การปิดโรงเรียนจีน และห้ามสอนภาษาจีน ในประเทศไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.

พิธีเปิดโรงเรียน "เผยอิง" หรืออีกชื่อคือโรงเรียน "ป้วยเอง" เมื่อ พ.ศ. 2463 (ภาพจาก สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ )

ทุกวันนี้ที่ภาษาจีนเป็นหนึ่งในภาษาสากลที่ใช้เป็นสื่อกลางในหลายประเทศ หลายโรงเรียนสอนภาษาจีนเป็นภาษาที่ 3 ในทุกหลายระดับชั้น นักเรียนสายศิลป์หลายโรงเรียนเลือกภาษาจีนแทนภาษาฝรั่งเศส ยังไม่นับรวมโรงเรียนพิเศษที่เปิดสอนภาษาจีน และการเรียนแบบออนไลน์ แต่ครั้งหนึ่งในสังคมไทย การเรียนการสอนภาษาจีน “ถูกคุมกำเนิด” จนเกือบจะสูญพันธุ์ไปจากสังคมไทย

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ คำตอบนี้ จี.วิลเลียม สกินเนอร์ อธิบายไว้ในหนังสือชื่อ “สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์” (สนพ. มิตชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2564 ) งานวิชาการคลาสิกที่ผู้สนใจเรื่องจีนศึกษาต้องมี ซึ่งตอนหนึ่งในหนังสือของสกินเนอร์กล่าวถึงความเสื่อมของระบบการศึกษาจีน (ในไทย) ไว้ดังต่อไปนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำ-กองบก.ออนไลน์)


 

ในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ได้ล้มล้างระบบการเรียนแบบจีนซึ่งเป็นระบบที่ให้การศึกษาแก่นักเรียนประมาณ 17,000 คนในปี ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481) แต่เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม พบว่ามีการฟื้นฟูโรงเรียนจีนกันอย่างเต็มที่และมีสายเชื่อมโยงกันอย่างน่าหวั่นเกรงยิ่งกว่าเก่า พร้อมกับมีผู้สมัครเข้าเรียนเกินกว่า 175,000 คน

ขณะที่ปี ค.ศ. 1937/38 (พ.ศ. 2440) นั้น มีชาวจีนเพียง 1 ใน 100 คนเท่านั้นเข้าเรียนในโรงเรียนจีน พอถึงต้นปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ชาวจีนทุก 1 ในทุก 12 คนของทุกระดับอายุเข้าเรียนโรงเรียนจีน ในทัศนะของคณะรัฐบาลชุดใหม่ สภาพเช่นนี้ไม่เป็นที่พึงพอใจนัก และระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน พลเอก มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ จึงได้จัดการอย่างเฉียบขาดเพื่อกลับทิศทางนี้

โรงเรียนจีนที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายจะไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดในปีการศึกษาใหม่ (ในประเทศไทยเริ่มต้นประมาณสิ้นเดือนเมษายน) โดยเฉพาะการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนโรงเรียนระดับกลางทั้งหมดถูกปฏิเสธ และเป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) การศึกษาระดับมัธยมของชาวจีนถูกจำกัดเป็นวิชาเลือกในโรงเรียนระดับกลางของไทยหนึ่งหรือสองแห่ง รวมทั้งในโรงเรียนจีนภาคค่ำอีกไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ

เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสงครามที่โรงเรียนจีนซึ่งจดทะเบียนแล้วถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฏข้อบังคับของโรงเรียนราษฎร์ที่บัญญัติไว้ทุกประการ จึงทำให้การบริหารสับสน หลักสูตรต้องจัดกันใหม่เพื่อจำกัดการสอนด้วยภาษาจีนให้เหลือเพียงวันละ 2 ชั่วโมง ที่ชาวจีนหวาดหวั่นมากกว่านี้ก็คือแผนการของรัฐมนตรีซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่จะลดจำนวนโรงเรียนจีนทั้งหมดในประเทศให้เหลือเพียง 152 แห่ง เช่น ในจังหวัดพระนครให้มีได้ 8 แห่ง จังหวัดธนบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา (โคราช) และอุบลราชธานี ให้มีได้จังหวัดละ 3 แห่ง ส่วนจังหวัดที่เหลือทั้งหมดให้มีได้จังหวัดละ 2 แห่ง…

