“คดีแพะรับบาป” เหตุทูตฝรั่งเศสสบประมาท-ดูหมิ่นสยามต่อหน้าพระพักตร์ ร.4 !

ทูต ฝรั่งเศส เข้าเฝ้า รัชกาลที่ 4 ที่ พระที่นั่งอนันตสมาคม
(ภาพประกอบเนื้อหา) สมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ได้แต่งทูตมาแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อ พ.ศ. 2406 และได้ทูลเกล้าถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลยอง ดอนเนอร์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2410 เพื่อทรงรับราชทูตฝรั่งเศสอีกคณะหนึ่ง จึงทรงสายสะพายเลยอง ดอนเนอร์พร้อมดารา เพื่อเป็นเกียรติยศแด่ชาวฝรั่งเศส (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพเหตุการณ์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์)

เมื่อท่านเคาต์โบวัวร์ติดตามเจ้าชายฝรั่งเศส 3 องค์ คือ เจ้าชายคองเด เจ้าชายจวงวีลร์ และดุ๊กปองติแอฟรึ ผ่านมาเที่ยวเมืองไทยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2410 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดีพระทัยนัก โปรดให้คณะชาวฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าฯ ในทันทีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อทรงชี้แจงเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับ โอบาเรต์ กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงสยามในขณะนั้น

เจ้าชายทั้ง 3 มิได้เฉลียวใจเลยว่า การมาเยือนเมืองไทยแบบนักท่องเที่ยวผู้ไม่ประสีประสาอะไรเลย จะต้องถูกเกณฑ์ให้รับรู้พฤติกรรมอันป่าเถื่อน ซึ่งตัวแทนผู้สูงส่งของพวกเขากำลังประพฤติอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้กระทำการอุกอาจท้าทายพระราชอำนาจของพระองค์อย่างกล้าบ้าบิ่น พวกเขาถึงกับตกตะลึงและเตรียมตัวเดินทางกลับออกมาอย่างเร่งรีบ มันคือฝันร้ายที่เพื่อนร่วมชาติชาวฝรั่งเศสต้องการลืมให้เร็วที่สุด [3]

การทูตการเมือง

ความระส่ำระสายในเวทีการเมืองสยามกับฝรั่งเศสคุกรุ่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2406 เมื่อ ม.โอบาเรต์ กงสุลฝรั่งเศสคนใหม่ ถูกแต่งตั้งเข้ามาประจำในกรุงเทพมหานคร เขาพบว่าผลงานชิ้นโบแดงที่ต้องทำให้สำเร็จโดยเร็ว คือการทำให้เขมรตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ตลอดสี่ปีในอำนาจเป็นสี่ปีแห่งความก้าวร้าวทะเยอทะยาน ความเกะกะระราน และการใช้อิทธิพลมืดทุกวิถีทาง เพื่อให้แผนอันชั่วร้ายบรรลุจุดประสงค์ลงได้ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น

บุคคลผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์แทบทุกเรื่องพาดพิงไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตลอดจนเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่และขุนนางของพระองค์ ผู้ได้รับพระบัญชาให้ตอบโต้อย่างระมัดระวังด้วยการเจรจาแบบอ่อนน้อมถ่อมตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน ทั้งซึ่งหน้าและลับหลัง เมืองไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่กับนักการทูตผู้โฉดเขลาเบาปัญญา ตรัสถึงเรื่องนี้ว่า “เพราะชตาเมืองไทยเปนอย่างนี้  คนต่างประเทศใครดูเกะกะนักก็มาเป็นกงสุล อย่างนี้มาหลายคนแล้ว” [1]

เจ้าชายฝรั่งเศส 3 องค์ นำเรื่องอื้อฉาวของ ม.โอบาเรต์ออกมาเปิดโปง (ภาพจากหนังสือเที่ยวรอบโลก ค.ศ. 1868 ของเคาต์โบวัวร์)

ไม่ใช่แต่เฉพาะเรือปืนต่างชาติติดอาวุธที่โอบาเรต์สั่งเข้ามาข่มขู่อยู่หน้าพระบรมมหาราชวังเท่านั้น แม้กลางท้องพระโรงที่ถือว่าปลอดภัยที่สุด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังเบือนพระพักตร์หนีความจองหองของโอบาเรต์อย่างอดกลั้นและเอือมระอา ความตึงเครียดดำเนินต่อไปแรมปีโดยไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งวันก็ยิ่งใกล้จุดระเบิดเข้าไปทุกที

