ย้อนเส้นทาง กว่าจะเป็นฟุตบอลอิตาลี ยุคฟาสซิสต์ “มุสโสลินี” ใช้กีฬาฮิตปลุกชาตินิยม

เบนิโต มุสโสลินี (ในชุดขาวตรงกลาง) ถ่ายภาพร่วมกับทีมฟุตบอลทีมชาติอิตาลี ในการเลี้ยงต้อนรับที่ Palazzo Venezia กรุงโรม เมื่อ 1 กรกฎาคม 1938 หลังป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกไว้ได้ ภาพจาก STAFF / AFP

กีฬาฟุตบอลทุกวันนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก หากพูดถึงจุดเริ่มต้นของกีฬาชนิดนี้ หลายคนยอมรับว่าเป็นอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญในการร่างกฎกติกาอันเป็นรากฐานของ “ฟุตบอล” สากลที่เล่นกันในวันนี้ซึ่งเหล่าประเทศมหาอำนาจยุโรปบางประเทศก็ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา บุคคลสำคัญในทางการเมืองของยุโรปหลายรายมักใช้ฟุตบอลเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อนำไปสู่เป้าหมายบางอย่าง กรณีที่ชัดเจนอีกตัวอย่างคือทีมฟุตบอลทีมชาติอิตาลี

ฟุตบอลแรกเริ่มในอิตาลี

ฟุตบอลในอิตาลีก่อร่างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1800s อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะหาหลักฐานอย่างชัดเจนว่าฟุตบอลเข้ามาในแผ่นดินอิตาลีเป็นครั้งแรกเมื่อใด ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้มีผู้เสนอแนะชุดข้อมูลแตกต่างหลากหลายกันออกไป

จอห์น ฟุต (John Foot) ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อิตาลีจากภาควิชาอิตาลีใน University College London และผู้เขียนหนังสือ Calcio รวบรวมประวัติศาสตร์ฟุตบอลอิตาลี ให้ข้อมูลไว้ว่า การแข่งกีฬาในรูปแบบ “ฟุตบอล” ตามนิยามของผู้คนในปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นในอิตาลียุคแรกปรากฏการแข่งในแถบลิวอร์โน (Livorno), เจนัว (Genoa) ปาแลร์โม่ (Palermo) และเนเปิลส์ (Naples)

แต่นอกเหนือจากการบอกเล่าปากต่อปากแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลการแข่งที่เกิดขึ้นจนกระทั่งมาถึงยุคทศวรรษ 1880-1890s หากพิจารณาโดยทั่วไปแล้ว ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ อิตาลีเป็นหนึ่งในจุดผ่านทางที่เรือจากบริติชจะต้องผ่าน และการเปิดคลองสุเอซ (Suez Canal) เมื่อปี ค.ศ. 1869 ทำให้ชุมชนของเหล่านักเดินเรืออังกฤษยิ่งขยายตัวขึ้น

นั่นจึงทำให้จอห์น ฟุต อธิบายว่าการแข่งฟุตบอลในแผ่นดินอิตาลียุคแรกมักมีผู้เล่นเป็นกลุ่มลูกเรือชาวอังกฤษในแถบท่าเรือโดยมีคนท้องถิ่นร่วมเล่นด้วยเพื่อให้ผู้เล่นในทีมครบจำนวน

หากจะให้กำหนดเจาะจงจุดเริ่มต้นของ “ฟุตบอลในอิตาลี” อย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนนับเอาจุดที่ Edoardo Bosio ลูกจ้างของบริษัทสิ่งทอจากอังกฤษชื่อบ. Thomas Adams จากน็อตติงแฮมเริ่มก่อตั้งสโมสรฟุตบอลแห่งแรกในตูรินช่วงค.ศ. 1880s นำลูกฟุตบอลที่เขาติดมาจากอังกฤษมาใช้

ข้อมูลข้างต้นนี้เป็นหนึ่งใน “ชุดข้อมูล” ว่าด้วยจุดเริ่มต้นของฟุตบอลอิตาลี ซึ่งจอห์น ฟุต อธิบายว่า ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ล้วนเป็นหัวข้อที่ยังโต้เถียงกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ต้นตอคำศัพท์ที่องค์กรลูกหนังอิตาลีใช้เรียกชื่อ “ฟุตบอล” ในภาษาอิตาลีก็ยังเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันมา ที่สำคัญคือมันเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