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้นำไปสู่การต่อสู้ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและบรรดาโรงเรียนจีน ซึ่งดำเนินไปอย่างไม่ลดละจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) เป็นการต่อสู้เพื่อจุดประสงค์เดียว โดยความจริงที่ว่า คนคนเดียวกันเป็นทั้งรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงเกือบ 7 ปี นโยบายของรัฐบาลเน้นมาตรการที่เชื่อมโยง 3 อย่างซึ่งออกมาเพื่อล้างอิทธิพลทางการเมืองของโรงเรียนจีน เพื่อทำให้คณะจ้าหน้าที่ดำเนินงานในโรงเรียนที่ดำเนินงานในโรงเรียนและในหลักสูตรการเรียนกลายเป็นไทย และเพื่อจำกัดฐานการเงินของโรงเรียนด้วย

การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นโรงเรียนจีน 2 แห่งในกลางเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ก็เป็นเพียงปฏิบัติการยกแรกของอีกหลายครั้ง ที่มีเป้าหมายจะกำจัดการใช้โรงเรียนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองและเพื่อสอนเรื่องการเมือง ประมาณเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) โรงเรียนจีน 14 แห่งถูกปิดอย่างถาวรในข้อหามีกิจกรรมทางการเมือง ในกลางเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) โรงเรียนจีนขนาดใหญ่ 3 แห่งถูกตรวจค้น และยึดเอกสารเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งจดหมายที่แสดงถึงการติดต่อกับพวกคอมมิวนิสต์

ในปี ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) กระทรวงศึกษาธิการเริ่มระบบการใช้คนไทยเป็นครูใหญ่ (ซึ่งโรงเรียนราษฎร์ทั้งหมดจำต้องจ้างตามกฎหมาย) เพื่อควบคุมความนึกคิดภายในโรงเรียน ในวันที่ 1 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) หัวหน้ากองโรงเรียนราษฎร์ได้เชิญประชุมครูใหญ่คนไทยของโรงเรียนจีนทั้งหมด ทั้งในกรุงเทพฯ และธนบุรี และให้รายชื่อหนังสือจีนจำนวน 22 เล่มที่ถูกทางการสั่งห้ามอ่าน ทั้งยังฝึกอบรมบรรดาครูใหญ่ให้จับตามองอย่างใกล้ชิดในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง และกิจกรรมของคณะอาจารย์และนักศึกษาในโรงเรียน ในเดือนต่อมาโรงเรียนจีนทั่วประเทศถูกสั่งห้ามไม่ให้มีหนังสือหรืออนุญาตให้นักศึกษาอ่านหนังสือต้องห้ามเหล่านั้น

เดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) กระทรวงศึกษาธิการได้ออกคำสั่งว่าครูใหญ่คนไทยเท่านั้นที่จะเรียกประชุมนักศึกษาและกล่าวอบรมสั่งสอนได้ และยังสั่งอีกว่าการเรียกประชุมเช่นนั้นไม่อาจกระทำได้ถ้าไม่มีครูใหญ่คนไทย ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) ตำรวจได้แจ้งแก่บรรดาโรงเรียนจีนว่า ในการจ้างพวกครูควรให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่อง “ความนึกคิด” ของผู้สมัคร ผู้อำนวยการหรือครูใหญ่ที่จ้างครูซึ่งปรากฏว่าเป็นพวกฝ่ายซ้ายนั้น จะต้องมีส่วนรับผิดชอบเต็มที่ด้วย

ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496) หัวหน้ากองโรงเรียนราษฎร์มีคําสั่งบังคับให้บรรดาโรงเรียนจีนที่ถูกตรวจส่งเอกสารสิ่งตีพิมพ์ที่ทางโรงเรียนได้รับมาให้กองโรงเรียนราษฎร์ เดือนเดียวกัน โรงเรียนจีนที่จังหวัดเชียงรายและสิงห์บุรีถูกข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ หลังจากการประกาศใช้พระราชว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว เจ้าหน้าที่ทางการศึกษาการตรวจสอบสิ่งที่เรียกว่า “โรงเรียนจีนใต้ดิน” คือสอนแบบเป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 7 คน และไม่ได้อยู่ภายใต้กฎข้อบังคับโรงเรียนราษฎร์…

ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) กระทรวงศึกษาธิการสั่งให้โรงเรียนจีนในกรุงเทพฯ ปลดครู 152 คนที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่าเห็นอกเห็นใจพวกคอมมิวนิสต์ ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) มีการจัดการประชุมอบรมต่อต้านคอมมิวนิสต์แก่บรรดาครูโรงเรียนจีนในกรุงเทพฯ เดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) โรงเรียนจีนทั้งหลายได้รับคำสั่งให้ตั้งผู้ควบคุมตรวจตราที่กระทรวงแต่งตั้งทำหน้าที่แทนครูใหญ่คนไทย และให้ฝ่ายหลังกลายมาเป็นผู้ช่วยผู้ควบคุมตรวจตรา

ระหว่างปี ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) การรณรงค์เพื่อไทยนิยมยกระดับขึ้นอย่างมาก เดือนกุมภาพันธ์ บรรดาโรงเรียนจีนได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตามระบบชั้นอย่างสอดคล้องกัน โดยการให้นักเรียนที่เรียนภาษาจีนในระดับชั้นนั้นๆ เรียนภาษาไทยในระดับชั้นเดียวกันด้วย กฎเกณฑ์นี้ซึ่งระยะแรกบังคับใช้กับชั้น ป.1 และ ป.2 เท่านั้น แต่ต่อมาบังคับใช้ทุกระดับชั้นนั้น เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทั้งหมดมีความรู้ภาษาไทยอย่างน้อยก็พอๆ กับภาษาจีน

ปีเดียวกันนั้นเองมีการขยายระบบให้เงินอุดหนุนเพื่อจูงใจให้โรงเรียนจีนลดจำนวนชั่วโมงการสอนภาษาจีน มีกฏข้อบังคับว่า โรงเรียนที่สอนภาษาต่างประเทศสัปดาห์ละไม่เกิน 5 ชั่วโมงเท่านั้นจึงจะรับเงินอุดหนุนได้ โรงเรียนจีนหลายแห่งที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี โดยเฉพาะโรงเรียนทางภาคเหนือต่างต้องจำใจเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อให้มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้สำหรับการรับเงินอุดหนุน

ในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) กองโรงเรียนราษฎร์มีคำสั่งให้การเรียนดนตรีและพลศึกษาเป็นวิชาในหมวดของไทย และต้องใช้ครูไทยทั้งหมด ต่อมาในเดือนธันวาคม มีการประกาศว่า การเขียนภาษาจีนบนกระดานดำในชั่วโมงเรียนวิชาอื่นที่ไม่ใช่วิชาภาษาจีนหรือการอธิบายภาษาไทยหรือแม้แต่สอนวิชาเลขคณิตด้วยภาษาจีน ถือว่าผิดกฎข้อบังคับอย่างร้ายแรง ๆ

ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งเรื่องการลดชั่วโมงดังกล่าว [ลดจำนวนชั่วโมงภาษาจีนเหลือวันละ 1 ชั่วโมง] แก่สถานทูตจีนอย่างเป็นทางการ ทางสถานทูตจีนประท้วงว่าการกระทำเช่นนั้นละเมิดข้อความและเจตนารมณ์ของสนธิสัญญามิตรภาพปี ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) ทำให้การออกคำสั่งไปยังบรรดาโรงเรียนจีนล่าช้าไป แต่ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2458) โรงเรียนก็ได้รับคำสั่งให้ลดเวลาสอนภาษาจีนเป็นสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมงครึ่ง สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1…

