“กิโยติน” ไม่ได้คิดค้นเครื่องตัดหัว เป็นหมอเจตนาดีที่คนตีตรา ญาติขอให้เลิกเรียกกิโยติน

โจเซฟ กิโยติน ไม่ได้ คิด เครื่องประหารกิโยติน
โจเซฟ อิกเนส กิโยติน (Joseph-Ignace Guillotin) ไฟล์ public domain ฉากหลังเป็นภาพวาด การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในปี 1793 โดย Isidore Stanislas Helman วาดเมื่อ 1794 ไฟล์ public domain

คำว่า กิโยติน (Guillotine) ที่ใช้เรียกเครื่องประหารตัดศีรษะ เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่ามาจากชื่อ โจเซฟ อิกเนส กิโยติน (Joseph-Ignace Guillotin) แพทย์และนักการเมืองผู้ถือกำเนิดในฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1738 ในข้อเท็จจริงแล้ว เขาไม่ได้เป็นผู้คิดค้นเครื่องประหารกิโยตินแบบที่คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจ ตรงกันข้าม แนวคิดพื้นฐานเดิมของเขายังต่อต้านการลงโทษประหารชีวิตด้วยซ้ำ

โจเซฟ กิโยติน

แหล่งข้อมูลหลายแห่งบอกตรงกันว่า นายแพทย์โจเซฟ กิโยติน เกิดทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เคยทำงานเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งบอร์กโดซ์ในระยะสั้นๆ หลังจากเดินทางมาที่ปารีสก็ศึกษาด้านเภสัชในมหาวิทยาลัยแห่งปารีส เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้วก็มาเป็นแพทย์ฝึกหัด

ในปี 1788 เขาเขียนเรื่อง “คำร้องขอจากพลเมืองแห่งปารีส” (Petition of the Living Citizens of Paris) เรียกร้องให้มีผู้แทนที่ไม่ได้มาจากชนชั้นสูงศักดิ์ในคณะทำงานที่เป็นผู้รับผิดชอบด้านกฎหมายในสัดส่วนที่มากขึ้น ภายหลังจากงานชิ้นนี้ นับตั้งแต่ปี 1789 เป็นต้นไป โจเซฟก็มีบทบาทในสภาร่างรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส

ในบทบาทนักการเมือง นอกจากจะเคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปการแพทย์ เป็นที่รับรู้อย่างดีว่าเขามีแนวคิดคัดค้านการลงโทษด้วยการประหารชีวิต แต่เมื่อไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ เขาก็มีแนวคิดต้องการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยกรรมวิธีที่สร้างความเจ็บปวดน้อยที่สุด

โจเซฟนำเสนอทางเลือกการลงทัณฑ์ด้วยกระบวนการพื้นฐาน เลิกกระบวนการในลักษณะสร้างความเจ็บปวดทรมานแก่ผู้ถูกกระทำ อาทิ เผาทั้งเป็น แขวนคอ แยกชิ้นส่วนเป็นสี่ท่อน ถ่วงน้ำ หรือกรรมวิธีอื่นที่ทำให้ผู้ถูกลงโทษเสียชีวิตอย่างช้าๆ

เลิกโทษประหาร-ประหารแบบมีมนุษยธรรม (?) สู่เครื่องประหารกิโยติน

ดังที่เกริ่นข้างต้นแล้วว่า เบื้องลึกของแนวคิดที่ก่อร่างเครื่องมือประหารชีวิตคนกลับมีส่วนเกี่ยวกับเจตนาดีของโจเซฟ ซึ่งต้องการยกเลิกโทษประหาร แต่เมื่อเขารู้ตัวว่าไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา เจตนารองลงมาคือทำให้การลงโทษมีมนุษยธรรมมากขึ้นและเท่าเทียมกันทุกชนชั้น

