“เจดีย์ทรงระฆังของล้านนา” สิ่งปลูกสร้างจากอิทธิพลศิลปะพุกาม

เจดีย์ทรงระฆังของล้านนา ที่ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จ. ลำพูน
เจดีย์ทรงระฆังล้่านนา ที่ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จ. ลำพูน

หลังจากเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 20 ราชธานีทางเหนือ คือเมืองเชียงใหม่ก็กลายมาเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปกรรมล้านนาที่มีความเจริญอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็น ยุคทองของ “ล้านนา” เพราะเกิดสิ่งปลูกสร้างสำคัญมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “เจดีย์ทรงระฆังของล้านนา”

เจดีย์ทรงระฆังของล้านนา เริ่มได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์ทรงระฆังแบบหนึ่งของศิลปะพุกาม เช่น เจดีย์ฉปัต หรือฉปัฏ ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ลักษณะของเจดีย์ฉปัตนั้นผสมผสานระหว่างพม่าแท้กับลังกา มีลวดบัวฐานประกอบด้วยท้องไม้เจาะตามแบบพม่าแท้ และเป็นฐานกลมซ้อนรองรับทรงระฆัง

เจดีย์ทรงดังกล่าวของล้านนา ก็มีลักษณะคล้ายกัน แต่เพิ่มฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จ ทรงฐานข้างสูงรองรับชุดวงแหวนเรียงซ้อนประกอบเป็นจังหวะคล้ายรูปฐานกลมสามฐาน ตั้งซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ทำให้ความสูงของเจดีย์เพิ่มมากยิ่งขึ้นขนาดของทรงระฆังที่ตั้งซ้อนขึ้นไปจึงย่อมมีขนาดเล็กตามลำดับไปด้วย เหนือทรงระฆังมักจะมีบัลลังก์รับส่วนยอดทรงกรวยที่มีขนาดเล็กตามไปอีก

นอกจากนี้ ทรวดทรงสูงเพรียวของเจดีย์ เมื่อมองโดยรวมแล้ว เป็นทรงแท่งสี่เหลี่ยมของส่วนฐาน รองรับองค์เจดีย์ทรงกรวยขนาดใหญ่ที่มีความสูงเพรียว แตกต่างจากแบบแผน และรูปทรงที่ป้อมเตี้ยกว่าของเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย และแบบของกรุงศรีอยุธยา

ปัจจุบันเจดีย์ทรงระฆังของ ล้านนา ที่มีสภาพครบถ้วนสมบูรณ์ และได้รับความนิยม คือ เจดีย์หริภุญชัย จังหวัดลำพูน ส่วนในเชียงใหม่ ยังหลงเหลืออยู่หลายแห่ง เช่น วัดร้างบริเวณหอประชุมติโลกราช, วัดกิติ บริเวณโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สันติ เล็กสุขุม. “คำช่าง ทรงระฆัง, บัลลังก์, ปล้องไฉน, มาลัยเถา”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2540.

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล. “เจดีย์ฉปัฏ.” สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566. https://db.sac.or.th/seaarts/artwork/514.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567