แต่ก่อนที่การบันดาลโทสะของเหล่าเสนาบดีจะปะทุขึ้น พระสหายชาวอเมริกันของพระเจ้าอยู่หัวคนหนึ่งอดรนทนดูการสบประมาทอย่างได้ใจของทูตฝรั่งเศสไม่ได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจใช้สื่อหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่ในมือ เป็นเครื่องตอบโต้ปฏิบัติการอันรุนแรงและไร้มนุษยธรรมด้วยการเปิดโปงแฉพฤติกรรมอำพรางของโอบาเรต์ให้ประจักษ์สู่สายตาชาวโลก เป็นเหตุให้สถานการณ์บานปลาย ลงเอยด้วยการตกเป็นผู้รับเคราะห์กรรมเสียเอง แกถูกปรักปรำว่าเป็นคนผิดใน “คดีแพะรับบาป” ที่ฮือฮาที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ และถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นประมาทโอบาเรต์โดยเจตนา พระสหายผู้นั้นเป็นนายแพทย์วุฒิบัตรอเมริกัน และเป็นผู้นำของคณะมิชชันนารีต่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ผู้มีนามว่า ดอกเตอร์แดน บีช บรัดเลย์  

ทูตฝรั่งเศส

ความประพฤติที่ต่ำช้าสามานย์ แสดงความเป็นอันธพาลของโอบาเรต์ เริ่มต้นจากการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความปั่นป่วนในสังคมไทยเป็นอันดับแรก เขาเป็นต้นคิดการก่อหวอดในหมู่คนจีน ซึ่งต่อมาลุกลามไปในหมู่คนไทยให้เข้ามาสมัครเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส เพื่ออภิสิทธิ์ในความคุ้มครองพิเศษ การหาเรื่องปรักปรำข้าราชการไทย การใช้อำนาจกงสุลบีบบังคับรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเสนอให้ถอดถอนอัครมหาเสนาบดี การตั้งตัวเป็นเอเยนต์ขายสุราโดยพลการ ตลอดจนการยับยั้งหน่วงเหนี่ยวพระราชสาส์น และเครื่องมงคลราชบรรณาการสำคัญของจักรพรรดิฝรั่งเศส เพื่อเป็นหลักประกันในการต่อรองผลประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ เป็นลำดับเหตุการณ์ที่สอดแทรกอยู่เป็นระยะ ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย แต่ค่อนข้างจะตกหล่น เพราะเรื่องไม่ติดต่อกันเท่าที่ควร

ภาพรวมทั้งหมดกลับไปปรากฏเชื่อมโยงกันอยู่ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ของหมอบรัดเลย์ เนื้อหาสาระของเรื่องราวต่าง ๆ ที่รวบรวมออกมาได้ต่อไปนี้ เป็นบันไดนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี หมอบรัดเลย์ในเวลาต่อมา และเป็นแรงผลักดันให้ทรงมีพระราชวินิจฉัยส่งราชทูตพิเศษไปกรุงปารีสโดยตรงเพื่อประท้วงและขับไล่โอบาเรต์ให้ออกไปจากแผ่นดินไทย เป็นกรณีศึกษาบทบาทของตัวแทนรัฐบาลต่างประเทศที่จะส่งผลให้เกิดความ “ตื่นตัวทางการเมือง” ในระดับต่าง ๆ ของสังคมไทยที่ชัดเจนที่สุดในรัชกาลนี้

ม. โอบาเรต์ กงศุลฝรั่งเศส สมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจากวารสาร “ข่าวสารอาณานิคม” ของฝรั่งเศส)

สิทธิสภาพนอกอาณาเขต

การแทรกซึมทฤษฎีประหลาดของกงสุลฝรั่งเศสในครั้งแรกที่สุดอุปมาได้กับการชักทาสหนีเจ้าชักบ่าวหนีนาย โอบาเรต์พอใจคบหาสมาคมกับพวกชาวจีนที่ทำมาค้าขายอยู่ในกรุงเทพมหานคร แล้วก็ช่วยเหลือให้คนพวกนั้นได้มีความสะดวกในการซื้อการขายเกี่ยวข้องกับอินโดจีนฝรั่งเศส ชาวจีนจึงพอใจคบหากับชาวฝรั่งเศส  โอบาเรต์เห็นท่วงทีได้การเลยเกลี้ยกล่อมชาวจีนให้ “ขึ้นทะเบียน” เป็นคนในร่มธงฝรั่งเศสเสียเลย

