ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
22 สิงหาคม 2485 กองทัพไทยประกาศหา “สาวโสด” มาเป็น “นักเรียนนายร้อยหญิง”
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2485 กรมยุทธศึกษาทหารบก (ร.ร.จปร.) ได้ประกาศรับสมัครนักเรียนนายร้อยหญิง โดยประกาศด้วยใบปลิว ทางหนังสือพิมพ์ และทางวิทยุกระจายเสียง และได้เริ่มเปิดรับสมัคร ณ ที่ว่าการกรมยุทธศึกษาทหารบก ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2485 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2485
สำหรับคุณสมบัติสำคัญของผู้สมัครมีดังนี้
1. สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า
2. มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ถึง 24 ปีบริบูรณ์ การนับอายุถือตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร
3. มีนามตัว นามสกุล และสัญชาติเป็นไทย ทั้งบิดามารดาต้องเป็นคนไทยโดยกำเนิด
4. มีอัธยาศัยและความประพฤติเรียบร้อย
5. ไม่ถูกปลดจากยุวนารี
6. มีอวัยวะสมบูรณ์ปราศจากโรค รูปร่างท่าทางและขนาดร่างกายเหมาะเป็นทหาร
7. มีเสียงดังแจ่มใส
8. เป็นหญิงโสด
9. บิดามารดาผู้ให้กำเนิดต้องเป็นผู้มีหลักฐานหรืออาชีพอันชอบธรรม
10. ต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
นายร้อยหญิงทหารบก เมื่อเรียนจบหลักสูตรและสอบได้แล้ว จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ประจำกรมกองทหารหญิง ในตำแหน่งนายทหารชั้นสัญญาบัตร ได้เงินเดือนชั้น 26 (เดือนละ 80 บาท) แต่เมื่อสมรสแล้ว ต้องออกจากประจำการ
การรับนักเรียนนายร้อยหญิง ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะสงคราม ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เมื่อเข้าถึงช่วงท้ายของสงคราม จอมพล ป. ประสบกับความเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง เมื่อรัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และไม่อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล ทำให้จอมพล ป. ต้องลาออกจากตำแหน่งตามมารยาท
การลาออกของจอมพล ป. ส่งผลให้นโยบายทางการทหารของไทยเปลี่ยนแปลงไป กองทัพบกได้ออกคำสั่งพิเศษ ให้เปลี่ยนสถานะของนายร้อยหญิงและนายสิบหญิง มาเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนประเภทสามัญทั้งหมด ผู้ที่จะลาออกเพราะไม่สมัครใจจะรับราชการต่อก็ให้ออกไปได้โดยไม่มีบำเหน็จบำนาญ กิจการทหารหญิงยุคแรกของไทยจึงยุติลงด้วยประการนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- รัฐบาลจอมพล ป. จัดเก็บ “พาสีชายโสด” หวังเพิ่มประชากร
- “พิบูลย์เวศม์” หมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกของไทย ที่ตั้งตามชื่อ “จอมพล ป.”
-
“ครับ-ค่ะ” เริ่มใช้เมื่อใด ส่องการปรับ “ภาสาไทย” ฉบับจอมพล ป. เพื่อความเป็น “ไทย”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) รวบรวมโดย ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2559