5 พ.ค. 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เปิดการประชุมสภาฐานันดร จุดเริ่มต้นสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส

ภาพวาดการเปิดการประชุมสภาฐานันดร วันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Estatesgeneral.jpg (Public domain) ต้นฉบับจาก https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/btv1b69426650/)

การประชุมสภาฐานันดร (Estate General) ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยการจัดประชุมครั้งนี้มีที่มาจากความขัดแย้งและปัญหาที่สั่งสมมาตั้งแต่การใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นต้นมา ทำให้รัฐบาลกษัตริย์ฝรั่งเศสต้องพบกับปัญหาด้านการเงิน ราชสำนักจำเป็นต้องเร่งการเก็บภาษีอย่างเท่าเทียมเพื่อบรรเทาปัญหาด้านการเงินของรัฐบาล

เมื่อมีการจัดเก็บภาษีอย่างเท่าเทียมทำให้เกิดการขัดผลประโยชน์กับขุนนาง เพราะเดิมทีขุนนางและพระสงฆ์ได้รับอภิสิทธิ์ในการจ่ายภาษีไม่เท่ากับสามัญชนทั่วไป ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกษัตริย์กับกลุ่มขุนนางในเรื่องการจัดเก็บภาษีเป็นขั้นเบื้องต้น

ความขัดแย้งได้บานปลายขึ้นคือกรณีของปาร์เลอมองต์ (Parlement) ซึ่งเป็นกลุ่มขุนนาง ได้ต่อต้านการเก็บภาษีในอัตราเท่าเทียมของราชสำนัก เพราะละเมิดอภิสิทธิ์ด้านการจ่ายภาษีของพวกเขา และได้ดำเนินการอื่นๆ ที่เป็นการ “ท้าทาย” อำนาจของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงใช้มาตรการลดทอนอำนาจของปาร์เลอมองต์ และรวมอำนาจศาลเข้าสู่ราชสำนัก ทำให้ประชาชนมองว่าราชสำนักใช้อำนาจเผด็จการรวมอำนาจเข้าสู่ราชสำนักมากเกินไป ประชาชนจึงเลือกสนับสนุนการเคลื่อนไหวของปาร์เลอมองต์

เมื่อศาลปาร์เลอมองได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงเรียกประชุมฐานันดรขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 เพื่อลดความขัดแย้งและให้ตกลงผลประโยชน์ของแต่ละฐานันดร โดยมี 3 ฐานันดรคือ ฐานันดรที่ 1 = ขุนนาง ฐานันดรที่ 2 = พระสงฆ์ ฐานันดรที่ 3 = สามัญชน, ประชาชน

การประชุมสภาฐานันดรครั้งล่าสุดคือ ค.ศ. 1614 หรือกว่า 175 ปี แล้ว ฝ่ายปาร์เลอมองต์ที่เป็นขุนนางก็เสนอว่าให้ใช้สัดส่วนของสมาชิกที่เข้าประชุมตามปี 1614 และใช้ระเบียบการประชุมแบบเดียวกัน ซึ่งขุนนาง (ฐานันดรที่ 1) จะมีจำนวนสมาชิกมากที่สุด มีสมาชิกเป็นสองเท่าของประชาชน (ฐานันดรที่ 3) ทำให้ประชาชนไม่พอใจในสัดส่วนสมาชิก เพราะว่าประชาชนคือคนส่วนมากของรัฐ แต่กลับมีสมาชิกน้อยกว่าคนกลุ่มน้อยอย่างขุนนาง และพวกพระสงฆ์ยังคอยสนับสนุนพวกขุนนางอีก

ในภายหลังสมาชิกสภาฐานันดรสามัญชนก็ได้เพิ่มขึ้นจากข้อเรียกร้อง โดยมีสมาชิกทั้งหมด 578 คน จาก 1,139 คน ที่เหลือประกอบด้วยสมาชิกฐานันดรขุนนาง 270 คน และฐานันดรพระสงฆ์ 291 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งภายในฐานันดรของตนเอง แต่เนื่องจากการนับคะแนนยังคงป็นการนับแบบฐานันดรละ 1 คะแนน ไม่ใช่รายหัวสมาชิก การเพิ่มขึ้นของฐานันดรสามัญชนจึงไม่ได้ช่วยให้การออกเสียงของพวกเขาเป็นผลมากนัก เพราะอย่างที่กล่าวไว้แล้วว่าฐานันดรพระสงฆ์ก็มักสนับสนุนฐานันดรขุนนางอยู่เสมอ ทำให้ฐานันดรขุนนางและพระสงฆ์กุมคะแนนมากกว่าฐานันดรสามัญชนถึง 2/1

ในการประชุมช่วงแรกๆ มีพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นประธานการประชุม จุดประสงค์หลักของการประชุมคือ เพื่อแก้ปัญหาการเก็บภาษีและปัญหาการเงินของรัฐบาลกษัตริย์ แต่ปัญหาของรัฐบาลกษัตริย์มีมากกว่านั้นมาก สมาชิกสภาฐานันดรฝ่ายสามัญชนที่ไม่ได้รับการสนับสนุกจากฝ่ายขุนนางและพระสงฆ์ได้แยกสภาของพวกตนไปเป็นสภากองมูนส์ (Communes) และได้จัดการประชุมของตนเอง ในวันที่ 17 มิถุนายน ปีเดียวกัน สภาฐานันดรสมัญชนได้ถูกยกให้เป็น “สภาแห่งชาติ” อันเป็นหลักหมายสำคัญที่ท้าทายอำนาจอธิปไตยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ให้เปลี่ยนจากกษัตริย์เพียงผู้เดียวมาสู่อำนาจคู่ระหว่างกษัตริย์กับสภาฯ และเปลี่ยนเป็นอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนในภายหลัง

นับได้ว่าการประชุมสภาฐานันดรในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 เป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลายเหตุการณ์ในการปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นการวางหมุดหมายในการจัดทำรัฐธรรมนูญอันนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

 


อ้างอิง :

ปิยบุตร แสงกนกกุล. ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ : มติชน, 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2565