“เมีย” ยุคโรมัน มีความเท่าเทียม หน้าที่ และการอยู่กินกับผู้ชาย?

แอนโทนีและคลีโอพัตรา ภาพวาดเมื่อ ค.ศ. 1885

ในหนังสือ “อยู่ชายขอบ มองลอดความรู้ รวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ฉลาด รมิตานนท์” (สนพ. มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2549) โดยมี อานันท์ กาญจนาพันธุ์ เป็นบรรณาธิการ มีบทความหนึ่งเรื่อง “ความเป็นมาของ ‘เมีย’ หรือพัฒนาการของการมีตัวตนของ ‘ผู้หญิง’ ” โดย กนกศักดิ์ แก้วเทพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของผู้หญิงไว้อย่างน่าสนใจ ในที่นี้จึงขอเนื้อบางส่วนมานำเสนอดังนี้  (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

เมื่อศูนย์กลางของโลก (แห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) ได้ย้ายจากเอเธนส์มาสู่โรม ช่วงเวลาราว 5 ศตวรรษนี้ ความคิดของสังคมเกี่ยวกับการแต่งงานก็ได้เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยทีเดียว แม้ว่าในช่วงต้นของสาธารณรัฐโรมัน (500-700 ปีก่อนคริสตกาล) การแต่งงานดูจะยังยึดถือแบบอย่างของกรีกเป็นสำคัญ นั่นก็คือ การตอบรับหรือถือเอาผู้หญิงเป็นสมบัติส่วนตัวนั้นได้รับการส่งผ่าน “อย่างเป็นธรรมชาติ” จากพ่อสู่ผัว

ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วถูกคาดหวังว่าต้องมีการประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบที่สังคมกำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกผูกพัน (รักเดียวใจเดียว) อยู่กับ “ผัว” เท่านั้น ดังเรื่องราวของ Lucretia ที่ได้ยอมสังหารตัวเอง เมื่อถูก Sextus ข่มขืน (ในบันทึกของ Livy เรื่อง History of Rome : 25 ปีก่อนคริสตกาล) ส่วนผู้ชายยังคงเป็นใหญ่เหนือฝ่ายหญิงเหมือนเดิม

แต่ต่อมาในช่วงของปลายยุคสาธารณรัฐ ความคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันระหว่างสามี-ภรรยา ในฐานะผู้ร่วมชีวิตก็เริ่มลงหลักปักราก ดังปรากฏอยู่ในกฎหมายโรมัน ซึ่งค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากการที่หญิงแต่งงานแล้วต้องตกอยู่ใต้อำนาจของสามี มาเป็นอยู่ใต้อำนาจของบิดาแทน บรรดาพ่อๆ ของหญิงสาวชาวโรมันจะเป็นผู้รับผิดชอบในการหาคู่ครองที่เหมาะสมให้แก่ลูกสาวของตัวเอง

ทั้งนี้แม่ๆ และญาติโกโหติกา อันได้แก่ พี่ ป้า น้า อา ต่างเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมอันสำคัญนี้ มีแต่หญิงสาวเท่านั้นที่ไม่ได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นใดๆ ในเรื่องนี้ ปล่อยให้เป็นภารกิจของบิดา

โดยทั่วไปพ่อที่มีลูกสาวจะเริ่มการค้นหาคู่ครองให้เธอตั้งแต่เนิ่นๆ เลยทีเดียว ด้วยการหมั้นหมาย (ว่ากันว่า เมื่อลูกสาวอายุได้เพียง 6-7 ขวบ) การหมั้นหมายนี้อาจจะจบลงด้วยการแต่งงานหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้เกณฑ์สำคัญๆ ก็ได้แก่ สุขภาพของผู้หญิงและชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลฝ่ายชาย ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นทรัพย์สมบัติเงินทองและความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอำนาจทางการเมือง

ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่มีใครคาดหวังว่า ว่าที่เจ้าบ่าวจะต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง ส่วนฝ่ายหญิงนอกจากคุณสมบัติส่วนตัว เช่น หน้าตาสะสวย กิริยามารยาทงดงามแล้ว ยังต้องเป็น “สาวบริสุทธิ์” อนึ่ง มีเหมือนกันในบางครั้งที่ใช้ระบบแม่สื่อแม่ชักให้หนุ่มสาวได้แต่งงานกัน