การเป็นคนในร่มธงนี้ดี กล่าวคือเสมือนได้มีเชื้อชาติบังเกิดเป็นฝรั่งเศสด้วย เมื่อเกิดคดีความอย่างไรขึ้นฝ่ายไทยจับได้ กงสุลฝรั่งเศสก็ออกรับปัดป้องกันให้ไปขึ้นศาลกงสุลของฝรั่งเศส ทำให้มีคนไปโอนสัญชาติเป็นคนในร่มธงฝรั่งเศสหลายร้อยคนเลยเป็นแฟชั่นกันไป ทีนี้พวกที่อยู่ใต้ธงฝรั่งเศสก็มักจะทำเรื่องผิดกฎหมายไทยอยู่เนือง ๆ เช่น ฉ้อโกงและลักเล็กขโมยน้อย เมื่อตำรวจไทยจับได้ก็ไม่อาจจะเอาผิดเพราะไม่สามารถลงโทษจึงต้องปล่อยตัวไป เมื่อกงสุลฝรั่งเศสทำได้กงสุลอื่น ๆ จึงทดลองทำบ้าง แล้วเลยกลายเป็นปัญหา “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ที่เรื้อรังต่อมาจนถึงในรัชกาลที่ 6

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงปฏิเสธธรรมเนียมฝรั่งนอกคอกนี้ในทันที ครั้งหนึ่งทรงมีพระราชวินิจฉัยกรณีชาวจีนคนหนึ่งทำความผิดฐานฆ่าคนตาย แต่โอบาเต์ออกมาปกป้องไว้ความว่า…

“ครั้งนี้อ้างจีนผู้ร้ายปล้นก็เข้าเดินทางกงสุลโอบาเร่ ๆ รับเอาลูกเมียอ้ายผู้ร้ายไว้ในบ้านแล้วมีหนังสือมาขอโทษ ว่าเป็นคนถือศาสนาเอมเปเรอ ขอให้อ้ายผู้ร้ายไปอยู่บ้านอย่าให้จับ และขอให้ตั้งกฎหมายใหม่ว่า คนนับถือศาสนาของเอเปเรอ ถึงผิดโทษถึงตายอย่าให้ฆ่าเสียให้เนรเทศไปเสียจากบ้านเมือง ข้าฯ เห็นว่าควรตอบแต่ว่า การก็คงสุดแต่ความในหนังสือสัญญา ว่าแต่เท่านี้ดีแล้ว อย่าว่ามากไป ข้าฯ รู้เท่าแล้วไม่โง่งมหลงไหล เป็นที่พึ่งแก่อ้ายผู้ร้ายที่กระทำผิด  ข้าฯ ไม่ยอมเลยจริง ๆ” [1]

แต่ก็ไม่ทรงสามารถขัดขวางอย่างไรได้ หมอบรัดเลย์ผู้เกาะติดสถานการณ์มาตลอดอดรนทนอยู่ไม่ไหว แม้ว่าจะเป็นฝรั่งด้วยกันก็ตามที แกเลยเขียนเตือนลงในหนังสือพิมพ์ของแก ปีที่ 2 ฉบับที่ 5  ประจำวันที่ 29 เมษายน 2408 ว่า…

“การทิ้งธง ไปอาศรัยธงอื่น”

เรื่องที่อยู่ข้างท้ายนี้ คัดจากหนังสืออินตะเนชันนัลลอเปรียบเป็นคำไทยว่า กฎหมายที่อยู่ในระหว่างเมืองต่อเมือง เพราะจะให้คนทั้งที่อาศรัยร่มธงไทย ได้พิจารณาดูด้วย “ได้ยินข่าวว่าคนทั้งหลายเป็นชาวสยามเข้ารีตเป็นพวกบาดหลวงฝรั่งเศส เข้าใจว่าไม่ได้อยู่ในร่มธงสยามแล้ว เพราะบาดหลวงฝรั่งเศสได้รับไว้เป็นลูกศิษย์ ได้เข้าอยู่ในร่มธงฝรั่งเศสแล้ว คนพวกนั้นมักถือว่าตัวเป็นชาวฝรั่งเศส ไม่ควรที่จะต้องเสียภาษี เมื่อเจ้าภาษีจะเก็บภาษีแก่คนพวกนี้ ๆ ก็ขัดขวางเนือง ๆ ลางทีก็เอาธงฝรั่งเศสปักไว้ที่ท้ายเรือ ผู้ที่ประพฤติเช่นนี้  ถ้าตฤกตรองโดยปัญญาสักนิดหน่อยก็จะเห็นว่าทำเช่นนี้ไม่ดีทีเดียว  ดูเหมือนจะให้บ้านเมืองแยกย้ายเป็นหลายฝาย คือพวกที่ถือศาสนาฝรั่งเศส ก็จะถือตัวว่าเป็นฝรั่งเศส คนที่เข้ารีตเป็นโปรเตสแตนท์ ก็จะเข้าใจว่าเป็นอังกฤษบ้างเป็นอเมริกันบ้างตามครู”

