“พระวิษณุ-พระกฤษณะ” เทวรูปองค์สำคัญ “เมืองโบราณศรีเทพ” มรดกโลกของไทย!

เมืองโบราณศรีเทพ เทวรูป ศรีเทพ ศิลปะ พระวิษณุ-พระกฤษณะ
ภาพ : มติชน ออนไลน์

“พระวิษณุ-พระกฤษณะ” เทวรูปองค์สำคัญ “เมืองโบราณศรีเทพ” มรดกโลกของไทย!

“เมืองโบราณศรีเทพ” ซึ่งวันที่ 19 กันยายน 2566 ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” นับเป็นแห่งที่ 4 ของไทย เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ สันนิษฐานว่าพื้นที่อันสวยงามแห่งนี้เคยเป็นเมืองสำคัญในสมัยทวารวดี เห็นได้จากศิลปกรรมและประติมากรรมมากมายที่ประดับประดาไปทั่วพื้นที่

ไม่เพียงหลักฐานทางศิลปกรรมอันงดงามที่บ่งชี้ถึงความเก่าแก่ และสะท้อนว่าเมืองโบราณศรีเทพมีความสำคัญอย่างมาก แต่ความพิเศษคือที่นี่มี “เทวรูป” ที่ไม่เหมือนใคร ทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถูกเรียกว่าศิลปะ “สกุลช่างศรีเทพ” ปรากฏทั้งในพระสุริยะ พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์

โดยเฉพาะ “พระวิษณุ-พระกฤษณะ” ซึ่งค้นพบทั้งหมด 4 องค์ ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงที่ห้องเทวรูปเก่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

📌 จุดกำเนิด “พระวิษณุ-พระกฤษณะ” ในเมืองศรีเทพ

ในช่วงแรก ยอร์ช เซเดส์ (George George Cœdès) นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สันนิษฐานว่า เทวรูปทั้ง 4 องค์นี้น่าจะเป็นประติมากรรมแบบฟูนัน ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11

ต่อมา ลอเรนซ์ พัลเมอร์ บริกก์ส (Lawrence Palmer Briggs) นักการทูตและนักวิจัยอิสระ ผู้สนใจประวัติศาสตร์เขมรโบราณ โต้แย้งว่า เป็นไปไม่ได้ที่เทวรูปเหล่านี้จะเป็นประติมากรรมแบบฟูนัน เพราะจากหลักฐานแล้ว ศรีเทพมีปัญหาด้านความสัมพันธ์แถบลุ่มแม่น้ำมูล และเชื่อมโยงกับเจนละเป็นส่วนใหญ่

บริกก์ส ยังให้ความเห็นอีกว่า ประติมากรรมพระวิษณุที่เมืองศรีเทพเทียบเคียงกับประติมากรรมพระหริหระจากปราสาทอันเดต พระพุทธรูปที่อังกอร์ โบเรย ในศิลปะแบบไพรกเมง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13

ด้าน ศาสตราจารย์ ฌ็อง บัวเซอลีเยร์ (Jean Boisselier) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า เทวรูปนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก ศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย และศิลปะลพบุรี และคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 14

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการคนอื่น ๆ เสนอแนวคิดของตนอีกมากมาย แม้จะไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพระวิษณุในเมืองศรีเทพมีจุดเริ่มต้นช่วงใด แต่หลายคนคาดว่าน่าจะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-13

📌 รูปลักษณ์ “พระวิษณุ-พระกฤษณะ” 4 องค์ ที่เมืองศรีเทพ

องค์แรกเป็น “เทวรูปแบบประทับยืนเอียงกายแบบตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก)” มี 4 กร สวมหมวกทรงกระบอก นุ่งสมพตสั้นบางแนบเนื้อ ส่วนพระกรที่แยกกายออกไปทั้ง 4 ไม่สามารถระบุได้ว่า สิ่งที่ถืออยู่ในพระหัตถ์ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เนื่องจากเทวรูปมีส่วนที่เสียหาย

แต่เมื่อเทียบเคียงกับลักษณะภาพพระวิษณุที่มีลักษณะคล้ายกันบนแผ่นทองดุนนูน ในพิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คาดได้ว่า พระหัตถ์ของพระองค์น่าจะถือ จักร สังข์ คฑา และดอกบัว

องค์ที่ 2 “เทวรูปประทับยืนตริภังค์” มีรูปร่างเหมือนองค์แรก สวมหมวกทรงกระบอกกลม รวมทั้งยังมี 4 กร เช่นเดียวกัน

องค์ที่ 3 “เทวรูปประทับยืนตริภังค์” มี 2 กร นุ่งสมพตสั้นบางแนบเนื้อ แต่ไม่สวมหมวกทรงกระบอก พระเกศาหยักศก ลอนมาถึงต้นคอ ส่วนพระบาทและพระกรชำรุดหักหายไป คาดว่าท่อนแขนที่หายไปนั้น หากสังเกตที่ด้านซ้ายจะเห็นว่ามีท่ายกแขนขึ้น ซึ่งเหมือนกับพระกฤษณะโควรรธนที่วัดเกาะ ประเทศกัมพูชา ในศิลปะแบบพนมดา

องค์ที่ 4 เป็น เทวรูปประทับยืนตริภังค์ มี 2 กร นุ่งผ้าสมพตสั้นบางแนบเนื้อเช่นกัน มีลักษณะไหล่ซ้ายยกขึ้นเกือบชิด เทียบได้กับเทวรูปพระกฤษณะโควรรธจากวัดเกาะ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นศิลปะแบบพนมดา แต่ที่แปลกไป และไม่พบไม่พบในวัดเกาะ คือ ใส่หมวกทรงกระบอกแปดเหลี่ยม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศิวพงศ์ สีเสียดงาม. ศิลปวัฒนธรรมในวัฒนธรรมเขมรที่เมืองศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567