21 มกราคม 1793 ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กษัตริย์ฝรั่งเศส
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดย Joseph-Siffried Duplessis, via Wikimedia Commons

21 มกราคม ค.ศ. 1793 (พ.ศ. 2335) พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ถูกตัดสินประหารด้วย “กิโยติน”

นับเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมในประวัติศาสตร์การล้มล้างกษัตริย์โดยประชาชน ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้าสู่ความโกลาหล การนองเลือด และสงครามที่มาจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ จนถูกขนานนามว่าเป็น ยุคแห่งความหวาดกลัว (The Terror)

เหตุการณ์การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พร้อม พระนาง มารี อังตัวเนต พระมเหสี ถูกนักประวัติศาสตร์การเมืองวิเคราะห์ว่ามีจุดเริ่มต้นมาจาก “การแก้ปัญหาทางการคลังของประเทศ”

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขึ้นครองราชย์ในปี 1774 นโบายในช่วงต้นรัชสมัยอย่างการฟื้นฟูอำนาจของรัฐสภา ทำให้พระองค์ได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง แต่การดำเนินนโยบายด้านการทหาร และให้การสนับสนุนการตั้งอาณานิคมในอเมริกา ได้ทำให้ฝรั่งเศสประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และพระองค์ก็ไม่อาจจัดการกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่การเสื่อมความนิยมในหมู่ประชาชน จนเป็นอันตรายต่อราชบัลลังก์

ย้อนกลับไปในช่วงสิงหาคม ค.ศ. 1774 รัชสมัยของพระองค์ ตูร์โกต์ ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีคลัง โดยเขามีเป้าหมายที่จะไม่ให้ท้องพระคลังล้มละลาย ไม่มีการเก็บภาษีเพิ่ม และไม่มีการกู้ยืมเงิน นั่นคือการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในส่วนที่ฟุ่มเฟือยลง ซึ่งต้องมาจากความเห็นชอบของตูร์โกต์ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดวิกฤตผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน จนถึง ค.ศ. 1775 ตูร์โกต์ร่างนโยบายเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ คือ พระ ขุนนาง และสามัญชน ต้องเสียภาษีตามฐานะของตนเอง ยกเลิกสมาคมช่างฝีมือ ซึ่งมีอภิสิทธิ์ควบคุมคนงานในภาคอุตสาหกรรม ยกเลิกภาษีเกณฑ์แรงงานและภาษีข้าว

นโยบายดังกล่าวได้รับการรับรองโดยสภาปาลมองต์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1776 แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสมาชิกที่เป็นชนชั้นขุนนาง และไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ทั้งจาก พระ ขุนนาง ข้าราชการ และราชสำนัก ทำให้ตูร์โกต์ต้องลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม

ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจากตูร์โกต์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1777 คือ ฌาค เนคเกร์ (Jacques Necker) ซึ่งได้สร้างนโยบายใหม่ขึ้นมา นั่นคือการไม่ขึ้นภาษี แต่ใช้การกู้เงินโดยให้ดอกเบี้ยสูงแทน นโยบายดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อพระ และขุนนาง แถมยังเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นกระฎุมพี อีกทั้งเนคเกร์  สนับสนุนให้รัฐบาลฝรั่งเศสกู้เงินเพื่อไปใช้จ่ายในสงครามอิสรภาพของอเมริกา โดยเข้าร่วมสงครามข้างฝ่ายอเมริการบกับรัฐบาลอังกฤษ จนได้รับชัยชนะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้กลับเป็นผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ซ้ำยังต้องชำระหนี้ให้กับเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากกู้ยืมโดยบวกกับเงินของรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อนำไปให้กับสหรัฐอเมริกาใช้ในการสงคราม จากปัญหาที่เกิดขึ้น เนคเกร์จึงถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1781

ผู้ที่มารับตำแหน่งแทนคืน กาลอน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1783 เขาค้นคว้าและได้ทำแผนปฏิรูปการคลังถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งมีสาระสำคัญ 5 ประการ คือ 1. ตัดรายจ่ายรัฐบาล 2. ส่งเสริมมาตรการที่ก่อให้เกิดการค้าเสรี ลดภาษีเกลือ ภาษีสรรพสามิต ยกเลิกกำแพงภาษีระหว่างแคว้น 3. จัดให้มีการขายที่ดินของวัดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 4. ยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงาน และ 5. เก็บภาษีที่ดินจากผู้มีกรรมสิทธิ์ไม่มีการยกเว้นบุคคล

