ภาพพยาธิ “มังกรไฟ” เก่าแก่ที่สุด ขณะไชออกมาจากขาของนักบุญฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 14

พยาธิ กีเนีย พยาธิมังกรไฟ St. Roch
St. Roch นักบุญชาวฝรั่งเศส (ภาพโดย Raffaele Gaeta)

นักวิจัยชาวอิตาเลียนเชื่อภาพวาดจากยุคกลางที่พบในภูมิภาค Puglia ประเทศอิตาลี อันเป็นภาพของ St. Roch นักบุญชาวฝรั่งเศสซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 14 คือหลักฐานการระบาดของพยาธิที่ได้รับฉายาว่า “พยาธิมังกรไฟ” (Fiery Serpent) ที่เก่าแก่ที่สุด ทั้งนี้จากรายงานของ Live Science

พยาธิดังกล่าวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Dracunculus medinensis หรือมักเป็นที่รู้จักกันในชื่อพยาธิกีเนีย (guinea worm) ปัจจุบันระบาดอยู่ในแถบประเทศชาด เอธิโอเปีย มาลี และซูดานใต้ มนุษย์จะติดเชื้อชนิดนี้จากการดื่มน้ำที่มีตัวไรน้ำซึ่งติดเชื้อตัวอ่อนพยาธิชนิดนี้อยู่ หนึ่งปีหลังจากการติดเชื้อ พยาธิจะเติบโตจนมีขนาดยาวได้ถึง 1 เมตร และจะโผล่ตัวออกมาจากผิวหนังในบริเวณอวัยวะท่อนล่างของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรง เพื่อบรรดาอาการเจ็บปวด ผู้ติดเชื้อจะใช้น้ำราดลงไป กระตุ้นให้พยาธิปล่อยไข่ออกสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นวงจรชีวิตของพวกมันวนเวียนต่อไป

พยาธิกีเนีย
พยาธิกีเนีย ฉายา พยาธิมังกรไฟ (ภาพจาก Otis Historical Archives of “National Museum of Health & Medicine” (OTIS Archive 1), via Wikimedia Commons)

จากงานวิจัยที่เตรียมเผยแพร่ในวารสาร Journal of Infection ฉบับหน้า (เผยแพร่ในปี 2017-กองบก.ออนไลน์) โรคพยาธิกิเนียปรากฎในงานศิลปะเป็นครั้งแรกในภาพประดับแท่นบูชาซึ่งวาดขึ้นโดยศิลปินนิรนามในช่วงศตวรรษที่ 15 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Pinacoteca di Brera แกลเลอรีรวบรวมภาพเขียนแห่งหนึ่งในภูมิภาค Puglia ทางตอนใต้ของอิตาลี

ภาพเขียนดังกล่าว เล่าเรื่องราวของ St. Roch ที่พยายามรักษาผู้ติดเชื้อพยาธิชนิดนี้ ก่อนติดเชื้อเสียเอง ศิลปินได้วาดภาพของนักบุญท่านนี้อย่างสมจริง ที่ต้นขาของนักบุญมีรอยแผลบวมแดงในจุดที่พยาธิไชตัวออกมาจากผิวหนังเป็นทางยาวเกือบถึงเข่า

ราฟาเอเล เกตา (Raffaele Gaeta) นักพยาธิวิทยาโบราณ จากมหาวิทยาลัยแห่งปีซา (University of Pisa) กล่าวว่า นักประวัติศาสตร์มักจะเข้าใจผิดคิดว่าภาพดังกล่าวคือน้ำหนองที่ไหลออกมาจากแผลอักเสบ

ในทางตรงกันข้าม เราเชื่อว่าศิลปินได้แสดงภาพของโรค dracunculiasis ในสมัยโบราณ อันเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งชื่อ Dracunculus medinesis ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในยุคโบราณ” เกตาและคณะอธิบายในงานวิจัยของเขา

โรคดังกล่าวคุกคามชีวิตมนุษย์มานานหลายพันปี ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิชี้ว่า “มังกรไฟ” (fiery serpent) ที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็นอสูรที่ทำร้ายชาวอิสราเอลระหว่างการหนีออกจากอียิปต์ก็น่าจะเป็นพยาธิชนิดนี้

“พยาธิชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้เหยื่อต้องทนทุกข์ทรมานอย่างรุนแรง” เกตากล่าว ก่อนเสริมว่า “พยาธิชนิดนี้อาจได้ชื่อเล่นว่า ‘มังกรไฟ’ ก็เพราะมันทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนรุนแรงขณะที่มันไชตัวออกจากผิวหนัง”

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า แม้ว่าพยาธิดังกล่าวจะไม่เคยมีการถูกกล่าวถึงในอิตาลีมาก่อน แต่ก็เป็นไปได้ว่าศิลปินนิรนามรายนี้จะได้เห็นพยาธิดังกล่าวจากนักเดินทางบางคนที่เดินทางมาถึงบารี ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญสำหรับคนที่เดินทางไปมากับดินแดนตะวันออกโดยเฉพาะซีเรีย และปาเลสไตน์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2562