ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ภาษาไทย” คือภาษาที่ไม่มีวันตายเพราะเป็นภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีพัฒนาการการสื่อสารทั้งรูปแบบอักษรและการพูดมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบันก็เกิดคำศัพท์แปลกใหม่ขึ้นมาเสมอและวิธีการพูดก็เปลี่ยนไปตามสมัยเช่นเดียวกัน
ผู้ที่เคยศึกษาเอกสารเก่า ๆ ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยได้ชัดเจน เช่นคำว่า “เปน” ซึ่งปัจจุบันจะสะกดว่า “เป็น” และยังมีคำอื่นอีกมากที่เลิกใช้หรือเปลี่ยนใช้คำอื่นแทน ส่วนวิธีการพูดในยุคนี้คงไม่มีใครพูดว่า “เพลานี้กี่โมงยามแล้ว” หรือแม้แต่ในยุคภาพยนตร์ฟิล์มไทย (ในยุคมิตร-สมบัติ) ที่นิยมใช้คำว่า “กัน” ซึ่งเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 ใช้แทนตัวผู้พูดเพศชายพูดกับคู่สนทนาในทำนองกันเอง และในปัจจุบันคำนี้ก็แทบเลือนหายไปแล้ว
ในยุคที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการเปลี่ยนแปลงภาษาไทยขนานใหญ่เพื่อขานรับนโยบาย “รัฐนิยม” เพื่อเสริมสร้างความเป็นไทย ทั้งปรับวิธีการสะกด ลดทอนการใช้ตัวอักษรบางตัว และออกประกาศให้ประชาชนเปลี่ยนวิธีการใช้คำศัพท์ในภาษาไทย
“กรรมการส่งเสิมวัธนธรรมภาสาไทย” ให้เหตุผลถึงเรื่องการปรับปรุงตัวอักษรว่า “สมควนจะปรับปรุงตัวอักสรไทยให้กระทัดรัดเพื่อได้เล่าเรียนกันได้ง่ายยิ่งขึ้น ได้พิจารนาเห็นว่าตัวสระและพยัญชนะของภาสาไทยมีอยู่หลายตัว ที่ซ้ำเสียงกันโดยไม่จำเป็น ถ้าได้งดใช้เสียบ้างก็จะเป็นความสดวกไนการสึกสาเล่าเรียนภาสาไทยไห้เป็นที่นิยมยิ่งขึ้น”
รัฐบาลจึงออก “ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงตัวอักสรไทย” ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ให้ตัดพยัญชนะเหลือ 31 ตัว เช่น ตัด ฐ.ฐาน เปลี่ยนใช้ ถ.ถุงแทน (ฐาน-ถาน, รัฐ-รัธ) และตัดสระ ใ, ฤ, ฤา, ฦ, ฦา ออกไป
ยกตัวอย่างคำที่ปรากฏในเอกสารราชการสมัยนั้น เช่น วิเสส บุรุส พรึสภาคม ปรึกสา ภาสาไทย โคสนา ปติเสธ ประกาส คนะรัถมนตรี ฯลฯ
ส่วนการเปลี่ยนวิธีการใช้คำศัพท์ในภาษาไทยนั้นมีปรากฏใน “ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องวางระเบียบคำแทนชื่อ และคำรับ คำปติเสธ” ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2485 อันสืบเนื่องจากการใช้สรรพนามของประชาชนที่มีหลากหลาย รัฐบาลจึงต้องการให้เป็นแบบแผนเหมือนกันทั้งหมดคือ
- สรรพนามบุรุษที่ 1 ให้ใช้คำว่า ฉัน (เอกพจน์) เรา (พหูพจน์)
- สรรพนามบุรุษที่ 2 ให้ใช้คำว่า ท่าน (เอกพจน์) ท่านทั้งหลาย (พหูพจน์)
- สรรพนามบุรุษที่ 3 ให้ใช้คำว่า เขา (เอกพจน์) เขาทั้งหลาย (พหูพจน์)
- สรรพนามเรียกสิ่งของ ให้ใช้คำว่า มัน (เอกพจน์) พวกมัน (พหูพจน์)
ส่วนคำตอบรับให้ใช้คำว่า “จ้ะ” คำปฏิเสธให้ใช้คำว่า “ไม่”
ต่อมา ปรากฏว่าคำตอบรับและปฏิเสธไม่เป็นที่นิยมของประชาชน จึงออกประกาศใหม่อีกฉบับ ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ระบุว่า คำตอบรับผู้ชายให้ใช้ “ครับ” คำตอบรับผู้หญิงให้ใช้ “ค่ะ” คำปฏิเสธให้ใช้ “เปล่า”
นอกจากนี้รัฐบาลยังออกประกาศให้เปลี่ยนมาใช้ “เลขไทย” แทน “เลขอาราบิก” ตามประกาศ “เรื่องการใช้เลขสากลเป็นเลขไทย” ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485
