เผยแพร่ |
---|
นักวิจัยชาวอิตาลีอ้าง “เสียงสวรรค์” ที่นักบุญโจนออฟอาร์ก (Saint Joan of Arc หรือ Sainte Jeanne d’Arc ในภาษาฝรั่งเศส) วีรสตรีชาวฝรั่งเศสอ้างถึง แท้จริงเป็นเพียงผลมาจากอาการ “ลมบ้าหมู” เท่านั้น
รายงานของ Live Science กล่าวว่า ดร. จูเซปเป ดอร์ซี (Guiseppe d’Orsi) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาฟอจจา (University of Foggia) และ เปาลา ตินูเปอร์ ผศ. ด้านชีวแพทยศาสตร์ (biomedical science) และ ระบบประสาทสั่งการ (neuromotor science) แห่งมหาวิทยาลัยโบโลญญา ในอิตาลี ได้บรรยายทฤษฎีดังกล่าวในจดหมายถึงบรรณาธิการในวารสาร Epilepsy & Behavior (ลมบ้าหมูและลักษณะอาการ) ฉบับเดือนสิงหาคมนี้ (2016)
ทฤษฎีของสองนักวิจัยชาวอิตาลีอ้างว่า โจนออฟอาร์ก น่าจะป่วยด้วยอาการลมบ้าหมูชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อสมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการรับฟังเสียง หรือ “idiopathic partial epilepsy with auditory features” (IPEAF) [Live Science ขยายความว่า idiopathic สื่อว่า อาการลมบ้าหมูชนิดนี้น่าจะเกิดจากพันธุกรรม และ partial แสดงว่า มันมีผลต่อสมองเพียงบางส่วนเท่านั้น]
Live Science กล่าวว่า ผู้ที่ป่วยด้วยอาการลมบ้าหมูมักเกิดอาการชักเรื้อรังโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งเร้า อาการชักเกิดขึ้นจากคลื่นไฟฟ้าในสมองส่งสัญญาณผิดพลาด และสัญญาณที่ถูกส่งออกมาอย่างผิดพลาดในสมองจะเป็นตัวตัดสินว่าผู้ป่วยจะแสดงพฤติกรรมอะไรออกมาระหว่างที่เกิดอาการชัก เช่น กล้ามเนื้อกระตุก หรือทำให้มึนงง สับสน หรือได้ยินเสียงต่างๆ [ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง]
สองนักวิจัยจากอิตาลีกล่าวว่า พวกตนตั้งทฤษฎีดังกล่าวมาตั้งแต่สิบปีก่อนโดยสันนิษฐานจากบันทึกคำให้การของโจนออฟอาร์กระหว่างต้องคดีฐานประพฤตินอกรีตและเป็นแม่มด เช่น บันทึกตอนที่กล่าวว่า โจน มักได้ยินเสียงและบางครั้งก็ได้เห็นนักบุญหลายคน ซึ่งอาการได้ยินเสียงหลอน และภาพหลอนร่วมด้วยในบางครั้งตรงกับอาการของลมบ้าหมูชนิดนี้
และการที่เธอได้ยินเสียงระฆัง แล้วมักจะได้ยินเสียงสวรรค์ตามมา ก็ตรงกับอาการที่เสียงบางอย่างจะกระตุ้นให้เกิดอาการลมบ้าหมูชนิดนี้เช่นกัน รวมถึงอาการได้ยินเสียงสวรรค์ระหว่างนอนหลับของโจน ก็พบในผู้ป่วยอาการเดียวกันราว 40 เปอร์เซนต์
แต่การที่โจนได้ยินเสียงสวรรค์บ่อยครั้ง ขนาด 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือเกิดขึ้นทุกวันในบางช่วง ถือว่าเป็นอาการที่อาจไม่สอดคล้องกับโรคที่สองนักวิจัยอิตาลีวินิจฉัย เนื่องจากผู้ป่วยด้วยโรคลมบ้าหมูชนิดนี้มักมีอาการไม่บ่อยนักในช่วงแรก แต่อาการชักอาจเกิดขึ้นหลายครั้งได้หากผู้ป่วยพยายาม “ถอนยา” บางชนิด ซึ่งนักวิจัยจากอิตาลีไม่อาจหาหลักฐานยืนยันแน่ชัดได้ว่า โจน ใช้ยาชนิดใดหรือไม่ระหว่างที่เกิดอาการชัก
ดอร์ซี และตินูเปอร์ กล่าวว่า การวินิจฉัยทางการแพทย์ต่อผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วกว่า 600 ปี เป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ข้อสรุปสุดท้ายเป็นที่แน่ชัด แต่ก็ยังมีโอกาสหากได้ตัวอย่างดีเอ็นเอของเธอมาทำการศึกษา เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์พบยีนส์ที่ส่งผลให้เกิดอาการลมบ้าหมูชนิดที่ทั้งคู่สันนิษฐานเอาไว้แล้ว
ด้วยเหตุนี้ ทั้งคู่จึงพยายามตามหา “จดหมาย” ของ โจน ซึ่งตามประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า จดหมายหลายฉบับของโจน เธอใช้วิธีปิดผนึกพร้อมการลงลายนิ้วมือและเส้นผมลงในขี้ผึ้งเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ของเธอ
หากทั้งคู่สามารถหาจดหมายที่ว่านี้ได้ พวกเขาก็จะสามารถพิสูจน์ข้อสันนิษฐานได้อย่างแน่ชัด แต่สิบปีผ่านไปนับแต่พวกเขาตั้งทฤษฎีนี้ขึ้นมาก็ยังไม่มีใครพบจดหมายที่ว่าของโจนออฟอาร์กแต่อย่างใด
อ้างอิง: “What Really Caused the Voices in Joan of Arc’s Head?”. Live Science. <http://www.livescience.com/55597-joan-of-arc-voices-epilepsy.html>