กฎหมายโรมันระบุไว้ว่า การแต่งงานต้องได้รับอนุญาตจากบิดา (ไม่รวมมารดา) รวมทั้งการยินยอมของคู่บ่าวสาว ซึ่งได้ทำให้เห็นว่า ฐานะหรือตัวตนของ “เมีย” ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ ไม่ใช่เป็นสมบัติของ “พ่อ” ที่จะยกให้กับ “ผัว” ราวกับเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง

ว่าไปแล้ว ความต้องการสืบเผ่าพันธุ์ดูจะเป็นเหตุผลหลักอันหนึ่งของผู้ชายที่จะมี “เมีย” เช่นเดียวกับชาวฮีบรูและชาวกรีก ชาวโรมันเชื่อว่าการแต่งงานเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ชายมีความชอบธรรมในการมีลูก ยิ่งกว่านั้นราษฎรของอาณาจักรโรมันได้รับการสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องนี้โดยถือว่าเป็น “หน้าที่” (civil duty) ดังมีประกาศของจักรพรรดิ Augustus (27-14 ก่อนคริสตกาล) ให้ผู้ชาย (โรมัน) อายุระหว่าง 25-60 ปี และผู้หญิง (โรมันเช่นกัน) อายุระหว่าง 25-50 ปี ต้องแต่งงานหรือแต่งงานใหม่ได้

ทั้งนี้พ่อม่ายอาจแต่งงานใหม่ได้ทันทีหลังจากเมียตาย ส่วนแม่ม่ายนั้นต้องรอราว 10 เดือน (ต่อมาเพิ่มเป็น 12 เดือน และ 2 ปี ตามลำดับ) จึงจะแต่งงานใหม่ได้อีกครั้ง คู่ผัวตัวเมียใด “มีลูกได้” มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีลูกถึง 3 คน ซึ่งเป็นจำนวนลูกในอุดมคติของ Augustus จะได้รับรางวัล (อ่านถึงตรงนี้แล้ว บรรยากาศคงคล้ายๆ เมืองไทยยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม-ผู้เรียบเรียง)

ในยุคโรมันนี้เองที่มีการคุมกำเนิดบ้างแล้ว อุปกรณ์ในการคุมกำเนิดมีหลายอย่าง เช่น ใช้แผ่นปิดช่องคลอดที่ทำมาจากขนสัตว์ชุบสารบางอย่างที่เชื่อว่าป้องกันการปฏิสนธิได้ สารที่ใช้กันมากได้แก่ น้ำผึ้ง ยางสน สารส้ม และตะกั่ว หรือซัลเฟตผสมกับน้ำมัน ส่วนการทำแท้งก็เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป โดยไม่มีกฎหมายลงโทษจนกระทั่งสิ้นสุดศตวรรษที่ 2 นอกจากนี้ก็ไม่มีตัวบทกฎหมายที่จะป้องกันเด็กทารกจะถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง

กล่าวโดยรวมชายหนุ่มทุกคนถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องหา “เมีย” และ“มีลูก” การไม่มีลูกอาจเป็นสาเหตุของการหย่าร้างได้

การหย่าดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับชนชั้นนำของโรมัน จนเกือบจะหาใครไม่ได้เลยที่จะแต่งงานอยู่กินกับเมียเพียงคนเดียว การขอหย่าของผู้ชายไม่ได้มีสาเหตุมาจากเมียไม่มีลูกเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับความเจริญก้าวหน้าทางสังคมและตำแหน่งทางการเมืองของตนอีกด้วย

ดังกรณีของ Pompey และ Mark Anthony (ชู้รักของพระนางคลีโอพัตรา) ต่างก็มีเมียไม่น้อยกว่า 5 คน แม้แต่รัฐบุรุษเช่น Cicero (106-43 ปีก่อนคริสตกาล) ก็ได้เลือกการหย่าร้างภายหลังจากแต่งงานอยู่กินกับเมียคนเดิมมาได้ถึงร่วม 30 ปี โดยได้เมียคนใหม่เป็นลูกศิษย์ที่ยังสาวแถมรวยอีกต่างหาก

ประวัติศาสตร์ของโรมันในช่วงท้ายๆ ของสาธารณรัฐปรากฏว่า ผู้หญิงสามารถเริ่มขอหย่าได้ตราบใดที่บิดาของเธออนุมัติ

