30 พ.ค. 1431 : “โจนออฟอาร์ก” ไพร่สาวผู้กอบกู้ฝรั่งเศส ถูกเผาทั้งเป็น

ภาพวาด โจนออฟอาร์ก ขี่ม้า
ภาพวาด โจนออฟอาร์ก โดย Jean Pichore เมื่อ ค.ศ. 1506

นักบุญ โจนออฟอาร์ก (Saint Joan of Arc หรือ Sainte Jeanne d’Arc ในภาษาฝรั่งเศส) เกิดในครอบครัวชาวนาเมื่อปี 1412 ในหมู่บ้านโดมเรมี (Domrémy) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ระหว่างการทำสงครามกับอังกฤษในสงครามที่เรียกกันว่า “สงครามร้อยปี”

บัลลังก์ของฝรั่งเศสในขณะนั้นอยู่ระหว่างการแย่งชิงระหว่างมกุฎราชกุมารชาลส์ (Charles ภายหลังคือกษัตริย์ชาลส์ที่ 7) รัชทายาทของกษัตริย์ชาลส์ที่ 6 แห่งราชวงศ์แวลัวส์ (Valois) กับกษัตริย์เฮนรีที่ 6 แห่งแลงคาสเตอร์ (Langcaster) ของอังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับฟิลิปที่ 3 (Philip the Good) ดยุคแห่งเบอร์กันดีที่ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศ

ทั้งนี้ กษัตริย์เฮนรีที่ 6 อ้างสิทธิในบัลลังก์ฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาแห่งทรัวส์ หรือ Treaty of Troyes ซึ่งระบุให้มีการอภิเษกสมรสระหว่างกษัตริย์เฮนรีที่ 5 พระราชบิดาของพระองค์กับ แคเธอรีนแห่งแวลัวส์ พระธิดาของกษัตริย์ชาลส์ที่ 6 ของฝรั่งเศส และให้กษัตริย์เฮนรีที่ 5 มีสถานะเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ฝรั่งเศสต่อจากกษัตริย์ชาลส์ที่ 6 แต่การที่กษัตริย์ชาลส์ที่ 6 และกษัตริย์เฮนรีที่ 5 สวรรคตในเวลาไล่เลี่ยกัน และกษัตริย์เฮนรีที่ 6 ของอังกฤษยังอยู่ในวัยแบเบาะ มกุฎราชกุมารชาลส์จึงลุกขึ้นมาอ้างสิทธิสืบบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา

แต่เมื่อกษัตริย์ชาลส์ที่ 6 สวรรคตไปแล้วกว่า 5 ปี มกุฎราชกุมารชาลส์ก็ยังไม่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษก เนื่องจากตามราชประเพณี พิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ฝรั่งเศสต้องทำที่เมืองแร็งส์ (Reims) ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความยึดครองของศัตรูของพระองค์ ทำให้สถานะในบัลลังก์ของพระองค์ยังไม่มั่นคง

โดมเรมีบ้านเกิดของโจนตั้งอยู่บริเวณชายแดนเขตอำนาจของมกุฎราชกุมารและฝ่ายเบอร์กันดีที่อยู่ข้างอังกฤษ ภายใต้ภาวะที่สั่นคลอนจากความขัดแย้งของสองฝ่าย โจนอ้างว่าเธอได้รับ “เสียงสวรรค์” บอกทางจากนักบุญของชาวคริสต์ 3 ท่านคือ เซนต์ไมเคิล (St. Michael) เซนต์แคเธอรีนแห่งอเล็กซานเดรีย (St. Catherine of Alexandria) และเซนต์มากาเร็ตแห่งแอนติออค (St. Margaret of Antioch) เพื่อช่วยมกุฎราชกุมารชาลส์ได้ขึ้นครองราชย์

ในเดือนพฤษภาคม 1428 โจนในวัย 16 ปี เดินทางจากบ้านเกิดไปยังวูคูเลอร์ (Vaucouleurs) ที่ตั้งของฐานทัพที่ภักดีต่อชาลส์ที่ใกล้ที่สุดเพื่อขอร่วมรบ แต่ถูกปฏิเสธ เธอเดินทางไปยังวูคูเลอร์อีกครั้งในเดือนมกราคม 1429 ด้วยบุคลิกที่แน่วแน่และเปี่ยมด้วยศรัทธาทำให้เธอได้รับการยอมรับจากเหล่าทหารและได้ร่วมเดินทางไปยังชีนง (Chinon) เพื่อเข้าเฝ้าชาลส์