นอกจากจะเขียนบทความเตือนคนไทยและพวกกงสุลฝรั่งทั้งปวงแล้ว หมอบรัดเลย์ยังกล่าวเป็นเชิงสัปยอกโอบาเรต์ด้วยว่า กงสุลฐานันดาศักดิ์ต่ำกว่าทูตนัก จงอย่าทำการเกินตัวเลย

สถานกงศุลฝรั่งเศสริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพจาก หนังสือพิมพ์ L’Illustration)

ดูหมิ่นขุนนางสยาม

ทางฝ่ายโอบาเรต์แทนที่จะกระดากอาย กลับทำการกำเริบเสิบสานต่อไปอีก คือแอบไปทำสัญญาซื้อขายส่วนตัว กับนายอากรสุราซึ่งเป็นคนจีน นับเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะเป็นการทำโดยพลการ ที่ถูกที่ควรนั้นควรทำกับรัฐบาลโดยตรง ถึงจะสั่งเข้ามาขายเองก็ต้องให้รัฐบาลรับรู้ โดยผ่านทางเจ้าภาษีใหญ่ แต่กงสุลกลับทำผิดธรรมเนียมเสียเองเที่ยวได้ทำสัญญาตามอำเภอใจ มิได้เคารพบ้านเมืองและกฎหมายไทยแม้แต่น้อย

ผู้ที่เดือดร้อนกว่าใครคือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งรับผิดชอบอยู่โดยตรง โอบาเรต์ก็มิได้เชื่อฟังถึงกับเป็นเรื่องทะเลาะกันข้างจะรุนแรง แหม่มแอนนาซึ่งเข้านอกออกในราชสำนักอยู่เป็นผู้หนึ่งที่รู้เรื่องนี้โดยละเอียด และได้นำเรื่องสัญญาเถื่อนนี้มาเล่าให้หมอบรัดเลย์ฟังอีกทีหนึ่ง [2] พอบรัดเลย์รู้ลึกขนาดนั้นก็เขียนเรื่องลงในหนังสือพิมพ์ให้สาธารณชนได้เห็นความทุจริตของกงสุลฝรั่งเศส ทำให้อื้ออึงขึ้นทั้งไทยและต่างประเทศ

โอบาเรต์มีความโกรธยิ่งนัก จัดแจงต่อว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พูดจาท้าทายโอหังตามสันดาน แต่ท่านเจ้าคุณก็มิได้มีความเกรงกลัว หมอบรัดเลย์แถลงข่าวเป็นเชิงวิเคราะห์ไปว่า “ท่านกงสุลฝรั่งเศสนั้นไม่ชอบใจ เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าได้หนังสือเรื่องความกงสุลกับหลวงบริบูรณสุรากร สัญญากันนั้นที่ใจความว่า จะให้กงสุลเป็นพนักงานในการขายเหล้าฝรั่งเศส… ถ้าแม้นสุราเมืองนอกเป็นของต้องห้ามแต่เดิม ครั้นมาภายหลังยอมให้ฝรั่งเศสเอามาขาย ก็จะต้องยอมเมืองอังกฤษแลเมืองอื่น ๆ ทั้งปวงที่เป็นไมตรีกันนั้นขายได้ด้วยมีผลมีประโยชน์เสมอกัน จะไม่ต้องทำสัญญากับหลวงบริบูรณสุรากรเลย  หนังสือสัญญานั้นดูผิดประลาศนัก ดูเหมือนการเด็ก ๆ ทำเล่น” [4]