ในเดือนเดียวกัน [พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495)] ทางกระทรวงฯ ก็ยืนยันว่า เพื่อประโยชน์ทางด้านความมั่นคง กระทรวงฯ จะไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนคณะครูของโรงเรียนไปตามการเลือกตั้งคณะกรรมการโรงเรียนหรือองค์การที่สนับสนุนทางการเงิน กฎข้อบังคับใหม่เกี่ยวกับการจ้างครูซึ่งได้กล่าวแล้วตอนต้นนั้น ได้โอนความรับผิดชอบในการจ้างและบรรจุครูออกมาจากอำนาจครูใหญ่หรือคณะกรรมการจีน ดังเช่นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการผู้หนึ่งกล่าวปลอบใจนักการศึกษาจีนว่า นับตั้งแต่นี้ไม่ใช่คณะเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนอีกต่อไปที่จะต้องรับผิดชอบกิจกรรมของพวกครู หากแต่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ การแต่งตั้งผู้ควบคุมตรวจตราทางการศึกษาในโรงเรียนจีน ทำให้อำนาจการตัดสินใจของครูใหญ่จีนและของคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนเผชิญการคัดค้านมากจนเป็นโมฆะ…

การปิดโรงเรียนจิ้ง-หัว ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงใหม่ปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ทำให้วงการการศึกษาจีนแน่ใจยิ่งขึ้นว่า การวิ่งเต้นหาเงินทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโรงเรียนจีนนั้นเป็นการหาความยุ่งยากใส่ตัว…เมื่อต้องเผชิญความยุ่งยากทางการเงินเช่นนี้ โรงเรียนจีนส่วนใหญ่จึงขึ้นค่าเล่าเรียนถึงขั้นที่บิดามารดาชาวจีนไม่มีความสามารถหรือไม่เต็มใจจ่าย…บรรดาครูจีนละทิ้งอาชีพเพราะข้อบังคับทางด้านภาษาและข้อจำกัดทางการเมืองที่เข้มงวดของรัฐบาล…ระหว่างปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) และ ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) เป็นไปได้ว่ามีโรงเรียนจีนหลายแห่งเต็มใจปิดโรงเรียนเพราะเหตุผลทางด้านการเงินมากกว่าจะถูกรัฐบาลสั่งปิดเพราะมีกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ยอมปฏิบัติตามกฏข้อบังคับอื่นๆ

ผลจากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ สร้างหายนะต่อเป้าหมายการศึกษาของจีน ระหว่างปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) และ ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) โรงเรียนจีนทั้งหมดในประเทศไทยลดจำนวนลงจากที่มีอยู่กว่า 430 แห่ง เหลือเพียง ประมาณ 195 แห่ง แผนการที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศในปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ดูเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อในขณะนั้น แต่โดยทั่วไปเป็นแผนการที่บรรลุเป้าหมาย แผนการนั้นมีการเสนอลดจำนวนโรงเรียนจีนนอกเขตกรุงเทพฯ ให้เหลือเพียง 141 แห่ง

เมื่อถึงปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2494) จำนวนโรงเรียนก็ลดลงเหลือประมาณ 130 แห่ง ตามแผนการดังกล่าวยอมให้จังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี และนครราชสีมา มีโรงเรียนจีนได้จังหวัดละ 3 แห่ง และในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) โรงเรียนจีนในจังหวัดทั้ง 3 แห่งนี้ลดลงเป็น 2, 3 และ 1 แห่ง ตามลำดับ ในปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ขณะที่เกือบทุกจังหวัดมีโรงเรียนจีนอย่างน้อย 1 แห่ง และตามแผนการของกระทรวงฯ แล้ว ได้รับอนุญาตให้มีได้อย่างน้อยจังหวัดละ 2 แห่ง แต่ในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) จังหวัดต่างๆ อย่างน้อย 20 จังหวัดกลับไม่มีโรงเรียนจีนเลย