เมื่อจอมพล ป. กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 เนื่องจากสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพ็ชรบูรณ์และพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล นายควง อภัยวงศ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
นายควงเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ไม่นานจากนั้นจึงได้เริ่มการ “ลบล้าง” รัฐนิยมหรือประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยจอมพล ป. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัฒนธรรมออกไปแทบทั้งหมด กล่าวคือ
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2487 ให้ยกเลิกประกาศ เรื่องวางระเบียบคำแทนชื่อ และคำรับ “คำปติเสธ” ระบุแนวทางปฏิบัติว่า “ไห้ไช้ระเบียบปติบัติที่นิยมกันมาแต่เดิม”
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 ให้ยกเลิกประกาศ “เรื่องการปรับปรุงตัวอักสรไทย และเรื่องการใช้เลขสากลเป็นเลขไทย”
นอกจากนี้ยังมีประกาศของรัฐบาลควง อภัยวงศ์ อีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2488 ให้ยกเลิกประกาศของรัฐบาลจอมพล ป. เรื่องการใช้คำว่า “วันเกิด”
ย้อนไปเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2484 รัฐบาลจอมพล ป. เล็งเห็นว่ามีการใช้คำในทำนองเดียวกับความหมายว่า “วันเกิด” ซ้ำกันมาก จึงออกประกาศให้ทุกคนใช้คำว่า “วันเกิด” เว้นแต่พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีให้ใช้ว่า “วันเกิดใน……..”
ประเด็นเรื่อง “วันเกิด” นี้เป็นเรื่องอ่อนไหวพอสมควร ต่อมา ในช่วงรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ออกประกาศลงวันที่ 12 มกราคม พุทธศักราช 2488 เนื้อหาในประกาศระบุให้ยกเลิกประกาศเดิมของจอมพล ป. โดยให้เหตุผลว่า กรณีเปลี่ยนแปลงการใช้คำ “วันเกิด” นั้น “เป็นการไม่เหมาะสม และไม่ตามคตินิยม”
ประกาศของรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่ยกเลิกประกาศของรัฐบาล จอมพล ป. ทั้ง 3 ฉบับ จึงเท่ากับ “ลบล้าง” การปรับปรุงภาษาไทยทั้งแง่การพูดและการเขียนไปจนแทบหมดสิ้น ภายหลังเมื่อ จอมพล ป. กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2491 ก็ไม่ได้นำเรื่องการปรับปรุงภาษาไทยมาประกาศใช้อย่างที่เคยทำ จึงอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า การจัดการภาษาไทยในช่วงรัฐนิยมของจอมพล ป. เป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่แฝงนัยยะและจุดประสงค์ทางการเมืองหรือไม่
การปรับปรุงภาษาไทยในยุคจอมพล ป. ยังสะท้อนว่า “ภาษาไทย” คือภาษาที่ไม่มีวันตาย สามารถปรับเปลี่ยนได้แต่ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์และต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม อิทธิพลการปรับปรุงภาษาไทยในยุคจอมพล ป. ก็คงส่งผลกระทบต่อสังคมอยู่ไม่น้อย เช่น คำตอบรับ “ครับ” “ค่ะ” ที่กลายเป็นแบบแผนคำสุภาพที่ใช้สนทนากันจนถึงทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- จาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” แล้วทำไม “ไทย” จึงต้องมี “ย”
- การปิดโรงเรียนจีน และห้ามสอนภาษาจีน ในประเทศไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาล่าสุดเมื่อ 16 พฤษภาคม 2562