นโยบายดังกล่าวถูกต่อต้าน โดยเฉพาะชนชั้นสูงในสภาปาลมองต์ กาลอนจึงขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เรียกประชุมสภาขุนนาง เพื่อขอแรงสนับสนุน แต่ปรากฏว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1787 สภาขุนนางไม่เห็นด้วยกับนโยบายของกาลอน จึงทำให้กาลอนโต้กลับ ตีพิมพ์รายงานค้นคว้าของเขาต่อสาธารณะ ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1787 พร้อมกับถูกเนรเทศไปแคว้นลอเรน ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั้นถอดพระองค์ออกจากราชกิจการแก้ปัญหาดังกล่าว หันไปล่าสัตว์ หรือจัดงานเลี้ยงรับรอง

เบรียน เข้ามารับตำแหน่งแทนกาลอน เขาคือคนที่ทำให้สภาปาลมองต์จดทะเบียนกฎหมายหลายฉบับที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าเสรี และการยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงาน แต่เมื่อสภาปาลมองต์ปฏิเสธนโยบาย เบรียนจึงขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ใช้พระราชอำนาจของพระองค์บังคับสภาปาลมองต์ ซึ่งพระองค์ก็ทรงเนรเทศสภาปาลมองต์ไปทรอยส์ กระทั่งเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1788 สภาปาลมองต์ได้รับอนุญาตให้กลับ ในปีถัดมา เบรียนได้ขอให้สภาปาลมองต์รับรองกฤษฎีกากู้เงิน แต่สภาปาลมองต์ปฏิเสธ ทำให้มีการประชุมสภาฐานันดร (Estates General) เพื่อแก้ไขปัญหาของแผ่นดิน

ในความพยายามสุดท้ายเพื่อจัดการปัญหาเศรษฐกิจ พระองค์ได้ทรงเรียกประชุมสภาฐานันดรในปี 1789 ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1614 โดยที่ประชุมประกอบด้วยตัวแทนจากสามฐานันดรคือ สงฆ์ ขุนนาง และฐานันดรที่สาม (โดยหลักการหมายรวมถึงสามัญชนทุกระดับ แต่ในทางปฏิบัติเป็นเพียงตัวแทนของชนชั้นกระฎุมพี) แม้ตัวแทนจากฝ่ายฐานันดรที่สามจะมีจำนวนมากกว่า แต่กลับมีสิทธิมีเสียงน้อยกว่า ทำให้ฝ่ายฐานันดรที่สามประกาศตั้งสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) จุดชนวนสู่การปฏิวัติ ท่ามกลางการต่อต้านจากสถาบันกษัตริย์

การสั่งปลด ฌาค เนกเกอร์ (Jacques Necker) รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนการปฏิรูป บวกกับการสะสมกำลังของฝ่ายกษัตริย์ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมาก นำไปสู่การบุกทลายคุกบาสติลในเดือนกรกฎาคม 1789

ในเดือนมิถุนายน 1791 การต่อต้านสถาบันได้ขยายตัวจนพระเจ้าหลุยส์และครอบครัวตัดสินใจหลบหนีออกจากกรุงปารีส โดยหวังรวบรวมกำลังและการสนับสนุนจากออสเตรียและชาติอื่นๆ เพื่อกลับมาต่อกรกับฝ่ายปฏิวัติ แต่ไม่สำเร็จ ทรงถูกจับกุมตัวระหว่างทาง และทรงถูกพาตัวกลับปารีส

ในเดือนสิงหาคม 1792 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อองตัวเนต พระชายาถูกจับกุม ก่อนสถาบันกษัตริย์จะถูกสั่งยกเลิก พร้อมกับประกาศการก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน แผนการที่พระองค์ทรงวางแผนร่วมมือกับต่างชาติ เพื่อต่อต้านฝ่ายปฏิวัติยังถูกเปิดเผย ทำให้พระองค์ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทรยศต่อชาติ โดยมีการเปิดเผยเอกสารลับจากตู้เก็บเอกสารของพระองค์ที่มีเนื้อหาต้องการยึดพระราชอำนาจคืน ซึ่งพระองค์ก็มิได้แก้ข้อกล่าวหาอย่างหนักแน่นในการพิจารณาคดีในสภากงวองซีอง 

พระองค์ถูกตัดสินว่ามีความผิด สมาชิกสภาเห็นชอบกับโทษประหาร 387 คน ส่วนอีก 334 คน เห็นว่าควรลงโทษด้วยวิธีอื่น สุดท้ายพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกประหารด้วยกิโยตินในวันที่ 21 มกราคม 1793 จากนั้นอีก 9 เดือน พระนางมารี อองตัวเนต ก็ต้องพบจุดจบเช่นเดียวกับพระสวามี

วันที่ 21 มกราคม ยังถือเป็นวันเชิงสัญลักษณ์ ที่ฝรั่งเศสเข้าสู่สถานการณ์แตกเป็น 2 ฝ่าย คือ นิยมกษัตริย์ และนิยมสาธารณรัฐ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560

“Louis Xvi”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/biography/Louis-XVI>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2562