ในเวลาไล่เลี่ยกันก็เกิดความเรื่องโอบาเรต์ ไม่พอใจข้าราชการไทยผู้หนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งให้ดูแลพวกบ้านญวน และต้องการให้ปลดออกไปเสีย “ฝ่ายกงสุลฝรั่งเศสมีความปรารถนาจะใคร่ให้ถอดพระยาวิเสศออกเสียจากที่ จะให้ตั้งมงเซียลามาซที่เป็นนายทหารหลวงให้ได้ที่พระยาวิเสศแทน จึงมีหนังสือฝากไปถวายเป็นใจความว่า ซึ่งพระยาวิเสศนั้นเป็นคนไม่ดี ได้เป็นเสี้ยนหนามในศาสนาบาดหลวงนัก หาควรจะให้คงอยู่ในที่พระยาวิเสศไม่ ถ้าได้โปรดตั้งมงเซียลามาซขึ้นแทนที่พระยาวิเสศแล้ว เอมปิรอร์เจ้าเมืองฝรั่งเศสก็จะดีพระทัยมาก ด้วยโอบาเร่ปรารถนาจะให้ตั้งเสียก่อนเมื่อจะทูลลาไปยังเมืองปารีส…

แต่ข้าพเจ้าได้ยินข่าวที่ควรจะเชื่อว่า ในหลวงพอพระทัยจะให้พวกญวนนั้น คัดเลือกเอาขุนนางคนหนึ่งในภาษาของเขาตามที่ชอบใจ แล้วจะได้ตั้งคนนั้นขึ้นเป็นพระยาวิเสศตามชอบใจเขา แต่ที่จะตั้งผู้ใด ๆ ที่มิใช่ชาวเมืองไทยขึ้นเป็นพระยาแทนไม่ได้เลย”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้กราบทูลขออภัยโทษให้กับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น

ความเรื่องพระยาวิเสศนี้เป็นเรื่องใหญ่ หลังจากนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ส่งหม่อมราโชทัยไปชี้แจงเรื่องนี้ คนในกรุงเทพฯ ตกตะลึงกับข่าวหม่อมราโชทัยถูกทำร้ายร่างกายที่สถานกงสุล ต้นข่าวมาจากบางกอกรีคอร์เดอร์เช่นเคย

“แลมีข่าวลือกันว่า ในหลวงประสงค์จะให้กงสุลฝรั่งเศสเข้าใจให้ถูกต้องในความนั้น จึงใช้หม่อมราโชทัยไปหากงสุลฝรั่งเศส เพื่อจะสำแดงความตามที่ท่านได้เห็นได้เข้าใจ ครั้นหม่อมราโชทัยไปถึงแล้ว  ก็สำแดงความได้หน่อยหนึ่ง กงสุลฟังก็ไม่ชอบ จึงลุกขึ้นจับเอาผมหม่อมราโชทัยได้แล้วลากตัวออกไปนอกเรือน แล้วก็ถีบเอาว่าไปเสียเถิด แล้วกงสุลหยิบเอาพานหมากทิ้งลงไปจากบันได” [5]

ดูหมิ่นต่อหน้าพระพักตร์

โอบาเรต์กลับเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรค์กล่าวโทษเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และขอให้ถอดท่านจากตำแหน่งเสีย เมื่อได้โอกาสจึงวกเข้ามากล่าวว่าท่านไม่สมควรอยู่เป็นประธานเรื่องเมืองเขมรอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่ากงสุลฝรั่งเศสใช้กิริยาก้าวร้าวสามหาว เลยไม่รับสั่งแต่ประการใดเสด็จขึ้นเสีย โอบาเรต์เลยเกิดบ้าพลุ่งพล่านอยู่คนเดียวด้วยไม่รู้จะทำประการใด

บรัดเลย์ได้ช่องเล่นงานโอบาเรต์อีก ยืนยันเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ของแกว่า “มงเซียออบาเร่ในวันที่เฝ้าน่าพระที่นั่งสุทัยสวรรยนั้น กงสุลหยิบหนังสือฉบับหนึ่งจากกะเป๋าเสื้อถวายในหลวง แล้วพูดหยาบคายว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ต่าง ๆ เป็นเนื้อความว่าเมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยังได้โปรดตั้งอยู่ที่ของท่าน เมืองฝรั่งเศสกับเมืองสยามจะอยู่เป็นศุขกันมิได้ ต้องบังคับให้ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถ่อมตัวลง ถ้าไม่ฉนั้นจะเกิดความน่ากลัวนัก มีคนบอกว่า มนเซียออบาเร่ององอาจว่า ถ้าในหลวงจะโปรดมงเซียออบาเร่ ๆ จะบอกชื่อคนที่สมควรจะยกขึ้นแทน” [6]

