เผยแพร่ |
---|
ท่ามกลางแสงเจิดจ้าแห่งแสนยานุภาพของจักรวรรดิโรมัน ยังมีสตรีคนเถื่อนผู้หนึ่งที่หาญกล้าลุกขึ้นสู้กับจักรวรรดิเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของนาง เธอผู้นั้นคือ “โบดิกา” วีรสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์อังกฤษ
เรื่องตำนานของสตรีคนเถื่อนอาจมีข้อมูลออกมาให้ทราบไม่มากนัก แต่นักประวัติศาสตร์ก็รวบรวมข้อมูลออกมาได้จำนวนหนึ่ง ดิโอ คาสซิอุส บรรยายว่า โบดิกานั้นร่างสูง น่ากลัว มีผมหนาสีน้ำตาลอ่อนห้อยยาวลงมาถึงเอว สวมสร้อยทองขนาดใหญ่พร้อมทั้งเสื้อรัดเอวหลากสี คาสซิอุส กล่าวว่า นางคือ “เจ้าหญิงนักรบตัวจริง”
อลิซาเบธ มาโฮน (Elizabeth Kerri Mahon) ผู้เขียนหนังสือ “นางฉาวในประวัติศาสตร์” บรรยายวีรกรรมของวีรสตรีหญิงผู้นี้ว่า ในปี ค.ศ. 43 ชาวโรมันได้บุกอังกฤษเต็มตัว ซึ่งตรงกับยุคของจักรพรรดิคลอดิอุส ในตอนนั้นอังกฤษแบ่งออกเป็นอาณาจักรเล็กและใหญ่อยู่รวมกัน เมื่อโรมันเข้ามา ชาวอังกฤษจำนวนมากยินดีต้อนรับพวกเขาโดยไม่คิดว่าในระยะยาวนั้นจะมีผลอย่างไร
ต่อมาในปี ค.ศ.60 กษัตริย์แห่งเผ่าไอซินี นามว่า พราซูทากุส สิ้นพระชนม์ลง อาณาจักรของพระองค์อยู่ในสภาพต้องแบ่งกันระหว่างจักรวรรดิโรมันกับพระธิดาสององค์โดยมีมเหสีหม้ายคือโบดิกาเป็นผู้สำเร็จราชการ แต่ด้วยพระองค์สิ้นพระชนม์โดยไม่มีผู้สืบทอดชาย โรมันจึงเห็นว่าสัญญาสันติภาพกับกรุงโรมที่พระองค์เคยทำไว้เป็นโมฆะ
เนื่องจากภายใต้กฎหมายโรมัน การสืบทอดต้องผ่านทางผู้ชายเท่านั้น ดังนั้นการมีผู้หญิงปกครองจึงถือว่าชาวไอซีนีเป็นพวกป่าเถื่อน แม้ว่าผู้หญิงในเซลติกบริเตนจะสามารถปกครองแผ่นดินได้ แต่งงานกับคนที่ชอบ และครอบครองสมบัติได้ ต่างจากพวกโรมันที่ถูกควบคุมเข้มงวด
ในขณะนั้นอาณาจักรและครัวเรือนอังกฤษต่างถูกปล้นชิงด้วยน้ำมือชาวโรมันที่อยู่ใต้การปกครองของคาตุส ดีเซียนุส โบดิกาย่อมประท้วงการกระทำนี้ ชาวโรมันจึงนำตัวของพระนางแห่ประจานและอนุญาตให้ทาสข่มขืนพระธิดาเพื่อเป็นการเชือดไก่ให้เผ่าอื่นดู เหตุการณ์ทั้งหมดสร้างความโกรธแค้นให้แก่โบดิกา และชาวไอซินี รวมถึงเผ่าทริโนวานเตสที่โกรธแค้นชาวโรมันอยู่แล้ว จึงร่วมกับโบดิกาก่อขบถต่อกรุงโรม
ต้องกล่าวว่าการขบถของโบดิกาในตอนแรกได้โชคช่วย เมื่อ ซูโทนิอุส ผู้บัญชาการทหารออกไปเข่นฆ่าสังหารหมู่ชาวดรูอิดบนเกาะโมนา (แองกลีซี) ช่วงที่เขาไม่อยู่ อลิซาเบธ บรรยายตำนานครั้งนั้นว่า โบดิกา รวบรวมทหารได้มากกว่า 120,000 คน มีทั้งชายหญิงและพระ พระนางมีทั้งความโกรธแค้น และมีเรื่องเล่าที่ทรงพลังเชื่อมต่อกับคนทุกคนได้ ขณะที่ชนเผ่าเซลติกเองก็ตระเตรียมทำสงครามได้ทุกเมื่ออยู่แล้ว
