
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ประเทศอิตาลี มีรากฐานพัฒนามาจากราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย หรือราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย-พีดมอนต์ (Kingdom of Sardinia-Piedmont) เมื่อถึงปี 1848 กษัตริย์ชาลส์ อัลเบิร์ต แห่งราชวงศ์ซาวอย (House of Savoy) จึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีรัฐสภาเป็นระบบสองสภาและมีคณะรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการบริหารประเทศ
อำนาจของกษัตริย์อิตาลีค่อยๆ ลดลงตามกาลสมัยเช่นเดียวกับราชวงศ์อื่นๆ ในยุโรป แต่การปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็อยู่มาได้เกือบร้อยปี จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประชาชนชาวอิตาลีได้ลงประชามติเลือกให้ประเทศปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐแทนที่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวอิตาลีหันหลังให้กับสถาบันกษัตริย์คือบทบาทของกษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอล ที่ 3 (Victor Emmanuel III) ซึ่งชาวอิตาลีกล่าวหาว่าพระองค์คือต้นเหตุที่ทำให้อิตาลีเข้าสู่หายนะ เนื่องจากในเดือนตุลาคมปี 1922 เมื่อกองกำลังคนชุดดำของกลุ่มฟาสซิสต์นำโดย เบนิโต มุสโสลินี เตรียมเคลื่อนกำลังสู่กรุงโรม พระองค์ได้ปฏิเสธที่จะลงนามในพระราชกฤษฎีกาตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศกฎอัยการศึกซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยับยั้งการยึดอำนาจของกลุ่มฟาสซิสต์
ในทางกลับกัน กษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอล ทรงเลือกให้ข้าราชบริพารต่อสายตรงถึงมุสโสลินีในมิลาน และทรงเชิญให้ผู้นำฟาสซิสต์เข้าเฝ้าเพื่อรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลในกรุงโรม และสิ่งแรกที่มุสโสลินีทำเมื่อเดินทางมาถึงกรุงโรมก็คือการคำนับแทบเท้าแก่กษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอล เพื่อยืนยันความภักดีของกองกำลังฟาสซิสต์ต่อราชวงศ์ซาวอย
แต่เมื่อได้อำนาจมาแล้ว มุสโสลินีมิได้แสดงให้เห็นความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เท่าใดนัก และมีข่าวลือถึงความขัดแย้งของมุสโสลินีและกษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลให้เห็นบ่อยครั้ง

ถึงปี 1943 กองทัพอิตาลีตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเสียหายหนักในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต้องตกอยู่ใต้วงล้อมของฝ่ายสัมพันธมิตรที่กำลังรุกรานเกาะซิซิลี เข้าเดือนกรกฎาคม กษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอล ทรงทำให้หลายคนต้องประหลาดใจด้วยการสั่งปลดมุสโสลินีออกจากตำแหน่ง พร้อมให้จับกุมตัวผู้นำฟาสซิสต์ ก่อนทรงแต่งตั้งให้ ปิเอโตร บาดอกลิโอ (Pietro Badoglio) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
ความพยายามครั้งสำคัญเพื่อรักษาบัลลังก์และพาประเทศออกจากสงครามของกษัตริย์อิตาลีไม่เป็นผลสำเร็จ หลังฝ่ายสัมพันธมิตรปลดปล่อยกรุงโรมได้ในวันที่ 5 มิถุนายน 1944 พระองค์ตัดสินใจสละอำนาจทั้งหมดให้กับมกุฎราชกุมารอุมแบร์โต (Umberto) แต่ยังทรงรักษาสถานะกษัตริย์เอาไว้
ในปี 1946 ประชาชนเรียกร้องให้มีการทำประชามติเพื่อให้ชาวอิตาลีได้เลือกว่าจะปกครองภายใต้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป หรือจะหันไปใช้ระบอบสาธารณรัฐ กษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอล ที่พสกนิกรเสื่อมศรัทธามานานจึงตัดสินใจสละราชสมบัติให้กับมกุฎราชกุมารอุมแบร์โตในวันที่ 9 พฤษภาคม 1946 ด้วยหวังว่าจะช่วยดึงความนิยมจากพสกนิกรได้บ้าง
แต่สุดท้ายประชาชนส่วนใหญ่ที่พากันไปลงประชามติในวันที่ 2 มิถุนายน 1946 ก็ตัดสินใจเลือกระบอบสาธารณรัฐแทนที่ระบอบกษัตริย์ด้วยคะแนนเสียงราว 54 ต่อ 46 เปอร์เซนต์ แม้ว่าคนใต้จำนวนมาก รวมถึงชาวเนเปิลส์กว่า 80 เปอร์เซนต์จะลงคะแนนสนับสนุนระบอบกษัตริย์ แต่ในภาคเหนือที่มีประชากรหนาแน่นกว่า ส่วนใหญ่เทใจให้กับระบอบสาธารณรัฐ
ผลของประชามติบีบให้กษัตริย์อุมแบร์โตที่เพิ่งขึ้นครองราชย์หมาดๆ พร้อมด้วยอดีตกษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอล และสมาชิกราชวงศ์อื่นๆ ต้องลี้ภัยไปยังต่างแดน ปิดฉากระบอบกษัตริย์ใน ประเทศอิตาลี
อ่านเพิ่มเติม :
- อิตาลีมุง แห่ “รุมดูไม่ปราณีปราไสย” และอุปนิสัยชาวเมืองในสายพระเนตรรัชกาลที่ 5
- ย้อนเส้นทาง กว่าจะเป็นฟุตบอลอิตาลี ยุคฟาสซิสต์ “มุสโสลินี” ใช้กีฬาฮิตปลุกชาตินิยม
-
อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก ดอกผลศิลปะอิตาลีในสยาม กับปมคับข้องใจของ ศิลป์ พีระศรี
อ้างอิง :
“Victor Emmanuel III”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 01 Jun. 2016
<http://global.britannica.com/biography/Victor-Emmanuel-III>.
“Italy”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 02 Jun. 2016
<https://global.britannica.com/place/Italy/The-partisans-and-the-Resistance>.
“Victor Emmanuel III”. The New York Times. The New York Times Company, 29 Dec. 1947. Web. 02 Jun. 2016 <https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1947/12/29/88789427.html>
“Ex-King Became Italy’s Scapegoat”.The New York Times. The New York Times Company, 29 Dec. 1947. Web. 02 Jun. 2016
<http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?res=9907E2D61E3EEE3BBC4151DFB467838C659EDE>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2559