แต่เรื่องที่กระทบกระเทือนน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สุด คือการที่โอบาเรต์กล้าท้าทายพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน

โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางหลวง หรือบางกอกใหญ่

แอบซุกของขวัญ

เคาต์โบวัวและคณะเจ้าชายฝรั่งเศสถูกเชื้อเชิญให้ไปเยี่ยมที่สถานกงสุลฝรั่งเศสริมแม่น้ำเจ้าพระยา ท่านเคาต์เล่าว่า เป็นความคิดของโอบาเรต์เองที่จะยึดพระราชสาส์นและของขวัญจากนโปเลียนที่ 3  ไว้ก่อนเป็นประกันในระหว่างการต่อรองเรื่องเมืองเขมร [3] หมอบรัดเลย์แจ้งข่าวว่าพระราชสาส์น และของขวัญเป็นกระบี่ 2 องค์มาถึงกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปีขาล (พ.ศ. 2409) แต่ทรงมีพระราชดำรัสยืนยันว่า โอบาเรต์นำเข้ามาถวายจริงในปีเถาะ (พ.ศ. 2410) ซึ่งเป็นปีถัดมา “กงสุลโอบาเรตได้เอากระบี่มีดเหน็บบรรณาการกรุงฝรั่งเศสมามอบให้ข้าฯ แลลูกชายจุฬาลงกรณ์บุตรของข้าฯ แล้วแต่วันจันทร์เดือน 8 แรม 6 ค่ำ รวมเวลาที่กระบี่นโปเลียนถูกหน่วงเหนี่ยวยึดครองไว้ที่สถานกงสุลนานถึง 1 ปีเต็ม!” [2]

ความเรื่องถอดถอนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ทำให้ชนวนระเบิดถูกจุดขึ้น โอบาเรต์ยื่นเรื่องฟ้องบรัดเลย์ฐานหมิ่นประมาทและจะเรียกค่าเสียหายเป็นการใหญ่ เขายื่นคำฟ้องต่อมิสเตอร์ฮูดกงสุลอเมริกัน  ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2409 มีข้อกล่าวหาว่า บรัดเลย์ตีพิมพ์โฆษณาหมิ่นประมาทตนโดยกล่าวว่าตนขอให้รัฐบาลไทยเอาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ออกจากอัครมหาเสนาบดี ซึ่งความจริงตนมิได้ทำดังนั้นเลย บรัดเลย์บังอาจใส่ความให้ได้รับความอับอาย ต่อสาธารณชน ทำให้คนทั้งหลายเกลียดชังตน จึงขอค่าทำขวัญจากบรัดเลย์ 1,500 เหรียญ

หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley)

ตั้งแต่นั้นมา บรัดเลย์ก็บังเกิดความเศร้าหมองในใจ เพราะตามที่จริงแล้วเรื่องความที่กงสุลฟ้องร้องแกนี้ หากจะนำสืบพยานกันจริงจังโอบาเรต์ย่อมไม่มีช่องทางเอาชนะแกได้เลยเป็นอันขาด แต่ทีนี้มาจนใจอยู่ในข้อที่ว่า ไม่อาจอ้างพยานที่รู้เห็นเรื่องราวมาเบิกความได้ เพราะหากอ้างก็ต้องอ้างขึ้นไปถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และขุนนางผู้ใหญ่ที่เฝ้าอยู่ใกล้ชิดในวันที่โอบาเรต์อหังการ์วุ่นวายอยู่ในที่ชุมนุมนั้น จะทำให้เดือดร้อนถึงคณะรัฐบาลสยามทั้งชุด แล้วพวกฝรั่งเศสเองก็จ้องจับผิดราชสำนักสยามอยู่ทุกฝีก้าว ลงท้ายจะกลายเป็นว่าหมอบรัดเลย์เป็นผู้ทำลายเมืองไทยไปเสียคือเป็นตัวการใหญ่ชักศึกเข้าบ้าน [2]

แกจึงตัดสินใจยอมรับข้อกล่าวหาเสียเองทั้งหมด และไม่โยนความผิดให้ใครเลยแม้แต่น้อย ด้วยความรักเมืองไทย

ฟ้องหมอบรัดเลย์

นอกจากเหตุผลที่น่าเลื่อมใสข้างต้นแล้ว แกก็เห็นใจกงสุลอเมริกันอยู่ในฐานะลำบาก ไหนจะต้องเอาใจกงสุลฝรั่งเศส และประเทศฝรั่งเศส เพื่อรักษาน้ำใจไมตรีไว้