สำหรับการผิดประเวณีนั้นก็มีมากขึ้นในหมู่ชนชั้นนำ ดังเช่น Clodia ภรรยาของ Metellus (มีตำแหน่งเป็นกงสุล) เป็นที่รู้กันทั่วไปว่ามีชู้รักหลายคน รวมถึง Catulus ซึ่งแต่งบทกวีถึงเธอเอาไว้ในชื่อของ Lesbia หรือ Julia ธิดาของจักรพรรดิ Augustus ก็เลื่องลือเรื่องนี้มากเช่นกัน จนต้องถูกเนรเทศให้ไปอยู่เกาะ ส่วนชู้รัก 4 คนของเธอถูกขับไล่ออกจากอาณาจักรโรมัน ขณะที่ชู้รักคนที่ 5 ถูกประหารชีวิต ฯลฯ เป็นต้น

จักรพรรดิ Augustus เองได้พยายามแก้ไขความเสื่อมทรามทางจริยธรรมนี้ ดังปรากฏอยู่ใน Lex Julia (18 ปีก่อนคริสตกาล) ผลก็คือ สามีจักต้องดำเนินการฟ้องร้องภรรยาของตนที่มีชู้ภายใน 60 วัน หลังจากพบว่ามีเรื่องเสื่อมเสียนี้เกิดขึ้น และเมื่อศาลพิพากษาว่าเธอมีความผิดจริง สามีจะต้องหย่าขาดจากเธอ โดยเธอจะถูกริบสินสอดทองหมั้นครึ่งหนึ่งและทรัพย์สมบัติอื่นๆ ที่มีอีก 1 ใน 3

ชีวิตของ “เมีย” ชาวโรมันชั้นสูงจะมีอิสระโดยออกไปไหนต่อไหนนอกบ้านได้เพราะว่ามีทั้งแม่นมคนรับใช้และข้าทาสรับผิดชอบภารกิจในบ้านแทน โดยเฉพาะในสมัยของ Tacitus (ค.ศ. 56-120) นั้น ลูกของคนชั้นสูงไม่ได้ดื่มน้ำนมจากอกแม่เลย เพราะเป็นหน้าที่ของแม่นม นอกจากนี้ “เมีย” ชาวโรมัน จะมีนางบำเรออยู่ในบ้านเต็มไปหมด

ภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของพวกเมียนี้เห็นจะได้แก่ การได้รับสิทธิถือกุญแจทุกดอกภายในบ้าน ยกเว้นเฉพาะกุญแจห้องเก็บเหล้าองุ่น (ผู้ชายถือไว้) เพราะพวกเธอไม่ได้รับอนุญาตให้ดื่ม และเมื่อใดที่ผัวๆ ของพวกเธอถูกส่งไปทำสงครามหรือถูกเนรเทศ ภารกิจในการดูแลบริหารบ้านเรือนทุกอย่างก็ตกเป็นของ “เมีย” กล่าวในแง่นี้ก็อาจถือได้ว่า พวกเธอเป็นกองหลังที่สำคัญของโรม และเป็นผู้รับผิดชอบดูแลทรัพย์สมบัติของตระกูล

สำหรับตำนานรักของคู่ผัวตัวเมียที่โด่งดังที่สุดของอาณาจักรโรมนั้น คงไม่มีคู่ไหนเกินกว่า Mark Anthony กับพระนาง Cleopatra (ราชินีแห่งอียิปต์)…ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม แต่เรื่องนี้ดูจะเป็นการประชดประชันชีวิตของ “เมีย” ชาวโรมันด้วยก็คือ หลังจาก 2 คนนี้เสียชีวิต พระนาง Octavia (น้องสาวของ Octavius ซึ่งต่อมาได้เป็นจักรพรรดิ Augustus) ซึ่งเป็นภรรยาคนที่ 5 ของ Anthony (ได้รับการยอมรับจากชาวโรมันอย่างมาก