ข้อมูลในสื่อหลายแห่งเล่าสอดคล้องกันว่า ยุคสมัยของโจเซฟ ชนชั้นสูงเป็นกลุ่มเดียวที่มีสิทธิ์ได้รับโทษประหารโดยตัดศีรษะด้วยดาบ ส่วนชนชั้นอื่นที่ผู้กระทำผิดมีแนวโน้มได้รับโทษที่ทารุณมากกว่านั้นอย่างเช่นการลงทัณฑ์ด้วย “กงล้อ” ที่เรียกว่า The Wheel มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ถูกตัดสินให้ตัดศีรษะ

แม้ว่าเครื่องประหารตัดศีรษะจะปรากฏแบบร่างในหลายประเทศแถบยุโรปแล้ว แต่โดยทั่วไป บางแหล่งข้อมูลมักบ่งชี้ว่าผู้คิดค้นคือ อองตวน หลุยส์ (Antoine Louis) ที่มีอาชีพเป็นศัลยแพทย์ (Richard Cavendish, 2014)

แต่ข้อเท็จจริงในภาพกว้างที่คนส่วนใหญ่มองคือ โจเซฟ กิโยติน เป็นผู้ทำให้เครื่องประหารชนิดนี้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง “เครื่องตัดศีรษะ” ถูกนำมาพิจารณาเป็นครั้งแรกๆ ในช่วง ค.ศ. 1791

นาโอมิ รุสโซ (Naomi Russo) ผู้เขียนบทความ “The Death-Penalty Abolitionist Who Invented the Guillotine” ในเว็บไซต์ The Atlantic อธิบายว่า ในวันที่ 10 ตุลาคม ปี 1789 โจเซฟยื่นโครงร่างข้อเสนอให้รัฐบาลฝรั่งเศส เรียกร้องให้เครื่องตัดศีรษะเป็นอุปกรณ์ชนิดเดียวสำหรับการลงโทษประหารชีวิตแบบเท่าเทียม ข้อเสนอนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนักในช่วงแรก

รุสโซเล่าว่า เดือนธันวาคมในปีเดียวกัน โจเซฟ กิโยติน กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสภาแห่งชาติ (National Assembly) ใจความตอนหนึ่งว่า

“ด้วยเครื่องของผม ผมสามารถตัดศีรษะของพวกคุณในชั่วพริบตา และคุณไม่มีทางรู้สึกเลยด้วยซ้ำ” 

วันรุ่งขึ้น Les Actes des Apôtres สื่อชื่อดังของฝรั่งเศสยังเขียนล้อเลียนกิโยตินออกมาเป็นเนื้อเพลงด้วย

รุสโซอธิบายว่า ห้วงเวลานี้คือวาระที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้ชื่อของเขาถูกนำมาใช้เรียกเครื่องประหารตัดหัวอันเลื่องชื่อ

ในปี 1791 ข้อเสนอทั้งหมดของเขาได้รับความเห็นชอบ สภาประกาศให้เครื่องประหารชนิดนี้เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายเพียงอย่างเดียวในฝรั่งเศส และมอบหมายให้นักการเมืองชื่อ ปิแอร์ หลุยส์ โรเดอเรอร์ (Pierre Louis Roederer) รับผิดชอบงานจัดสร้าง

การจัดสร้างเครื่องประหารกิโยติน

โรเดอเรอร์ติดต่อโจเซฟ กิโยติน ในช่วงต้นปี 1792 เพื่อแจ้งขออนุญาตร่วมทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ไม่มีหลักฐานว่าเขาตอบโรเดอเรอร์อย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม รุสโซอธิบายเพิ่มว่า โรเดอเรอร์ไม่สามารถหาคนงานมาดำเนินการได้ เนื่องมาจากคนมักกลัวว่าจะต้องไปเกี่ยวข้องกับเครื่องมือชนิดนี้ เขายังได้รับจดหมายแจ้งเตือนว่า คนงานอาจเรียกค่าจ้างสูงเกินจริง หากต้องมาทำงานเกี่ยวกับเครื่องมือชิ้นนี้

เอกสารจดหมายชิ้นหนึ่งที่โรเดอเรอร์เขียนถึงผู้ที่มีแนวโน้มเป็นเป้าหมายรับจ้างทำงาน เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า เขาได้รับข้อเสนอจากคนอื่นๆ มาบ้าง โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่เปิดเผยว่าพวกเขา (ผู้รับจ้าง) เกี่ยวข้องกับเครื่องมือตัดหัว

