22 สิงหาคม 2485 กองทัพไทยประกาศหา “สาวโสด” มาเป็น “นักเรียนนายร้อย”

ว่าที่ร้อยตรี จันทนี นักเรียนนายร้อยหญิงรุ่นแรก รับกระบี่จาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ภาพจาก อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม)

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2485 กรมยุทธศึกษาทหารบก (ร.ร.จปร.) ได้ประกาศรับสมัคร นักเรียนนายร้อยหญิง โดยประกาศด้วยใบปลิว ทางหนังสือพิมพ์ และทางวิทยุกระจายเสียง และได้เริ่มเปิดรับสมัคร ณ ที่ว่าการกรมยุทธศึกษาทหารบก ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2485 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2485

สำหรับคุณสมบัติสำคัญของผู้สมัครมีดังนี้

1. สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า

2. มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ถึง 24 ปีบริบูรณ์ การนับอายุถือตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร

3. มีนามตัว นามสกุล และสัญชาติเป็นไทย ทั้งบิดามารดาต้องเป็นคนไทยโดยกำเนิด

4. มีอัธยาศัยและความประพฤติเรียบร้อย

5. ไม่ถูกปลดจากยุวนารี

6. มีอวัยวะสมบูรณ์ปราศจากโรค รูปร่างท่าทางและขนาดร่างกายเหมาะเป็นทหาร

7. มีเสียงดังแจ่มใส

8. เป็นหญิงโสด

9. บิดามารดาผู้ให้กำเนิดต้องเป็นผู้มีหลักฐานหรืออาชีพอันชอบธรรม

10. ต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง

นักเรียนนายร้อยหญิงทหารบก เมื่อเรียนจบหลักสูตรและสอบได้แล้ว จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ประจำกรมกองทหารหญิง ในตำแหน่งนายทหารชั้นสัญญาบัตร ได้เงินเดือนชั้น 26 (เดือนละ 80 บาท) แต่เมื่อสมรสแล้ว ต้องออกจากประจำการ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม ร่วม ถ่ายรูป กับ นักเรียนนายร้อยหญิง
จอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ร่วมถ่ายรูปกับนักเรียนนายร้อยหญิงซึ่งเรียนสำเร็จตามหลักสูตรของนายทหารและจะออกรับราชการเป็นนายทหารหญิงชุดแรก เมื่อ พ.ศ. 2486 (ภาพจาก อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม)

การรับ นักเรียนนายร้อยหญิง ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะสงคราม ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เมื่อเข้าถึงช่วงท้ายของสงคราม จอมพล ป. ประสบกับความเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง เมื่อรัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และไม่อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล ทำให้จอมพล ป. ต้องลาออกจากตำแหน่งตามมารยาท

การลาออกของจอมพล ป. ส่งผลให้นโยบายทางการทหารของไทยเปลี่ยนแปลงไป กองทัพบกได้ออกคำสั่งพิเศษ ให้เปลี่ยนสถานะของนายร้อยหญิงและนายสิบหญิง มาเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนประเภทสามัญทั้งหมด ผู้ที่จะลาออกเพราะไม่สมัครใจจะรับราชการต่อก็ให้ออกไปได้โดยไม่มีบำเหน็จบำนาญ กิจการทหารหญิงยุคแรกของไทยจึงยุติลงด้วยประการนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม

รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) รวบรวมโดย ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2559