ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1929 ทำให้การเมืองใน เยอรมนี ขาดเสถียรภาพ โฆษณาชวนเชื่อโจมตีรัฐบาลที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหา รวมถึงการต่อต้านชาวยิวสร้างคะแนนนิยมอย่างมากให้กับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี
การเลือกตั้งในปี 1930 พรรคนาซีได้คะแนนเสียงเพิ่มจากเพียง 2.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 1928 เป็นกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ และในปี 1932 เขาได้ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีแข่งกับพอล วอน ฮินเดนเบิร์ก (Paul von Hindenberg) แม้เขาจะพ่ายแพ้ไปด้วยคะแนนเสียง 36.8 ต่อ 53.0 เปอร์เซนต์ แต่ก็ทำให้เขามีสถานะทางการเมืองที่มั่นคง
การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 1932 พรรคนาซีได้คะแนนเสียงลดลง (เหลือราว 33 เปอร์เซ็นต์ จาก 37 เปอร์เซ็นต์ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน) แต่ฮิตเลอร์ยืนยันว่า มีเพียงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่เหมาะสมกับเขา ในวันที่ 30 มกราคม 1933 ประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์กจึงเสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับเขา พร้อมกับให้สมาชิกนาซีอีกไม่กี่คนเข้ามานั่งในคณะรัฐมนตรี
การที่พรรคนาซีไม่ได้เสียงข้างมากในรัฐสภาทำให้ฮิตเลอร์ผลักดันให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรีให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที 5 มีนาคม 1933 แต่ก่อนหน้าการเลือกตั้งเพียง 6 วัน ได้เกิดเพลิงไหม้อาคารรัฐสภาขึ้นซึ่งหลายฝ่ายเชื่อกันว่า
น่าจะเป็นฝีมือของพวกนาซีเองเพื่อสร้างสถานการณ์เล่นงานคู่แข่ง ผู้ต้องสงสัยชาวดัตช์ที่ถูกจับตัวได้นั้น มีผู้กล่าวอ้างว่าเป็นบุคคลที่พรรคนาซีจับมาปล่อยในที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นเหตุโจมตีฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีผู้คัดค้านมองว่าข้ออ้างดังกล่าวขาดหลักฐาน และนาซีอาจเพียงฉวยโอกาสจากเหตุที่อุบัติขึ้นโดยมิได้วางแผนล่วงหน้า
วันถัดมา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ฉวยโอกาสที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะโกลาหลอ้างความมั่นคงออกกฎหมายระงับสิทธิของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญหลายประการ โดยมิได้ยกเลิกการเลือกตั้งแต่ในวันที่ 5 มีนาคมแต่อย่างใด ถึงกระนั้นพรรคนาซีก็มิได้รับเสียงข้างมากอยู่ดี
แต่ในวันที่ 23 มีนาคม 1933 เขาก็สามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากสภาให้ผ่านกฎหมายพิเศษที่มอบอำนาจนิติบัญญัติให้กับเขาและรัฐบาล รวมถึงให้อำนาจในการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภาและประธานาธิบดี ปูทางสู่การเป็นเผด็จการสูงสุดโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ
อ่านเพิ่มเติม :
- “ฮิตเลอร์” ผู้นำ เยอรมนี ประกาศไม่ขอรับ “เงินเดือน” แล้วมีรายได้จากไหนอีก?
- “ฮิตเลอร์” เสียภาษีเท่าไหร่? เผยเอกสารการเงินยุคขายหนังสือ เขม่นฝ่ายเก็บภาษี ถึงเป็นนายกฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2560