ท้ายที่สุด โรเดอเรอร์ตกลงสัญญากับช่างทำเปียโนโบราณชาวเยอรมันนามว่า โทเบียส ชมิดต์ (Tobias Schmidt) เครื่องประหารด้วยการตัดศีรษะถูกทดลองกับแกะ ลูกวัว ไปจนถึงศพของมนุษย์ ส่วนเหยื่อรายแรกที่ถูกประหารด้วยเครื่องมือชิ้นนี้คือ นิโคลาส ฌาคส์ เปลเลอติเยร์ (Nicolas Jacques Pelletier) ในปี 1792

ภาพวาด การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในปี 1793 โดย Isidore Stanislas Helman วาดเมื่อ 1794 ไฟล์ public domain

2 ศตวรรษแห่งกิโยติน

เมื่อเครื่องมือชนิดนี้ถูกจัดสร้างขึ้น หลังจากปี 1793 เป็นต้นมา เครื่องประหารตัดหัวถูกใช้ลงโทษบั่นศีรษะผู้ถูกตัดสินนับไม่ถ้วน ในจำนวนนี้รวมไปถึงผู้มีชื่อเสียงอย่าง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางมารีอองตัวเนตต์ (Marie Antoinette) จนถึง แม็กซิมิเลียน โรเบสปิแอร์ (Maximilien Robespierre) และถูกใช้งานยาวนาน 2 ศตวรรษ จนกระทั่งฝรั่งเศสยกเลิกโทษประหารชีวิตเมื่อปี 1981

รุสโซหยิบยกเนื้อหาจาก Chamber’s Edinburgh Journal นิตยสารบริติชในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเขียนเล่าความขมขื่นของกิโยติน ว่า “เขาสำนึกเสียใจจนกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิตของเขา” 

ทั้งนี้ เรื่องเล่าเกี่ยวกับโจเซฟ กิโยติน ที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดกันอย่างหนึ่งคือ เขาสิ้นชีพลงด้วยเครื่องประหารกิโยตินที่ตัวเขาผลักดันเอง แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว สื่อหลายแห่งและริชาร์ด คาเวนดิช (Richard Cavendish) ผู้เขียนบทความ “Death of Joseph-Ignace Guillotin” ในเว็บไซต์ History Today อธิบายว่า โจเซฟเสียชีวิตเมื่อปี 1814 ขณะอายุ 75 ปี สาเหตุของการเสียชีิวิตก็เป็นไปตามธรรมชาติ

เวลาต่อมา เครือญาติของเขารู้สึกอับอายที่เครื่องมือชนิดนี้ถูกเชื่อมโยงกับชื่อตระกูล และยื่นเรื่องต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ขอให้เปลี่ยนชื่อเรียกเครื่องมือนี้เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาในฝรั่งเศสซึ่งมักถูกนักประวัติศาสตร์ขนานนามว่า ยุคแห่งความหวาดกลัว (The Terror)

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธคำขอของครอบครัว กระทั่งครอบครัวเปลี่ยนคำเรียกสกุลของตัวเองแทน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Cavendish, Richard. “Death of Joseph-Ignace Guillotin”. History Today. Online. Published 3 MAR 2014. Access 19 APR 2021. <https://www.historytoday.com/archive/months-past/death-joseph-ignace-guillotin>

Eschner, Kat. “The Guillotine’s Namesake Was Against Capital Punishment”. Smithsonian. Online. Published 28 MAR 2017. Access 19 APR 2021. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/joseph-guillotin-opposed-capital-punishment-180962630/>

Russo, Naomi. “The Death-Penalty Abolitionist Who Invented the Guillotine”. The Atlantic. Online. Published 25 MAR 2016. Access 19 APR 2021. <https://www.theatlantic.com/technology/archive/2016/03/the-man-behind-the-guillotine-opposed-the-death-penalty/475431/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2564