ฌ็อง-ปอล มาราท์ นักเขียนฝ่ายซ้ายช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้สังหารศัตรูจากปลายปากกา

The Death of Marat มรณกรรมของมาราท์ ฌ็อง-ปอล มาราท์
"The Death of Marat" หรือ มรณกรรมของมาราท์ ผลงานของ ฌัก-หลุยส์ ดาวีด, ปี 1793 (ภาพจาก Wikimedia Commons / Royal Museums of Fine Arts of Belgium)

ฌ็อง-ปอล มาราท์ (Jean-Paul Marat) นักคิด นักเขียนในยุคสมัยแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะชายผู้นี้สามารถปลุกใจมวลชนฝรั่งเศส ให้ลุกขึ้นสู้กับชนชั้นสูง ในยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Regin of Terror) ด้วยปลายปากกาที่เขาเขียนรายชื่อ “ศัตรู” ผู้เป็นภัยคุกคามของการปฏิวัติ

ฌ็อง-ปอล มาราท์ เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1743 ที่เมืองบูดรี ราชรัฐเนอชาแตล (สวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน) มาราท์เติบโตในครอบครัวผู้อพยพทางศาสนา ที่หันมานับถือนิกายคาลวินในนครเจนีวา และเมื่ออายุได้ 16 ปี ก็เดินทางออกจากบ้านไปแสวงหาโอกาส เพราะตระหนักว่า การเป็นคนอพยพในเนอชาแตล ทำให้โอกาสของเขาถูกปิดกั้น

มาราท์ย้ายไปปารีสและเรียนการแพทย์ที่นั่น ต่อมา ค.ศ. 1765 เขาย้ายไปกรุงลอนดอนและเริ่มเป็นแพทย์ พร้อมได้เป็นเพื่อนกับ อันเจลิคา คอฟมันน์ (Angelica Kauffman) ศิลปินแห่งราชบัณฑิตยสถานศิลปะ ทำให้เขาเริ่มคบค้าสมาคมกับพวกสถาปนิก และศิลปินชาวอิตาลี และเริ่มสนใจแนวคิดทางปัญญา งานปรัชญา ตลอดจนทฤษฎีการเมือง

ค.ศ. 1770 มาราท์ย้ายไปนิวคาสเซิล และเริ่มงานเขียนทางการเมืองชิ้นแรกของเขา คือ Chains of Slavery (ห่วงโซ่ของระบอบทาส) กระทั่งเดินทางกลับกรุงปารีส ใน ค.ศ. 1776 และแวะเยี่ยมครอบครัวที่นครเจนีวา ใน ค.ศ. 1777

ต่อมา เขาได้กลายเป็นแพทย์ประจำองครักษ์ใน เคานต์แห่งอาร์ตัว (ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส) พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จากนั้นมาราท์ลาออกจากราชการ และผันตัวไปเป็นนักวิทยาศาสตร์แทน โดยการเขียนบทความ และทดลองเกี่ยวกับไฟ ไฟฟ้า และแสงสว่าง แต่มาราท์ก็ต้องล้มเหลวในการได้รับเลือกเข้าสู่สถาบันวิทยาศาสตร์ (Academy of Sciences)

เมื่อชีวิตด้านวิทยาศาสตร์ไม่รุ่ง มาราท์ก็ผันตัวมาเขียนงานการเมือง โดยเริ่มตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ของตัวเอง ในฐานะผู้สนับสนุนประชาชนในการปฏิวัติฝรั่งเศส

และเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1789 ประชาชนร่วมกันล้มล้างระบอบเก่าเพื่อสถาปนาระบอบใหม่ ซึ่งมาราท์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการผลักดันให้ผู้คนเกิดความเคียดแค้นชนชั้นสูง  และนำไปสู่การโค่นล้มระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศส

เพราะตั้งแต่ ค.ศ. 1789 เป็นต้นมา มาราท์เริ่มตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ L’Ami du Peuple หรือ “สหายของประชาชน” ซึ่งช่วยให้เขามีเส้นสายกับสโมสรจาโกแบง (Jacobins) ผู้นำการต่อต้านระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศส งานของเขากลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง

“ศีรษะ [ของชนชั้นสูง] ห้าหรือหกร้อยหัวที่หลุดออกไป จะช่วยทำให้คุณมั่นใจได้ว่า คุณจะได้รับอิสรภาพและมีความสุขอย่างแท้จริง มนุษยธรรมจอมปลอมคอยแต่ยั้งมือของคุณให้หยุดโจมตี เพราะมันได้คร่าชีวิตของพี่น้องนับล้านของคุณไปเสีย” ฌ็อง-ปอล มาราท์ กล่าวใน L’Ami du Peuple

มาราท์มองว่า เหล่าชนชั้นสูงเป็นอันตรายต่อการปฏิวัติ ทำให้งานเขียนส่วนใหญ่ของเขาได้ปลูกฝังความเกลียดชังต่อชนชั้นสูงให้กับประชาชน แต่งานก็ทำให้เขามีศัตรูเยอะขึ้น ทำให้ในช่วง ค.ศ. 1790-1792 มาราท์ต้องหนีไปอยู่ในท่อน้ำทิ้ง ทำให้อาการโรคผิวหนังลุกลาม