องค์กรฟุตบอลอิตาลีแห่งแรกก่อตัวขึ้นในช่วงค.ศ. 1898 และเริ่มจัดการแข่งรูปแบบ “แชมเปี้ยนชิพ” (Championships) หรือการแข่งที่มีชิงรางวัล ก่อนจะขยายรูปแบบมาเป็นการแข่งแบบทัวร์นาเมนต์เล็กๆ ในปีเดียวกัน

กระทั่งในปีค.ศ. 1909 องค์กรเปลี่ยนชื่อเป็น FIGC (Federazione Italiana del Giuoco del Calcio) พร้อมกับนิยามกีฬา “ฟุตบอล” ในอิตาลีโดยใช้คำว่า Calcio เป็นคำเรียกฟุตบอลแบบชาวอิตาเลียนอย่างเป็นทางการ

คำนิยามเรียก “ฟุตบอล” ในอิตาลี

คำว่า Calcio ถูกมองว่าเป็นคำที่มีรากทางประวัติศาสตร์ อ้างอิงจากเกมการแข่งขันชนิดหนึ่งในฟลอเรนซ์ (Florence) สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ที่จัดขึ้นในสนาม (จัตุรัส Piazza Santa Croce) และมีลูกบอล มันถูกเรียกว่า Calcio Fiorentino และยังแข่งกันมาจนถึงยุคสมัยใหม่ในปัจจุบัน แม้ว่าการแข่ง Calcio Fiorentino ในสมัยโบราณมีแค่ไม่กี่ส่วนเท่านั้นที่คล้าย “ฟุตบอลสมัยใหม่” ก็ตาม

การนิยามคำศัพท์ในเชิงการเมืองทางวัฒนธรรมแล้ว จอห์น ฟุต รวมไปถึงผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชนิดต่างๆ เห็นพ้องกันว่า การเลือกใช้ศัพท์ว่า Calcio มีนัยความหมายว่า ชาวอิตาลีเชื่อว่าพวกเขาพยายามอธิบายว่ามีเกมการแข่ง(แบบฟุตบอล)เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องทาง “การเมือง” ไม่มากก็น้อย ไม่เพียงแค่อิตาลี บางประเทศไม่ใช้คำเรียกกีฬาชนิดนี้ตามแบบชาวอังกฤษ เยอรมนีใช้คำเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า Fussball แต่ก็มีฝรั่งเศสที่ยังปล่อยให้เป็นคำแบบดั้งเดิม

ราวช่วงทศวรรษ 1890s จนถึงต้นทศวรรษ 1900s เป็นช่วงเวลาที่เหล่าทีมเก่าแก่ในอิตาลีถือกำเนิดขึ้น สโมสรยูเวนตุส (Juventus) ก่อกำเนิดช่วง 1897 จากนักเรียนในโรงเรียนระดับคนมีฐานะในตูริน (คำว่า Juventus ในลาตินหมายถึง ความอ่อนวัย [youth]) ได้แชมป์ครั้งแรกในปี 1905 ส่วนคู่ปรับในตูรินอย่างสโมสร “โตริโน่” (Torino) เริ่มก่อตัวเมื่อค.ศ. 1906 กล่าวกันว่า เริ่มรวมตัวก่อตั้งกันในโรงเบียร์ (Beer Hall)

ราวปีค.ศ. 1899 กลุ่มชาวมิลานพร้อมกับนักฟุตบอลชาวอังกฤษและสวิส ร่วมด้วยกับกลุ่มยิมนาสติกท้องถิ่นก่อตั้ง “มิลานคริกเก็ต” (Milan Cricket) และสโมสรฟุตบอลขึ้น ภายหลังมีสโมสรที่แยกออกมาคือ อินเตอร์ มิลาน (Internazionale Football Club) ก่อร่างขึ้นในปีค.ศ. 1908

ที่น่าสนใจคือ ในปี 1908 สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลีถึงขั้นมีแนวทางว่าทีมใดมีผู้เล่นต่างชาติอยู่ด้วยจะถูกตัดออกจากแชมเปี้ยนชิพและให้ไปเล่นในการแข่งที่จัดไว้ให้ทีมลักษณะนี้โดยเฉพาะ สโมสรใหญ่ต่างคัดค้านกันโดยถอนตัวจากการแข่งทั้งมิลาน, โตริโน่ และเจนัว

