“ครั้งแรกของข้อถกเถียง” ประเทศไทย กับคำถามโทษประหารควรมีอยู่หรือไม่

เพชฌฆาตกำลังลงดาบนักโทษประหาร

กระแสสังคมในปัจจุบันกับคำถามที่ว่า “โทษประหารชีวิต ควรมีอยู่หรือไม่” ไม่ใช่ข้อถกเถียงที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย หากแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่ช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แนวคิดการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย เริ่มปรากฏขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปีพ.ศ. 2475 เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในวงจำกัดเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยยุครัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย[1] อันมีมูลเหตุมาจากความรู้สึกที่ไม่สบายใจเป็นอย่างมากในทุกๆ ครั้งที่ท่านต้องลงนามสนองพระบรมราชโองการในการประหารชีวิต ท่านจึงได้สั่งให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีหนังสือไปยังเลขานุการกรมร่างกฎหมาย ความว่า

“ด้วยคณะรัฐมนตรีใคร่จะทราบว่า โทษประหารชีวิตนั้นสำหรับประเทศสยามจะสมควรเลิกได้หรือไม่ประการใด และบัดนี้มีประเทศใดบ้างที่เลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว ขอให้ท่านจัดทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องโทษประหารชีวิตนี้ส่งกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป”[2]

โดยผู้ที่รับหน้าที่จัดทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องโทษประหารชีวิตเสนอให้แก่คณะรัฐมนตรี คือ นายเรอเน กียอง ที่ปรึกษากรมร่างกฎหมายชาวฝรั่งเศส ซึ่งเขาได้เสนอว่า การที่รัฐบาลจะพิจารณาว่าประเทศสยามควรจะมีโทษประหารหรือไม่นั้น ต้องดูจาก “พฤติการณ์แห่งท้องถิ่น” หรือบริบทของสังคมว่ามียังความจำเป็นที่จะต้องคงโทษประหารชีวิตไว้หรือไม่ เพราะในบางยุคสมัยบ้านเมืองอาจมีผู้กระทำผิดมากมาย จึงจำเป็นที่จะต้องคงโทษประหารชีวิตไว้และบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะกระทำความผิด

นายเรอเน กียอง (2419-2506) ที่ปรึกษากรมร่างกฎหมายชาวฝรั่งเศส ในคณะกรรมการกฤษฎีกา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475-2503

แต่อย่างไรก็ตามในตอนท้ายของบันทึก นายกียองยังได้แสดงทัศนะ เสนอให้มีการปรับปรุงวิธีการลงโทษประหารชีวิตให้มีมนุษยธรรมมากขึ้น โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์มาช่วยในการประหารชีวิต เช่น การให้นักโทษดมยาสลบก่อนประหารชีวิต เพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกถึงความเจ็บปวด อีกทั้งยังเสนอให้ยกเลิกการใช้เพชฌฆาต และเปลี่ยนมาใช้แพทย์หรือศัลยแพทย์เป็นผู้กระทำการประหารชีวิตแทน ในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่าบริบทของสังคมยังมีความจำเป็นที่จะต้องคงโทษประหารชีวิตไว้[3] อีกนัยหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า นายกียองยังคงสนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิตในประเทศสยาม และจากทัศนคติเหล่านี้ของนายกียองถือได้ว่ามีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะยังคงโทษประหารชีวิตเอาไว้ ซึ่งการพิจารณาเรื่องโทษประหารชีวิตว่าจะควรให้คงมีไว้หรือยกเลิกนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนาได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมร่วมกันรับผิดชอบพิจารณา

แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกันนี้รัฐบาลก็ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไปดำเนินการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิต จากตัดศีรษะเป็นยิงด้วยปืน หรือที่เราคุ้ยเคยกันในชื่อเรียกที่ติดปากว่า การยิงเป้า เพื่อที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และได้เสนอพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ. 2477 นี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณาในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2477 แต่ประเด็นการอภิปรายครั้งนี้กลับก่อให้เกิดข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิตและฝ่ายที่สนับสนุนโทษประหารชีวิตขึ้น