ดังจะเห็นได้ในการเฉลิมฉลองพิธีแต่งงานระหว่าง Anthony กับ Octavia ได้มีการจัดทำเหรียญขึ้นมาเป็นที่ระลึก ด้านหนึ่งเป็นรูปของ Anthony อีกด้านเป็นรูปของ Octavia ว่ากันว่าเป็นครั้งแรกของเหรียญโรมันที่มีรูปของผู้หญิงที่ยังคงมีชีวิต และมีลูกสาวด้วยกัน 2 คน ได้อุปถัมภ์เลี้ยงดูลูกๆ ของ Anthony ทั้งนี้เกิดจาก Fulvia (ภรรยาคนที่ 3) (ลูกชาย 1 คน) และลูกที่เกิดจาก Cleopatra ภารกิจของพระนาง Octavia สะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบของ “เมีย” ชาวโรมันได้เป็นอย่างดี

กล่าวสำหรับเรื่อง “รักร่วมเพศ” ในหมู่ชาวโรมันนั้นก็ดูจะอื้อฉาวไม่น้อยหน้าไปกว่าชาวกรีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยโรมันตอนปลาย ดังมีข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์ที่ชื่อ John Boswell ระบุเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในโลกของชาวโรมัน มีผู้ชายอยู่กินกันถาวรแบบผัว-เมียมากมายหลายคู่” และสำหรับจักรพรรดิ Nero ผู้ดุร้าย (ปกครองโรมช่วงปี ค.ศ. 54-60) ไกลกว่าคนอื่นมาก

กล่าวคือ พระองค์ได้ทำพิธีแต่งงานในที่สาธารณะกับผู้ชาย 2 คนติดๆ กัน (คือ Sporus และ Doryphorus) อีกทั้งบังคับให้ราชสำนักปฏิบัติต่อคู่ของพระองค์เทียบเท่ากับพระมเหสีทั้ง 3 คน (คือ Octavia, Poppaea และ Statilia Messalina)

ในช่วงศตวรรษที่ 1 และ 2 การแต่งงานระหว่างชายกับชายมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถือว่าเป็นการผิดกฎหมายของบ้านเมืองในปี ค.ศ. 342 ปฏิกิริยาที่สังคมในช่วงนั้นต่อต้าน เรื่องนี้ก็ดูจะคล้ายๆ กันกับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนของพวกหัวเก่าในปัจจุบัน

ในทำนองเดียวกัน พฤติกรรมแบบเลสเบี้ยน (หญิงรักหญิง) ก็ดูจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีในสังคม อาจถือได้ว่าเป็นอีกด้านหนึ่งของสังคมโรมันที่มีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ระหว่างชายด้วยกันอย่างแพร่หลาย และแน่นอนที่ว่า สิ่งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักเขียน (ผู้ชาย) ต่างๆ ว่า “ชั่วร้าย ผิดธรรมชาติ และน่าอับอาย”

ทั้งนี้ แพทย์ในสมัยนั้นมีทัศนะว่า พฤติกรรมหญิงรักหญิงนั้นเป็นอาการของ “โรค” (disease) ชนิดหนึ่ง Soramus นายแพทย์ชาวกรีกที่อยู่ในโรม ช่วงศตวรรษที่ 2 วินิจฉัยว่าสาเหตุของโรคนี้เกิดจากสภาพไม่ปกติของร่างกาย กล่าวคือ คลิตอริสมีขนาดใหญ่ ซึ่งสะท้อนว่า ผู้หญิงเป็นฝ่ายรุก (active) ในเรื่องเพศแทนที่จะเป็นฝ่ายรับ (passive) ตามที่ธรรมชาติกำหนดมาให้

ทั้งนี้เชื่อว่าโรคนี้แก้ไขได้โดยการผ่าตัดคลิตอริส (รู้จักกันทางการแพทย์ ในชื่อของ Clitorodectomy) (ขนาดของคลิตอริสที่ใหญ่จนมองเห็นได้ชัดเจนนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับอวัยวะเพศชาย) ซึ่งในปัจจุบันยังมีการผ่าตัดคลิตอริสกันอยู่อีกในอียิปต์ ซูดาน และประเทศอาหรับหลายๆ ประเทศ แม้จะได้รับการประท้วงจากแพทย์สมัยใหม่และนักเฟมินิสต์

(ที่มา:เรียบเรียงจากบทที่ 1 ของหนังสือเรื่อง A History of The Wife Marilyn Yalom พิมพ์โดย Pandora, London, 2001, pp. 1-44 เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง โอกาสครบรอบ 60 ปี ของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ แห่งศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สนใจเรื่อง “ผู้หญิง” เป็นพิเศษ ตามคำเชื้อชวนชวนของ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2564