ไม่กี่ปีหลังจากฟุตบอลในอิตาลีเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา แนวคิดทางการเมืองแบบฟาสซิสต์ (Fascism) ก็ปรากฏขึ้นมาในอิตาลีช่วงไล่เลี่ยกัน ราว ค.ศ. 1919 เป็นปีที่เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) อดีตทหารเกณฑ์ และนักหนังสืิอพิมพ์ที่กำลังมาแรงก่อตั้งพรรค Italian Fasces of Combat (Fasci Italiani di Combattimento) หรือที่เรียกกันว่า ฟาสซิสต์ นั่นเอง (ภายหลังเปลี่ยนชื่อไปเป็น National Fascist Party)

อิตาลียุคฟาสซิสต์

ความเชื่อมั่นในแนวทางการดำเนินการและความนิยมในตัวของมุสโสลินี ท่ามกลางชาวอิตาเลียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฝูงชนฟังคำมั่นของเขาที่ว่าจะพาอิตาลีไปสู่ความยิ่งใหญ่ จนมาถึงปีค.ศ. 1922 เกิดการเดินขบวนของกองกำลังกลุ่มฟาสซิสต์เคลื่อนที่เข้ากรุงโรม กษัตริย์เอ็มมานูเอลที่ 3 (Victor Emmanuel III) ทรงยอมแต่งตั้งมุสโสลินี เป็นนายกรัฐมนตรี และถ่ายโอนพระราชอำนาจมาสู่กลุ่มทางการเมืองของฟาสซิสต์เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะและความรุนแรง

ผลจากการเคลื่อนพลไปกรุงโรมซึ่งเรียกกันว่า “March on Rome” ทำให้มุสโสลินี ก้าวขึ้นสู่อำนาจได้ในที่สุด และคงอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจทางการเมืองยาวนานถึง 21 ปี

ในมุมมองของฟาสซิสต์ พวกเขาต้องการเห็นฟุตบอลอิตาลีเป็นอันดับหนึ่งในโลก และในยุคสมัยของมุสโสลินี นี่เองที่ฟุตบอลได้รับความนิยมแซงหน้ากีฬาอื่น จนถึงขั้นกลายเป็นสถานะกีฬาแห่งชาติก็ว่าได้ ยุคของมุสโสลินี ปรากฏการก่อสร้างสนามใหม่ในแทบทุกเมืองของอิตาลี การแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดของอิตาลีก็เกิดขึ้นแบบเป็นรูปเป็นร่างได้จริงในยุคนี้

ที่สำคัญ ในสมัยของมุสโสลินี ทีมฟุตบอลทีมชาติอิตาลีคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ 2 สมัย (1934 และ 1938) และเหรียญทองโอลิมปิกอีกหนึ่งสมัยในปี 1936

อิทธิพลของฟาสซิสต์ในฟุตบอลอิตาลี

จอห์น ฟุต พบว่า กลุ่มฟาสซิสต์ เริ่มเข้าแทรกแซงฟุตบอลอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1925 ในฤดูกาล 1924-25 การขับเคี่ยวกันระหว่างโบโลญญา (Bologna) กับ เจนัว เป็นไปอย่างดุเดือด ช่วงเวลานั้นยังไม่มียิงจุดโทษ หากผลออกมาเสมอกันก็ต้องเตะรีเพลย์กันใหม่ กว่าจะหาผู้ชนะเพื่อไปเพลย์ออฟชิงแชมป์กับอีกสาย (Southern championship) ต้องเล่นกันไปถึง 5 เกม

เกมที่ 3 ในซีรีส์แข่งวันที่ 7 มิถุนายน 1925 เป็นอีกหนึ่งเกมที่ “ดราม่า” ที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอิตาลี เกมนั้นมีผู้นำท้องถิ่นแถบโบโลญญาของกลุ่มฟาสซิสต์ชื่อ Leandro Arpinati เข้าชมด้วย

ผ่านครึ่งแรกไป เจนัว นำ 2-0 และเหมือนจะกุมชัยในเกมระดับแชมเปี้ยนชิพไว้ได้แล้ว แต่เมื่อผ่านครึ่งทางของครึ่งหลังไป จังหวะที่ผู้ตัดสินเป่าให้ลูกเตะมุมกับโบโลญญา หลังลูกยิงระยะเผาขนนัวเนียอยู่หน้าประตูฝั่งเจนัว ฝูงชนเสื้อดำกลุ่มฟาสซิสต์ไม่พอใจคำตัดสินและกรูกันเข้ามาในสนาม (Arpinati ยังอยู่บนอัฒจันทร์) ผู้ตัดสินโดนล้อมไว้นาน 15 นาที เชื่อกันว่าด้วยความหวาดกลัว เขาจึงตัดสินให้เป็นประตูของโบโลญญา และในช่วง 8 นาที่สุดท้าย โบโลญญา มาได้ประตูตีเสมอในที่สุด

