มหน้าบันปรางค์ฤๅษี ไม่เกี่ยวกับศิลปะจาม และไม่น่าจะกำหนดอายุเก่าไปถึงช่วงศิลปะเขมรแบบแปรรูปจนถึงแบบเกลียงได้ (ปลายพุทธศตวรรษที่ 15 – กลางพุทธศตวรรษที่ 16)

ซ้ำซุ้มหน้าบันของปรางค์ฤๅษีน่าจะคล้ายคลึงกับกลุ่มปราสาทอิฐในวัฒนธรรมเขมรช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 แทน โดยศิวพงศ์ได้อธิบายไว้ ดังนี้

“เมื่อพิจารณารูปแบบของการก่อซุ้มหน้าบันของปรางค์ฤๅษีร่วมกับกลุ่มปราสาทอิฐในวัฒนธรรมเขมรในไทยช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 พบว่ามีความใกล้เคียงกันพอสมควร กล่าวคือ รูปแบบการก่อซุ้มหน้าบันโดยการก่ออิฐขึ้นจากหัวเสาด้านนอกทั้ง 2 ด้านมาบรรจบกันเป็นแบบแผงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับสลักอิฐเป็นกรอบและภาพหน้าบัน และหัวเสาด้านในทั้ง 2 ด้านก่ออิฐบรรจบกันเป็นวงโค้งขนาดเล็ก ซึ่งพื้นที่ภายในโค้งไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการสลักภาพใด ๆ ดังปรากฏบนการก่อซุ้มหน้าบันที่ปราสาทยายเหงาและปราสาทบ้านไพล จังหวัดสุรินทร์”

แต่ถ้าหากจะให้ฟันธงว่าปรางค์ฤๅษีสร้างขึ้นช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ก็ไม่ได้ เนื่องจากรูปแบบบางอย่างบนปรางค์ยังมีความพิเศษแตกต่างจากกลุ่มปราสาทในวัฒนธรรมเขมร ทั้งในพระนครและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทว่าผู้เขียนก็ได้ตั้งข้อสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมาก โดยไม่ได้อิงจากรูปแบบศิลปะที่ปรากฏบนตัวโบราณสถาน แต่เป็นความเชื่อและสภาพแวดล้อมภายนอก

จะเห็นได้ว่าปรางค์ฤๅษีหันหน้าออกไปทางทิศตะวันออก ซึ่งตรงนี้ทำให้คาดการณ์ได้ไหมว่า ปรางค์นี้น่าจะสร้างขึ้นก่อนปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง เนื่องจากความเชื่อเรื่องการนับถือเขาถมอรัตน์ยังไม่มาถึง (เพราะปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้องจะหันไปทางทิศตะวันตกเพื่อบูชาเขาถมอรัตน์ที่อยู่ในทิศนี้)

แต่นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่เจ้าของผลงาน ศรีเทพ สถาปัตย์-ปฏิมาเมืองมรดกโลก (สำนักพิมพ์มติชน) อธิบายไว้เท่านั้น และด้วยข้อจำกัดมากมาย จึงทำให้ในวงการโบราณคดีกำหนดอายุของ “ปรางค์ฤๅษี” นี้ไว้กว้าง ๆ ว่า น่าจะอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 – กลางพุทธศตวรรษที่ 17

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567