นอกจากนี้ ในบรรดาโรงเรียนจีนที่เหลืออยู่นั้น จำนวนผู้สมัครเข้าเรียนโดยเฉลี่ยแล้วก็ลดลงไป…ในปี ค.ศ. 1955-1956 (พ.ศ. 2498 – 2499) จำนวนนักเรียนทั้งหมดในโรงเรียนจีนนอกเขตกรุงเทพฯ มีเพียง 22,000 คนเท่านั้น หมายความว่าโรงเรียนจีนแต่ละแห่งในต่างจังหวัดมีนักเรียนโดยเฉลี่ยเพียงแห่งละ 168 คน หมายความว่า ชาวจีน 1 ในทุก 75 คน เรียนในโรงเรียนจีน

ในกรุงเทพฯ สถานการศึกษาของจีนมีอัตราลดลงน้อยกว่าอย่างมาก จำนวนโรงเรียนในจังหวัดพระนครและธนบุรีลดลงจากที่มีมากกว่า 100 แห่ง เหลือ 63 แห่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนทั้งหมดตอนต้นปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) มีประมาณ 27,000 คน ซึ่งหมายความว่าในทุก 23 คน ของประชากรจีนมีนักเรียนจีน 1 คน อย่างไรก็ตาม การที่นักเรียนในโรงเรียนจีนทั้งประเทศลดจำนวนจาก 175,000 กว่าคน มาเหลือน้อยกว่า 50,000 คน ใน ช่วงเวลา 4 ปี แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างมากต่ออนาคตของชาวจีนในประเทศไทย

…โรงเรียนจีนทุกแห่งในราชอาณาจักรมีครูไทยมากกว่าครูจีน ความจริงที่แน่นอนที่สุดก็คือ นอกจากโรงเรียนดีที่สุดในกรุงเทพฯ และตามเมืองใหญ่ๆ เพียงไม่กี่แห่ง ผู้ที่เรียนจบ 4 ปี จากโรงเรียนจีน และได้ความรู้อย่างแท้จริงในภาษาพูดจีนกลางนั้นมีน้อยคนที่จะได้หลักพื้นฐานที่ดีในการเขียนภาษาจีน…

การอำนวยความสะดวกทางการศึกษาของโรงเรียนไทยก้าวหน้าไปเร็วกว่าจำนวนประชากรชาวไทยที่เพิ่มขึ้น ผลก็คือบิดามารดาชาวจีนจำนวนมากขึ้นสามารถส่งลูกไปเข้าโรงเรียนประถมของไทยได้โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนหรือเสียถูกกว่าโรงเรียนจีน…ส่วนชนชั้นผู้ดีชาวจีนมีความนิยมโรงเรียนของคณะสอนศาสนาและโรงเรียนของชาวต่างประเทศ [โรงเรียนของคณะสอนศาสนาคริสต์] มากขึ้นกว่าสมัยก่อนสงคราม

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) เป็นต้นมา มีสิ่งบอกเหตุหลายอย่างที่แสดงว่านโยบายของคณะผู้บริหารเกี่ยวกับการศึกษาของจีนจะค่อยคลายความเข้มงวดลง…ทางตำรวจได้เสนอโครงการซึ่งอาจจะมีการอนุญาตให้เปิดโรงเรียนจีนระดับประถมปลายและระดับมัธยมขึ้นได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับอิทธิพลคอมมิวนิสต์ในหมู่เยาวชนจีน เป็นที่รับรู้ได้ว่าการจัดให้มีการศึกษาระดับมัธยมของจีนซึ่งน่าสนใจ และมีการควบคุมอย่างมั่นคงนั้น อาจช่วยควบคุม “ชั้นเรียนใต้ดิน” เล็กๆ ซึ่งครูพิเศษที่นิยมคอมมิวนิสต์จัดสอนอยู่ และอาจช่วยตัดการหลั่งไหลของบรรดาเยาวชนที่จะไปรับการศึกษาอบรมที่ประเทศจีน (และอาจเป็นไปได้ที่จะฝึกอบรมเพื่อการล้มล้างการปกครองในประเทศไทย) โครงการนี้ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงในกระทรวงศึกษาธิการ ถึงแม้จะมีรายงานข่าวว่า จอมพล ป. พิบูล สงคราม เห็นชอบที่จะให้มีการเปิดโรงเรียนจีนระดับมัธยมขึ้นใหม่ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น…

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2564