ควันหลงของเกมนี้ยังไม่จางหาย ผลปรากฏว่า สหพันธ์ฯ สั่งให้เล่นเพลย์ออฟกันใหม่

ท้ายที่สุดแล้วเป็นโบโลญญา อันเป็นทีมนักเตะอิตาเลียนล้วนเป็นฝ่ายได้ชัยในซีรีส์ ได้เข้าไปเตะเกมชิงแชมป์ระดับชาติ (National Finals) พบกับแชมป์ฝั่งใต้ (The Southern League/Championship) และโบโลญญา เอาชนะทีม Alba-Audace Roma โบโลญญา กลายเป็นแชมป์แชมเปี้ยนชิพแรกอย่างเป็นทางการของโบโลญญา แต่สำหรับเจนัว และแฟนบอลอีกจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการปล้นชัยไป

สำหรับ Arpinati เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรี (Mayor) ในปี 1926 และได้เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลีในปีเดียวกัน เขาดำรงตำแหน่งนี้ไปจนถึงปี 1933 กระทั่งออกจากตำแหน่งในปี 1934 หลังมีเรื่องอื้อฉาวทางการเงิน

ฟาสซิสต์ในฟุตบอลทีมชาติ

จอห์น ฟุต อธิบายว่า ฟาสซิสต์ปรากฏอยู่ในฟุตบอลและส่งอิทธิพลต่อเกมกีฬาในเชิงสัญลักษณ์ นักเตะต้องทำท่าเคารพแบบฟาสซิสต์ก่อนเริ่มแข่ง คนในระดับสูงจากกลุ่มฟาสซิสต์ได้ที่นั่งที่ดีสุดในสนาม มุสโสลินี ก็เคยเข้าชมเกมในสนามด้วยตัวเอง เสื้อของทีมชาติอิตาลียังเคยปรากฏสัญลักษณ์ฟาสซิสต์ขนาดเล็กๆ ด้วย

ไม่ใช่แค่อิทธิพลภายนอก กลุ่มคนระดับสูงยังเข้าควบคุมสหพันธุ์ฟุตบอลอิตาลี และมีอิทธิพลสำคัญต่อองค์กรลูกหนัง ไปจนถึงเรื่องแทรกแซงการย้ายทีม บางสโมสรเปลี่ยนชื่อทีมของตัวเองเพื่อให้แสดงถึงความเป็น “อิตาเลียน” ตามแนวทางแบบฟาสซิสต์ อย่างไรก็ตาม ในยุคฟาสซิสต์ เกิดสนามที่ทันสมัยหลายแห่ง อย่างเช่นในโบโลญญาและฟลอเรนซ์ บางแห่งยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน

แต่เมื่อมุสโสลินี หมดอำนาจ ช่วงทศวรรษ 1940s สโมสรหลายแห่งเปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อเดิม และไม่มีใครทำท่าเคารพแบบฟาสซิสต์อีกต่อไป (ยกเว้นแต่เปาโล ดิ คานิโอ – Paulo Di Canio นักเตะที่เคยทำท่านี้จนเป็นเรื่อง)

ภายหลังฟุตบอลโลกครั้งแรกที่อุรุกวัยเมื่อปี 1930 อิตาลีเข้าร่วมแข่งขันเป็นเจ้าภาพ และได้เป็นเจ้าภาพสมใจในปี 1934 กลุ่มการเมืองฟาสซิสต์ ใช้โอกาสนี้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ มีการเปลี่ยนชื่อสนามให้มีชื่อมุสโสลินี คือสนาม stadio Benito Mussolini ภายหลังมุสโสลินี หมดอำนาจก็เปลี่ยนเป็นชื่ออื่น

วิตโตริโอ พอซโซ (Vittorio Pozzo) กุนซือทีมชาติอิตาลีใน 1930s ยังได้ประโยชน์จากนโยบายของพรรคฟาสซิสต์ที่สนับสนุนการดึงตัวนักเตะฝีเท้าดีให้โอนสัญชาติ และออกกฎหมายเอื้อต่อการนำนักเตะฝีเท้าเยี่ยมจากอเมริกาใต้ให้กลายมาเป็นสัญชาติอิตาลี

นักเตะอิตาลีที่เป็น Oriundi (หมายถึงผู้อพยพ เป็นคำที่ใช้เรียกนักฟุตบอลอิตาเลียนที่มีเชื้อสายมาจากอเมริกาใต้) คนแรกคือ จูลิโอ ลิโบนาตติ (Julio Libonatti) ศูนย์หน้าลีลาทีเด็ด