โดยฝ่ายสนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ให้เหตุผลว่า โทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่น่าสยดสยอง ไม่สอดคล้องกับสังคมสยามที่นับถือพระพุทธศาสนา ประกอบกับประเทศสยามได้เข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนแปลงประเพณีที่ล้าหลังให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยการยกเลิกโทษประหารชีวิตและกำหนดโทษอาญาสูงสุดคือโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน นอกจากนี้เปรียบเทียบให้เห็นถึงความรุนแรงของโทษประหารชีวิตกับจำคุกตลอดชีวิตว่า โทษจำคุกตลอดชีวิตนั้นมีความรุนแรงมากกว่าโทษประหารชีวิต เนื่องจากนักโทษจะต้อง “ถูกกักขังเสรีภาพ” ทุกข์ทรมานอยู่ในคุก ซึ่งในระหว่างที่นักโทษอยู่ในคุกก็อาจปรับเปลี่ยนนิสัยใจคอให้กลายเป็นคนดีได้[4] เช่นกัน

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนโทษประหารชีวิต ก็ได้อภิปรายแย้ง ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของฝ่ายสนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิตที่ถ้าหากจะเอาศาสนามาเป็นเกณฑ์ให้ต้องการยกเลิก แล้วให้มีแต่จำคุกตลอดชีวิตแทน โดยได้ให้เหตุผลยืนยันความจำเป็นของการลงโทษประหารชีวิตในประเทศสยาม ว่าเป็นบทลงโทษที่เหมาะสมกับประเทศสยาม เพราะบริบทสังคมในเวลานี้นั้น การศึกษาก็ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงเห็นสมควรที่จะต้องยังคงโทษประหารชีวิตไว้ เพื่อให้เห็นว่าการที่ไปฆ่าเขาให้ตาย ก็ย่อมได้รับโทษประหารชีวิต ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ร้ายมีความยำเกรงต่อบทลงโทษที่รุนแรง และไม่กล้าก่ออาชญากรรม และถ้าหากยกเลิกโทษประหารไปเสีย ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้นได้

อย่างใดก็ตามในท้ายที่สุดที่ประชุมเสียงข้างมากได้มีมติรับรองร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และออกประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อมา ซึ่งนี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าสมาชิกราษฎรส่วนใหญ่ก็ยังคงสนับสนุนการลงโทษประหารชีวิตเช่นเดียวกับฝ่ายรัฐบาล[5] และยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการให้การปฎิรูปประเทศให้เป็นแบบสมัยใหม่ มีมาตรฐานความเป็นสากล ที่ได้เห็นพ้องตามข้อเสนอของนายกียองที่ให้เสนอให้มีการปรับปรุงวิธีการประหารชีวิตให้มีมนุษยธรรมมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าทำไมประเทศไทยถึงเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิตจากการตัดหัวมาเป็นการยิงเป้าแทน

โดยการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยนั้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2478 ที่พิพากษาประหารชีวิต นายสิบเอก สวัสดิ์ มหะหมัด เนื่องจากความผิดฐานคิดกบฏ วางแผนจะล้มล้างรัฐบาลและสังหารผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 รวมถึงบุคคลสำคัญของรัฐบาล


เชิงอรรถ

[1] ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย จาก SIU, รายชื่อนายกรัฐมนตรีไทย เข้าถึงเมื่อ 22 มิถุนายน 2561 จาก http://www.politicalbase.in.th/index.php?title=รายชื่อนายกรัฐมนตรีไทย

[2] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, โทษประหารชีวิตหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ : แนวคิด การเมือง และข้อถกเถียงในการลงทัณฑ์ด้วยความตายของรัฐไทย (พ.ศ. ๒๔๗๕-๙๙), ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 36 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2558, หน้า 77

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 78

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 83

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 83


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 25 มิถุนายน พ.ศ.2561