ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
26 สิงหาคม ค.ศ. 1789 สภานิติบัญญัติของฝรั่งเศส รับรองคำประกาศว่าด้วย “สิทธิมนุษยชน” และ “พลเมือง”
การรับรองคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติของฝรั่งเศสในปี 1789 (พ.ศ. 2332) เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการปฏิวัติ เนื่องมาจากความไม่พอใจในระบอบเก่าภายใต้การปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 คล้อยหลังเหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์ได้ราวหนึ่งเดือน
คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมืองประกอบด้วยเนื้อหา 17 มาตรา ส่วนเวลาที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติของฝรั่งเศสรับรองคำประกาศมีบันทึกหลายแหล่งที่ไม่ตรงกัน แต่จะอยู่ในช่วงวันที่ 20-26 สิงหาคม ค.ศ. 1789 ซึ่งนับเป็นก้าวแรกสู่การร่างรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสที่วางรากฐานว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของ “มนุษย์” มิใช่แต่เพียงพลเมืองฝรั่งเศสเท่านั้น
ดร. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แปลบทนำของคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ไว้ว่า
“โดยที่พิจารณาเห็นว่า ความเขลาเบาปัญญาความหลงลืมหรือความละเลยเพิกเฉยต่อสิทธิประการต่าง ๆ ของมนุษย์นั้นเป็นสาเหตุแต่เพียงประการเดียวของความหายนะที่เกิดมีขึ้นแก่ส่วนรวมและของความฉ้อฉลที่เกิดมีขึ้นในรัฐบาลชุดต่างๆ
บรรดาผู้แทนปวงชนชาวฝรั่งเศสซึ่งรวมตัวกันเป็นสภาแห่งชาติจึงเห็นพ้องต้องกันในอันที่จะออกประกาศอย่างเป็นทางการซึ่งปฏิญญาว่าด้วยสิทธิทั้งหลายตามธรรมชาติอันมิอาจถ่ายโอนแก่กันได้และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์เพื่อว่าเมื่อปฏิญญาฉบับนี้ได้ปรากฏแก่สมาชิกทั้งมวลอันประกอบกันขึ้นเป็นสังคมจงทุกคนแล้วจะกระตุ้นให้สมาชิกเหล่านั้นได้ตระหนักอยู่เสมอถึงบรรดาสิทธิและหน้าที่ของพวกเขา เพื่อว่าเมื่อพิจารณาถึงการกระทำแห่งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจปกครองบริหาร
ไม่ว่าจะในคราใดก็ตามประกอบกันเข้ากับวัตถุประสงค์แห่งสถาบันทางการเมืองทุกสถาบัน (อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจปกครองบริหารที่ว่านั้น) จักพึงได้รับการเคารพยิ่งขึ้น เพื่อว่าข้อเรียกร้องทั้งปวงของพลเมือง -ซึ่งนับแต่บัดนี้ไป จักตั้งอยู่บนหลักการต่างๆ อันชัดเจนและเป็นหลักการที่มิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป -จักมุ่งไปสู่การธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและประโยชน์สุขร่วมกันของทุกคน”
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระราชโองการแห่งไซรัส” กฎหมายสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของโลก หรือแค่โฆษณาชวนเชื่อ?
- ฌ็อง-ปอล มาราท์ นักเขียนฝ่ายซ้ายช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้สังหารศัตรูจากปลายปากกา
- “คดีแพะรับบาป” เหตุทูตฝรั่งเศสสบประมาท-ดูหมิ่นสยามต่อหน้าพระพักตร์ ร.4
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ่าน คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ทั้ง 17 มาตราได้ที่ http://www.thaivolunteer.org/คำประกาศว่าด้วยสิทธิ/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2560