เบื้องต้นชาลส์ทรงลังเลว่าจะให้โจนได้เข้าเฝ้าหรือไม่ แต่เมื่อผ่านไปสองวันชาลส์ยอมให้เธอเข้าเฝ้า โจนจึงได้บอกความตั้งใจกับพระองค์ว่าเธอต้องการออกรบกับอังกฤษ พร้อมสัญญาว่าจะทำให้พระองค์ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกที่เมืองแร็งส์ หลังจากนั้นเธอต้องถูกทดสอบและไต่สวนโดยเหล่านักบวช เธออ้างกับเหล่านักบวชว่า เธอจะพิสูจน์ถึงภารกิจที่เธอได้รับจากสวรรค์ในการสู้รบที่ออร์เลอองส์ (Orleans) ที่กำลังถูกโจมตีโดยอังกฤษมานานหลายเดือน และองค์มกุฎราชกุมารน่าจะทรงได้รับคำแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากความพิเศษของเธอในการศึกครั้งนี้

ชาลส์มอบกำลังทหารกองเล็กๆ ให้กับเธอเพื่อเดินทางไปยังออร์เลอองส์ การมาถึงของเธอพร้อมกับกำลังเสริมและเสบียงช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับเหล่าทหารฝรั่งเศส เธอนำทัพออกรบหลายครั้ง ในการรบเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1429 เธอถูกยิงด้วยธนู แต่หลังจากที่เธอทำแผลไม่นานก็รีบกลับสู่สนามรบสร้างแรงกระตุ้นให้กับทหารฝรั่งเศส และทำให้อังกฤษเสียท่า ตัดสินใจถอนทัพออกจากออร์เลอองส์ในวันถัดมา

ภาพวาดเซนต์โจนออฟอาร์กในยุทธการที่ออร์เลอองส์ [Public domain], via Wikimedia Commons
ในช่วง 5 สัปดาห์หลังจากนั้น ทัพฝรั่งเศสได้ชัยชนะเหนือทัพอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 16 กรกฎาคม กองทัพฝรั่งเศสได้เดินทางไปยังแร็งส์ ซึ่งยอมเปิดประตูเมืองเพื่อต้อนรับโจนและชาลส์ และวันถัดมาชาลส์ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสตามราชประเพณี

ศึกครั้งสำคัญถัดมาคือความพยายามบุกยึดปารีสในวันที่ 8 กันยายน โจนเรียกร้องชาวเมืองให้ยอมยกเมืองให้กับกษัตริย์ชาลส์ แต่ความพยายามของเธอไม่เป็นผล เธอถูกเล่นงานได้รับบาดเจ็บแต่ยังพยายามกระตุ้นให้ทหารเดินหน้าบุกต่อไป ก่อนเธอต้องยอมล่าถอยและกษัตริย์ชาลส์มีพระบัญชาให้ถอนทัพ

ศึกสุดท้ายของโจนคือการศึกกับฝ่ายเบอร์กันดีในเมืองคองเพียญน์ (Compiègne) ซึ่งเธอสามารถขับไล่ฝ่ายเบอร์กันดีไว้ได้ 2 ครั้ง แต่สุดท้ายเธอก็ถูกฝ่ายเบอร์กันดีจับตัวไว้ได้ในวันที่ 23 พฤษภาคม 1430 ด้วยความช่วยเหลือจากทัพเสริมของอังกฤษ ก่อนถูกขายให้กับอังกฤษด้วยค่าหัว 10,000 ฟรังส์ โดยมีคณะเทววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยปารีสซึ่งเข้าข้างฝ่ายอังกฤษเป็นตัวกลางในการเจรจา ขณะที่กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ก็มิได้พยายามช่วยเหลือเธอแต่อย่างใด เนื่องจากพระองค์กำลังพยายามหาข้อตกลงในการสงบศึกกับฝ่ายเบอร์กันดี

