8 กุมภาพันธ์ 1587: ควีนแมรีแห่งสก็อต ถูกประหารฐานเป็นกบฏ

ควีนแมรีแห่งสก็อต
ควีนแมรีแห่งสก็อต (Queen Mary of Scots, Queen Mary of Scotland)

ควีนแมรีแห่งสก็อต (Queen Mary of Scots, Queen Mary of Scotland) หรือพระนามเดิมว่า แมรี สจวร์ต (Mary Stuart, Mary Stewart, Mary I of Scotland) ทรงเป็นรัชทายาทหนึ่งเดียวของคิงเจมส์ที่ 5 แห่งสก็อตแลนด์ พระองค์ขึ้นเป็นราชินีแห่งสก็อตแลนด์ตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุเพียง 6 วัน (ค.ศ. 1542-1587) หลังการสวรรคตของพระบิดา

พระมารดาของพระองค์ส่งพระองค์ไปอยู่ภายใต้การดูแลของคิงเฮนรีที่ 2 แห่งราชสำนักฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาพระองค์ทรงได้เป็นราชินีของฝรั่งเศสในฐานะพระชายาของคิงฟรานซิสที่ 2 พระโอรสองค์โตของคิงเฮนรีด้วย แต่พระองค์ต้องทรงเป็นม่ายตั้งแต่พระชนมายุเพียง 18 พรรษา เมื่อคิงฟรานซิสสวรรคตก่อนวัยอันควร

นอกจากนี้ ควีนแมรีซึ่งเป็นคาทอลิกยังสืบสายเลือดของราชวงศ์ทิวดอร์ของอังกฤษผ่านทางพระอัยยิกา ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของคิงเฮนรีที่ 8 ผู้ตัดขาดจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก และคิงเฮนรีที่ 8 ยังเป็นพระราชบิดาของควีนเอลิซาเบธที่ 1 การครองราชย์ของควีนเอลิซาเบธจึงทำให้ควีนแมรีมีสถานะเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งในบัลลังก์อังกฤษไปด้วย

แต่ชาวคาทอลิกหลายรายมองว่า ควีนแมรีคือผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งราชินีแห่งอังกฤษที่แท้จริง ยิ่งกว่าควีนเอลิซาเบธ เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมรับการหย่าร้างระหว่างคิงเฮนรีและแคเธอรีนแห่งอารากอน ทำให้การสมรสในภายหลังของคิงเฮนรีกับแอนน์ โบลีน พระมารดาของควีนเอลิซาเบธตกเป็นโมฆะ

การเสด็จกลับสก็อตแลนด์หลังการสวรรคตของพระสวามีในปี 1561 ทำให้พระองค์อยู่ในสถานะที่ยากลำบาก เนื่องจากพระองค์ขาดฐานกำลังในการสนับสนุนเนื่องจากทรงเติบโตในต่างแดน และการที่พระองค์มีสถานะเป็นผู้สืบราชบัลลังก์อังกฤษด้วย ทำให้ควีนเอลิซาเบธทรงมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อควีนแมรี และควีนเอลิซาเบธก็ไม่ยอมรับสิทธิในการสืบบัลลังก์ของควีนแมรี

ในปี 1565 พระองค์ทรงสมรสครั้งใหม่กับลอร์ดดาร์นเลย์ (Lord Darnley) พระญาติชาวอังกฤษรูปงามที่พระองค์ตกหลุมรัก และยังเป็นผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ทิวดอร์เช่นกัน ซึ่งนั่นยิ่งทำลายสมดุลอำนาจในสก็อต และสร้างความไม่พอใจให้กับควีนเอลิซาเบธ ที่ทรงเห็นการสมรสครั้งนี้ว่ามีขึ้นเพื่อเสริมสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ของอังกฤษต่อจากเธอ แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็มิได้ยืนยาวเมื่อดาร์นเลย์ได้ประหารเลขานุการของพระองค์ต่อหน้าพระพักตร์ ทำให้พระองค์มองเห็นถึงความทะเยอทะยานของพระสวามีว่าอาจเป็นภัยถึงพระองค์ และการประสูติของโอรสของทั้งคู่ก็มิได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองดีขึ้นได้

ในปี 1567 ดาร์นเลย์พระสวามีของควีนแมรีได้เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ซึ่งก่อนนี้เคยมีผู้อ้างว่าเป็นแผนการของควีนแมรี และเจมส์ เฮปเบิร์นที่ 4 เอิร์ลแห่งโบธเวล (James Hepburn, 4th earl of Bothwell) ชู้รักของพระองค์ โดยอาศัยบทประพันธ์และจดหมายของควีนแมรีที่มีไปถึงเอิร์ลรายนี้เป็นข้อยืนยัน แต่นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันมองว่าหลักฐานดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ

ไม่ว่าควีนแมรีจะมีส่วนรู้เห็นต่อการเสียชีวิตของพระสวามีหรือไม่ แต่การที่พระองค์ทรงสมรสอีกครั้งกับเอิร์ลแห่งโบธเวล (หลังเหตุการณ์ที่กล่าวกันว่า พระองค์ถูกลักพาตัวและถูกข่มขืนโดยเอิร์ลแห่งโบธเวล) ซึ่งถือเป็นผู้ต้องสงสัยหลักในเหตุฆาตกรรมพระสวามีของพระองค์ ถึงแม้ว่าเอิร์ลแห่งโบธเวลจะพ้นผิดจากการเสียชีวิตของดาร์นเลย์ แต่นั้นก็สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับบรรดาชนชั้นสูง นำไปสู่การสู้รบภายในซึ่งพระองค์พ่ายแพ้และถูกจองจำ พร้อมถูกบังคับให้ยกบัลลังก์สก็อตให้กับพระโอรสที่เกิดกับลอร์ดดาร์นเลย์ (คิงเจมส์ที่ 6)

ในปี 1568 พระองค์ได้ลอบหนีจากการคุมขังและได้รวบรวมกำลังขึ้นสู้อีกครั้งแต่ก็พ่ายแพ้จนต้องหนีไปยังอังกฤษ ซึ่งเบื้องต้นควีนเอลิซาเบธก็ได้รับรองพระญาติของพระองค์เป็นอย่างดี แต่สุดท้ายก็ถูกกดดันให้ต้องกักบริเวณควีนแมรี เนื่องจากพระองค์ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของแผนการโค่นบัลลังก์ของควีนเอลิซาเบธโดยชาวคาลิกในอังกฤษและสเปน

ต่อมา ในปี 1586 มีรายงานการวางแผนลอบสังหารควีนเอลิซาเบธครั้งใหญ่ และควีนแมรีก็มีชื่อเข้าไปพัวพันในการวางแผนด้วย พระองค์จึงถูกจับไปดำเนินคดีและถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิต

ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1587 ควีนแมรีแห่งสก็อต ถูกลงทัณฑ์ด้วยการตัดคอฐานเป็นกบฏ ซึ่งคิงเจมส์ที่ 6 พระโอรสของพระองค์ ทรงยอมรับการประหารชีวิตพระมารดาโดยมิได้คัดค้าน และต่อมาหลังการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธในปี 1603 คิงเจมส์ พระราชโอรสของควีนแมรีก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Mary Queen of Scots Beheaded”. History. <http://www.history.com/this-day-in-history/mary-queen-of-scots-beheaded>

“Mary”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/biography/Mary-queen-of-Scotland>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2562