ในสมรภูมิแรก โบดิกานำกองกำลังเข้ายึดเมืองโคลเชสเตอร์เพื่อปล้นสะดม และด้วยเหตุที่โคลเชสเตอร์ไม่ได้ทันตั้งตัว ตัวเมืองไม่มีป้อมปราการ กองทหารโรมันที่อยู่ใกล้และยกพลมาช่วยก็โดนชาวอังกฤษดักซุ่มโจมตีระหว่างทางจนแตกพ่าย ทำให้โบดิกาชนะศึกในครั้งนั้น
สมรภูมิต่อมา พระนางนำกองทัพเดินหน้าไปยังลอนดอน เขตการค้าหลักของจักรวรรดิโรมันในอังกฤษ ซึ่งศึกในครั้งนี้โบดิกาก็ยังได้รับชัยชนะ เผาลอนดอนจนราบคาบ สาเหตุที่พระนางมีชัยเหนือกรุงลอนดอนนั้นเกิดจากความประมาทและความโง่เขลาของ ซูโทนิอุส ที่ดูถูกกองทัพอันนำโดยผู้หญิง หลังความพ่ายแพ้ ซูโทนิอุส ตัดสินใจทิ้งเมืองและหนีไปเพื่อรวบรวมกำลังพล
สมรภูมิสุดท้าย โบดิกา ตัดสินใจไล่พวกโรมันที่นำโดย ซูโทนิอุส ขึ้นเหนือ ซึ่งไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าสนามรบสุดท้ายอยู่ที่ไหน รู้เพียงแต่เป็นสถานที่ที่มีป่าล้อมรอบ เพื่อให้ถูกโจมตีจากด้านหน้าเพียงด้านเดียวเท่านั้น เป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับชาวโรมันที่มีคนน้อยกว่า
ทั้งนี้ ด้วยความมั่นใจของชาวอังกฤษ จึงได้นำครอบครัวมาด้วย และให้ครอบครัวอยู่ในเกวียนที่จอดอยู่ริมสนามรบ ด้วยการตั้งขบวนแบบเส้นตรง ชาวโรมันใช้โล่และหอก ส่วนชาวอังกฤษทาหน้าและลำตัวเป็นสีน้ำเงินพร้อมกับร้องตะโกนข่มขู่จู่โจมอย่างบ้าคลั่ง แต่ชาวโรมันก็ยึดพื้นที่ไว้และพุ่งหอกไปในอากาศ เมื่อไม่มีเกราะป้องกันตัว ชาวอังกฤษกลุ่มแรกก็ล้มลง ชาวโรมันจึงแปรขบวนเพื่อตีโอบจากด้านข้าง
เมื่อพวกชาวอังกฤษพยามยามจะหันหนี ก็ถูกเกวียนของตนเองกระหนาบไว้ ทำให้ชาวอังกฤษล้มตายจำนวนมาก และแพ้ศึกในที่สุด ทหารโรมันเสียชีวิตเพียง 400 นาย เป็นการขบถครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของโบดิกา ต่อโรมัน
นักประวัติศาสตร์ชี้ว่า เรื่องราวในตำนานนี้สะท้อนข้อบกพร่องร้ายแรงของพระนางคือ ดูเหมือนไม่มีแผนชัดเจนอื่นใดนอกจากขับไล่พวกโรมัน หากพระนางสามารถนำชัยชนะในสมรภูมิมาใช้เป็นประโยชน์ได้ อาจได้รับแรงหนุนมากขึ้นจนอาจมีแนวโน้มทำให้โรมันพ่ายแพ้ได้
เชื่อกันว่าวาระสุดท้ายของ “โบดิกา” จบลงที่การวางยาพิษพระนางเองและพระธิดามากกว่าจะยอมตกอยู่ในมือของพวกชาวโรมัน ถึงแม้ว่าการขบถของพระนางจะล้มเหลว แต่ก็ทำให้เรื่องราวของพระนางโบดิกากลายเป็นวีรกรรมที่เป็นที่รู้จักดีของชาวอังกฤษ เป็นที่เล่าขานสืบต่อมาในเรื่องราวความกล้าหาญของพระนางโบดิกา ราชินีคนเถื่อนผู้หาญสู้กับจักรวรรดิโรมัน
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “เมีย” ยุคโรมัน มีความเท่าเทียม หน้าที่ และการอยู่กินกับผู้ชาย?
อ้างอิง :
มาโฮน, เอลิซาเบธ เคอร์รี่. นางฉาวในประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562