อาชญากรรมของโจนแม้จะเป็นที่รู้กันว่าคือความผิดต่อกษัตริย์แห่งแลงคาสเตอร์ แต่เธอถูกนำตัวขึ้นพิจารณาต่อศาลศาสนา เนื่องจากบรรดานักเทววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยปารีสยืนยันให้เอาผิดกับเธอฐานประพฤติตนนอกรีต เนื่องจากความเชื่อของเธอมิได้สอดคล้องกับแนวทางของศาสนจักรในขณะนั้น และการที่เธออ้างว่าสามารถสื่อสารกับพระเจ้าได้โดยตรงผ่านนิมิตหรือเสียงจากสวรรค์ ย่อมเป็นภัยคุกคามต่อบรรดานักบวช และการเล่นงานเธอยังส่งผลสะเทือนไปถึงกษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ซึ่งย่อมถูกมองได้ว่าบัลลังก์ของพระองค์ได้มาด้วยความช่วยเหลือของ “แม่มด”

คณะไต่สวนใช้เวลาอยู่นานเพื่อให้โจนยอมรับสารภาพ ในครั้งที่เธอป่วยหนักเธอขอโอกาสที่จะได้รับสารภาพ แต่คำสารภาพของเธอก็มิได้เป็นการยอมรับต่อการปรักปรำตามข้อกล่าวหา คณะไต่สวนจึงข่มขู่ที่จะทำร้ายเธอ โจนประกาศว่าต่อให้ทรมานจนตายก็จะไม่ตอบอย่างอื่น และจะขอยืนยันคำเดิม พร้อมกล่าวต่อไปว่าคำให้การใดๆ ของเธอหลังจากนี้ หากเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นเพราะถูกบิดเบือนด้วยการใช้กำลังบังคับ คณะไต่สวนจึงตัดสินใจส่งตัวโจนไปพิจารณาต่อในศาลอาณาจักร ซึ่งมีอำนาจลงโทษพวกนอกรีตด้วยโทษตายได้

เมื่อได้รู้คำตัดสินว่าจะถูกส่งตัวไปยังศาลอาณาจักร โจนประกาศว่าจะยอมทำทุกอย่างที่ศาสนจักรต้องการ เธอจึงถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต พร้อมคำสั่งให้สวมเสื้อผ้าอย่างผู้หญิง ซึ่งเบื้องต้นเธอยอมปฏิบัติตาม แต่สองสามวันถัดมาคณะไต่สวนได้เดินทางมาพบเธอ และพบว่า เธอสวมเครื่องแต่งกายอย่างผู้ชายอีก เธออ้างว่าเซนต์แคเธอรีนและเซนต์มากาเร็ตได้มาพบและตำหนิว่าทรยศด้วยการยอมรับสารภาพต่อศาสนจักร ทำให้ศาลศาสนาตัดสินว่าเธอประพฤตินอกรีตอีกครั้ง และตัดสินใจส่งตัวโจนต่อศาลอาณาจักร

ในวันที่ 30 พฤษภาคม 1431 ด้วยวัยเพียง 19 ปี โจนถูกเผาทั้งเป็นด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต หลังเหตุการณ์นี้กว่า 20 ปี กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ได้สั่งให้รื้อคดีของโจนขึ้นมาสอบสวนใหม่อีกครั้ง และสุดท้ายพระสันตะปาปาคาลิกส์ตุสที่ 3 (Calixtus III) ก็ได้สั่งให้รื้อการพิจารณาคดีตามฎีกาของครอบครัวของโจน คณะไต่สวนซึ่งพิจารณาคดีระหว่างปี 1455-1456 ได้มีคำสั่งยกคำตัดสินเดิมในปี 1431 และในปี 1920 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ได้ประกาศให้โจนเป็นนักบุญแห่งคริสตจักรคาทอลิก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Vale, Malcolm G.A., Lanhers, Yvonne. “Saint Joan of Arc.” Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 29 May. 2016 <http://global.britannica.com/biography/Saint-Joan-of-Arc>.

“Joan of Arc martyred.” History. A&E Television Networks. Web. 29 May 2016. <http://www.history.com/this-day-in-history/joan-of-arc-martyred>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2559