หลังจากนั้น เขาต้องใช้ชีวิตในการทำงานและพบปะผู้คนในอ่างน้ำที่ใส่ยารักษาโรคผิวหนัง เพื่อบรรเทาอาการคันและแสบร้อน ซึ่งปัจจุบัน เราไม่อาจทราบได้ว่า มาราท์เป็นโรคอะไรกันแน่

เมื่อประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ซึ่งยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ มองเห็นการปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสด้วยความหวาดกลัว จึงต้องการขัดขวางการแพร่กระจายแนวคิดการปฏิวัติ และฉกฉวยผลประโยชน์จากความโกลาหลในฝรั่งเศส ด้วยการเริ่มรุกรานฝรั่งเศส ตั้งแต่ ค.ศ. 1792 และสนับสนุนให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กลับมาทวงบัลลังก์

เปิดโอกาสให้ฝ่ายลามงตาญ (La Montagne) กลุ่มหัวรุนแรงของสโมสรจาโคแบง นำโดย มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ (Maximilien Robespierre) ขึ้นมาบริหารประเทศ และเข้ามาล้มล้างสถาบันกษัตริย์ในฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1792 แปรสภาพราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่หนึ่ง ด้วยการนำพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่พยายามหลบหนีออกนอกประเทศมาประหารชีวิตโดยกิโยติน

การประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ชาติต่าง ๆ ในยุโรปรุกรานฝรั่งเศส ประชาชนในประเทศจึงถูกเกณฑ์ไปรบ อีกทั้งภายใต้การนำของรอแบ็สปีแยร์ ใครก็ตามที่มีท่าทีสนับสนุนชนชั้นสูงแม้แต่น้อย จะถูกส่งตัวไปตัดหัว ทำให้ฝรั่งเศสในยุคนั้นต้องเผชิญกับความวุ่นวาย การนองเลือด และความหวาดกลัว หรือที่เรียกกันว่า สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror)

มาราท์เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว เพราะเขาจัดทำรายชื่อผู้คนที่สมควรโดนประหารชีวิตโดยกิโยตินให้กับรอแบ็สปีแยร์ เขาจึงกลายเป็นคนชี้เป็นชี้ตายชะตาชีวิตประชาชนชาวฝรั่งเศสจากปลายปากกา ช่วงนั้นมีผู้คนถูกประหารชีวิตหลายหมื่นคน อีกทั้งมาราท์ยังเป็นคนเขียนหนังสือ เขียนข่าว และเขียนแถลงการณ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนโรแบ็สปีแยร์อีกด้วย

ประชาชนบางกลุ่มจึงไม่พอใจมาราท์เป็นอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือ ชาร์ลอตต์ กอร์เดย์ (Charlotte Corday) หญิงสาวจากนอร์มังดี ที่ตัดสินใจออกเดินทางจากบ้านเกิดไปกรุงปารีส และติดต่อมาราท์ว่า เธอมีรายชื่อ “ศัตรู” ของฝ่ายลามงตาญ ที่จะลุกฮือในอนาคต ซึ่งมาราท์ให้เธอเข้าพบเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1793

ระหว่างมาราท์นอนอ่านรายชื่อพวกนั้นในอ่างน้ำ กอร์เดย์อาศัยจังหวะใช้มีดแทงอกมาราท์จนถึงแก่ความตาย เธอถูกจับไม่นานหลังก่อเหตุ เพียง 4 วันจากนั้นกอร์เดย์ก็ถูกประหารชีวิตโดยกิโยตินต่อหน้าสาธารณชน สิ้นชีพด้วยวัยเพียง 24 ปี แต่ก่อนตายหญิงสาวได้ทิ้งคำพูดเอาไว้ว่า “ฉันฆ่าคนไป 1 คน เพื่อช่วยคนอีกนับแสน”

The Death of Marat มรณกรรมของมาราท์ ฌ็อง-ปอล มาราท์
“The Death of Marat” (ภาพจาก Web Gallery of Art)

ทว่า การตายของมาราท์กลับได้รับการเชิดชูว่าเป็นการพลีชีพเพื่ออุดมการณ์ของประชาชน ในฐานะวีรบุรุษของการปฏิวัติ และกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังของการปฏิวัติฝรั่งเศส

ฌ็อง-ปอล มาราท์ นักเขียนฝ่ายซ้าย ที่สามารถชี้ชะตาชีวิตของผู้คนในฝรั่งเศสได้จากปลายปากกา ถือเป็นสื่อมวลชนหัวซ้ายจัดที่สุดในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 และกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการล้มล้างระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศส ซึ่งผู้คนในยุคดังกล่าวและยุคปัจจุบันสามารถจดจำนามของ มาราท์ ได้จากภาพ มรณกรรมของมาราท์ (The Death of Marat) โดย ฌัก-หลุยส์ ดาวีด (Jacques-Louis David) สมาชิกสโมสรจาโคแบง ซึ่งเขียนภาพอุทิศให้มาราท์กลายเป็นวีรบุรุษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.britannica.com/biography/Jean-Paul

Marathttps://www.britannica.com/biography/Charlotte

Cordayhttps://mytrueancestry.com/en/blog/mystery-of-jean-paul-marat-the-french-revolutionary


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2566