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนคือหลุยส์ มอนติ (Luis Monti) กองกลางที่โดดเด่นในฟุตบอลโลก 1930 โดยเขาเล่นให้ทีมชาติอาร์เจนติน่า ชุดรองแชมป์บอลโลก 1930 แต่ในฟุตบอลโลก 1934 เขาเล่นให้ทีมชาติอิตาลี

อิตาลีในยุคดังกล่าวประสบความสำเร็จทั้งในแง่ผลงานและการจัดแข่งขันในปี 1934 ขณะที่ในปี 1938 ก็ป้องกันแชมป์ได้อีกสมัย

อิตาลี-อังกฤษ สัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งชัง

แม้ว่าทีมชาติอิตาลีจะประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลกตั้งแต่ช่วง 30s ขณะที่อังกฤษเพิ่งได้ลงเล่นฟุตบอลโลกในปี 1950 แต่หลังจากยุค 70s เป็นต้นมา อังกฤษเริ่มขยับขึ้นมาข่มฟุตบอลอิตาลีอย่างชัดเจน

สำหรับในยุค 30s ตั้งแต่ช่วงกลางเป็นต้นไป อังกฤษถูกฟาสซิสต์อิตาลีมองว่าเป็นศัตรู จอห์น ฟุต เล่าว่า อิตาลีทำโฆษณาชวนเชื่อโจมตีอังกฤษเป็นพวกจักรวรรดินิยมและพวกตะกละ

ทั้งสองทีมพบกันครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 1933 ในสนามแห่งชาติพรรคฟาสซิสต์ในกรุงโรมต่อหน้าผู้ชม 5 หมื่นคน เกมจบลงด้วยสกอร์ 1-1

เกมต่อมาคือในปี 1934 อิตาลีในฐานะแชมป์โลกดวลกับอังกฤษที่สนามไฮบิวรี (Highbury) ในเกมซึ่งเสมือนเป็นการชิงตำแหน่ง “ทีมที่ดีสุดในโลก” โดยปริยาย ผ่านไป 12 นาที อังกฤษขึ้นนำ 3-0 แต่เกมจบลงที่สกอร์ 3-2 เป็นฝ่ายอังกฤษได้ชัย

อย่างไรก็ตาม สื่ออิตาลีประโคมเกมนั้นว่า นักเตะอิตาลีสู้เยี่ยงกองพลกลาดิเอเตอร์ และบอกว่า “ความพ่ายแพ้มีค่ามากกว่าชัยชนะสองเท่า” ทีมชาติอิตาลีถึงกับได้ฉายาว่า “สิงโตแห่งไฮบิวรี”

และแน่นอนว่า ประวัติศาสตร์ได้จารึกผลการแข่งขันระหว่างอิตาลีกับอังกฤษครั้งล่าสุดในยูโร 2020 (เลื่อนมาแข่งปี 2021) เกมนัดชิงชนะเลิศคราวนี้เป็นอิตาลีไล่ตามตีเสมอ 1-1 ก่อนมาชนะจุดโทษแบบลุ้นระทึก คว้าแชมป์ยุโรปสมัยที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของพลพรรคอัซซูรี่ (Azzurri)

ในศึกระหว่างอิตาลีกับอังกฤษครั้งนี้ แฟนบอลอิตาลีมีวลีฮิตที่ใช้กันว่า Football is coming to Rome (ฟุตบอลกำลังจะไปที่โรม) ล้อไปกับวลีที่แฟนบอลอังกฤษมักปลุกใจว่า Football is coming home (ฟุตบอลกำลังจะหวนคืนบ้านเกิด) ดังที่ฝั่งสิงโตคำรามมอง “อังกฤษ” คือ “บ้านเกิดของฟุตบอล” (สมัยใหม่) วลีนี้ยังเป็นชื่อเพลงดังในยุคที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพฟุตบอลยูโร 1996

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Benge, James. “England’s ‘It’s Coming Home,’ explained: What to know about the chant ahead of UEFA Euro 2020 final vs. Italy”. CBS. Online. Published 12 JUL 2021. Access 21 JUL 2021. <https://www.cbssports.com/soccer/news/englands-its-coming-home-explained-what-to-know-about-the-chant-ahead-of-uefa-euro-2020-final-vs-italy/>

Foot, John. Calcio A History of italian Football. London : Harper Perennial, 2007.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564