อีกประการหนึ่ง ตกมาระยะนี้หนังสือพิมพ์ของแกเริ่มได้รับความนิยมมาก เพราะเสนอข่าวที่ไม่มีเรื่องซ่อนเร้นปิดบัง แล้วยังมีข่าวสารจากเมืองนอกที่กล่าวถึงเมืองไทยมากมายจนเป็นดาบสองคม ทำให้มีทั้งผู้อ่านที่พอใจและตระหนกตกใจในการเสนอข่าวไปพร้อม ๆ กัน เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ที่ชอบพอกันกับแก จึงขอให้เพลามือลงเสียบ้างทั้ง ๆ ที่รู้ว่าหมอบรัดเลย์หวังดีต่อเมืองไทย แต่ในเวลานั้นความประสงค์ดีอยู่ข้างจะกลายเป็นยุแหย่ไป ฝ่ายตรงข้ามจะมองว่ารัฐบาลสยามให้ทุนรอนอุดหนุนแกอยู่ แล้วจะพาลหาเหตุอีกจนได้ แต่แกก็อดไม่ได้ที่จะป่าวประกาศว่ายังภูมิใจที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมือง เห็นอกเห็นใจอยู่บ้าง และไม่ได้ทอดทิ้งวีรกรรมของแกเสียเลยทีเดียว

“อนึ่งมีคนใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้ชื่อเสียงว่าเป็นคนดีเป็นขุนนางฝ่ายกรมท่า มาเยี่ยมข้าพเจ้าผู้เป็นเอดิเตอร์ ข้าพเจ้าถามว่าควรจะทำอย่างไร จึงจะให้จดหมายฝ่ายไทยมีประโยชน์มากขึ้นแก่บ้านเมืองเล่า ท่านก็ตอบโดยเร็วว่า อย่าเกรงใจผู้ใด แต่บันดาความร้ายที่ได้เห็นได้รู้ให้ออกปรากฎ อย่ากลัว และการดีทั้งปวงที่ควรจะสรรเสริญให้สรรเสริญตามความจริง” [7]

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แกมาคิดปลงตกเอาว่าไหน ๆ เรื่องคดีความนี้ก็ต้องแพ้กงสุลฝรั่งเศสอยู่วันยังค่ำ เพราะไม่อาจนำประจักษ์พยานมาสืบได้ นั้นเหตุผลหนึ่ง อีกเหตุผลหนึ่งตั้งแต่ออกหนังสือพิมพ์มา แกก็ขาดทุนอยู่เป็นนิจ มิใช่จะมีกำไรทำไปก็ด้วยใจรัก หมายจะวางรากฐานการหนังสือพิมพ์ให้มั่นคงในประเทศนี้ ครั้นขืนออกหนังสือพิมพ์ต่อไปก็ต้องลงทุนขอขมาลาโทษกงสุลฝรั่งเศสอีกเป็นแน่ ซึ่งแกทำไม่ได้ เพราะแกแพ้ความนั้นด้วยเหตุผลและอำนาจเบื้องบน ไม่ได้แพ้ที่เป็นคนผิด

17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2409 ศาลพิเศษ ณ กงสุลอเมริกัน อ่านคำพิพากษาให้หมอบรัดเลย์จำเลยเป็นผู้แพ้ความ ด้วยเหตุที่ว่าไม่มีพยานที่รู้เห็นจริง ๆ มานำสืบ และศาลยังตัดสินต่อไปว่า ค่าทำขวัญถึง 1,500 เหรียญนั้นมากเกินไปเพราะ…

“ปลัดเลทำไปโดยเชื่อว่าเป็นจริงหนึ่ง ปลัดเลเป็นคนชราแลยากจนหนึ่ง อีกประการหนึ่งปลัดเลเป็นผู้ที่ได้ทำคุณแก่บ้านเมืองนัก ขอตัดสินให้ปลัดเลทำขวัญกงสุลฝรั่งเศส แต่เพียง 100 เหรียญเท่านั้น” [2]

ในเดือนนั้นเอง บางกอกรีคอร์เดอร์ออกมาถึงฉบับที่ 24 ปีที่ 2 หมอบรัดเลย์ก็เลยเลิกทำหนังสือพิมพ์ประวัติศาสตร์นั้นตลอดไป [2]

บางกอกรีคอเดอ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย

ขับออกจากสยาม

เมษายน พ.ศ. 2410 คณะทูตไทยชุดพิเศษเดินทางถึงกรุงปารีส พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ได้เข้าเฝ้านโปเลียนที่ 3 ทันที พร้อมกับกราบบังคมทูลฎีกาให้ถอดถอนกงสุลโอบาเรต์ออกจากตำแหน่ง คำร้องขอทำให้องค์จักรพรรดิได้ทรงสดับด้วยพระองค์เองถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา ในขณะที่คณะทูตไทยเข้าเฝ้านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภว่า…

“การถวายสาส์นได้ดังนี้ ข้าพเจ้าก็เปนสบายใจอยู่แล้ว การจะได้ดังประสงค์ฤาไม่ได้ดังประสงค์ ก็สุดแต่ปัญญาเอมเปรอ ถ้าเอมเปรอจะว่าผิด ๆ ไปโกง ๆ ไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่าความอายไม่ตกอยู่แก่ข้าพเจ้า จะต้องเก้ออยู่แก่เอมเปรอเอง เพราะเมืองเราเปนเมืองน้อยจะรู้ที่ทำอย่างไร แต่การที่ทูตไปว่ากระไรก็เซงแซ่มีฉาวแล้ว ใคร ๆ เขาก็รู้ ดูที่ความคิดเดิมของมินิศเตอร์จะทำตามกงสุลโอบาเรต์ยุยงว่าอย่าให้รับทูตสยาม เพราะไปผิดธรรมเนียม ไม่ได้บอกล่วงหน้าไปขออย่าให้รับ ให้ทำเฉยเสีย ก็ความคิดนี้เป็นสู้โกง ๆ นอกเรื่องจะถูกนินทามากเข้าจึงกลับใจรับ

ฝ่ายท่านผู้ใหญ่ที่กรุงเทพฯ ท่านวิตกนัก ว่าถึงรับทูตแล้วความก็คงจะไม่จบ กรุงฝรั่งเศสจะให้ผู้รับสั่งเข้าเจรจาความ เมื่อนั้นกลัวกงสุลโอบาเรต์จะเข้าให้ท้ายถือหางทำวุ่นไป แต่ข่าวกัปตันดานีเยลวินเซอร์ บอกมาว่าได้ยินฝรั่งเศสพูดกันว่า คอเวอนแมนฝรั่งเศสจะมาเรียกตัวกงสุลโอบาเรต์ให้กลับไปก่อนสิ้นเดือนออคัสต์ เพราะเขารู้ว่ากงสุลโอบาเรต์มาทำการเกินเขาสั่งมา” [1]

เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 แหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนหนังสือประจำราชสำนักออกจากกรุงเทพเดินทางกลับสู่อังกฤษ วันที่ 29 เดือนเดียวกัน  ม.โอบาเรต์ กงสุลฝรั่งเศสถูกเรียกตัวกลับไปฝรั่งเศส พอไปถึงปารีสได้ไม่นานก็เลยเป็นบ้า และเสียชีวิตในโรงพยาบาลบ้านั่นเอง [1]

วันที่ 31 กรกฎาคม หม่อมราโชทัย คนชอบพอกับหมอบรัดเลย์ถึงแก่อนิจกรรมลงอย่างกะทันหัน ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีนั้น ไทยกับฝรั่งเศสได้ทำสัญญาเรื่องสุรา จึงได้ยุติข้อพิพาทอันเป็นเหตุที่ทุ่มเถียงกันมานาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

[1] มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระราชหัตถเลขาในพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงเทพฯ 2520

[2] นายหนหวย, หมอบรัดเล กับ กรุงสยาม รัชดารมภ์การพิมพ์  พระนคร 2508

[3] LE COMTE DE BEAUVOIR, VOYAGE AUTOUR DU MONDE PARIS 1868

[4] BANGKOK RECORDER ฉบับพิมพ์ 15 MAY 1866

[5] BANGKOK RECORDER ฉบับพิมพ์ 15 SEPT 1866

[6] BANGKOK RECORDER ฉบับพิมพ์ 20 JAN 1867

[7] BANGKOK RECORDER ฉบับพิมพ์ 27 JUNE 1867


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “‘คดีแพะรับบาป’ ในรัชกาลที่ 4 เหตุทูตฝรั่งอุบาทว์สบประมาทไทย” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน 2562